xs
xsm
sm
md
lg

คณะผู้แทนพม่าเยี่ยมค่ายโรฮิงญาในบังกลาเทศ เตรียมพร้อมโครงการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะผู้แทนของรัฐบาลพม่าได้เดินทางไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนนำร่องส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ

ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ติดอยู่ในค่ายพักพิงในบังกลาเทศนับตั้งแต่หลบหนีการปราบปรามของทหารพม่าในปี 2560 ที่เวลานี้อยู่ภายใต้การสอบสวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติ

ความพยายามในการส่งกลับผู้ลี้ภัยหลายครั้งก่อนหน้านี้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่บังกลาเทศและพม่ากำลังพยายามที่จะส่งผู้ลี้ภัยประมาณ 1,000 คน กลับไปรัฐยะไข่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ชาวโรฮิงญา 20 คน เดินทางไปเยี่ยมชมค่ายตั้งถิ่นฐาน 2 แห่งในเดือนนี้ในรัฐยะไข่ ที่รัฐบาลทหารพม่าวางแผนให้เป็นที่อยู่ของพวกเขาในสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นที่ดินที่เป็นของชาวโรฮิงญามาหลายชั่วอายุคนก่อนที่จะถูกยึด

คณะเจ้าหน้าที่พม่า 14 คน ในชุดพลเรือน เดินทางมาถึงเมืองเทคนาฟ ชายแดนบังกลาเทศทางเรือ และเดินทางต่อไปยังค่ายพัก และพูดคุยกับผู้คนราว 200 คน

แต่โมฮัมหมัด เซลิม หนึ่งในชาวโรฮิงญาที่ได้พบกับคณะผู้แทนพม่า กล่าวกับเอเอฟพีทางโทรศัพท์ว่า ความต้องการของพวกเขาถูกเพิกเฉย

“เราบอกว่าเราต้องการกลับไปที่บ้านของบรรพบุรุษของเราเอง เราบอกพวกเขาว่าพวกเขาควรให้สัญชาติกับเรา แต่พวกเขากล่าวว่าพวกเขาจะให้บัตรพิสูจน์สัญชาติ (NVC) ซึ่งไม่ใช่สัญชาติ” เซลิม กล่าว

“พวกเขาพูดอย่างนั้นซ้ำๆ ไม่มีทางที่เราจะไว้ใจพวกเขาได้” เซลิม กล่าวเสริม

“เราไม่มีตัวแทนถาวรในกระบวนการการส่งกลับนี้” ขิ่น หม่อง ผู้นำโรฮิงญา กล่าวกับเอเอฟพีก่อนการพูดคุย

“กระบวนการส่งกลับเป็นแค่เรื่องไร้สาระ ถ้าพวกเขาไม่รับรองศักดิ์ศรีของพวกเรา ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะกลับไปเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ” ขิ่น หม่อง กล่าว

ชาวโรฮิงญารายหนึ่งที่ถูกกำหนดให้ถูกส่งตัวกลับในโครงการนำร่องกล่าวกับเอเอฟพีว่าพวกเขาไม่ต้องการกลับไปและอาศัยอยู่ในพม่า ในฐานะผู้ไม่มีสัญชาติและอาศัยในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ

“ที่ของเราควรคืนให้กับเรา สิทธิของเราที่จะใช้ชีวิตเหมือนกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ควรได้รับการรับรองตามกฎหมาย มิฉะนั้นเราคงไม่สามารถเชื่อฆาตกรหมู่พวกนี้ได้” โรฮิงญากล่าว

ไมนูล กาบีร์ หัวหน้ากลุ่มโรฮิงญาในกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศกล่าวกับนักข่าวว่าการส่งกลับเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาโรฮิงญา

เขากล่าวว่าคณะผู้แทนพม่ามั่นใจว่าความสับสนที่กำลังก่อตัวขึ้นนั้นจะค่อยๆ ได้รับการแก้ไข

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์วิพากษ์วิจารณ์แผนการส่งกลับว่าเป็นความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อชาวโรฮิงญา

“บังกลาเทศคับข้องใจกับภาระหน้าที่ของตนในฐานะผู้ให้ที่อยู่อาศัย แต่การส่งผู้ลี้ภัยกลับไปสู่การควบคุมของรัฐบาลทหารที่โหดเหี้ยมจะเป็นเพียงแค่ขั้นตอนที่จะนำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่ครั้งต่อไป” ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุในคำแถลง.




กำลังโหลดความคิดเห็น