xs
xsm
sm
md
lg

โรฮิงญาลั่นไม่เห็นด้วยกับแผนส่งกลับผู้ลี้ภัย หลังเดินทางไปดูค่ายพักในพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คณะผู้แทนชาวโรฮิงญา (ซ้าย) เดินทางกลับมายังท่าเรือเทคนาฟในบังกลาเทศ หลังเดินทางไปเยี่ยมชมค่ายพักในเมืองหม่องดอ ของพม่า ที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะฟื้นแผนส่งผู้ลี้ภัยกลับบ้านเกิด. -- AFP.
เอเอฟพี - ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่เดินทางเยือนพม่าในวันศุกร์ (5) ได้เปิดเผยกับเอเอฟพีว่าพวกเขาจะไม่ยินยอมด้วยความสมัครใจที่จะกลับไปที่นั่น หลังจากเดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่ที่เตรียมไว้เป็นที่พักเพื่อรองรับการส่งกลับชนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติไปยังบ้านเกิด

บังกลาเทศเป็นที่อยู่ของชาวโรฮิงญาประมาณ 1 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่หลบหนีการปราบปรามของทหารในพม่าเมื่อปี 2560 ที่เวลานี้อยู่ภายใต้การสอบสวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติ

ทั้งสองประเทศได้ลงนามในข้อตกลงการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศในปลายปีนั้น แต่หลังจากนั้นมีความคืบหน้าเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย และสหประชาชาติได้เตือนอยู่หลายหนว่าเงื่อนไขยังไม่เหมาะสมกับการส่งกลับ

เจ้าหน้าที่บังกลาเทศหลายคนเดินทางไปพร้อมกับผู้ลี้ภัยโรฮิงญา 20 คน ในการเดินทางเยือนค่ายตั้งถิ่นฐานที่เป็นหมู่บ้านตัวอย่าง 2 แห่ง ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับโครงการนำร่องส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ในวันศุกร์ (5)

“เราได้เห็นค่ายแล้ว แต่พวกเขาไม่ยอมรับข้อเรียกร้องเรื่องสัญชาติของเรา” โมฮัมหมัด ซาลิม สมาชิกของคณะผู้แทนโรฮิงญา กล่าวกับเอเอฟพี

“เราจะไม่ไปที่ค่ายพักนั่น เราต้องกลับไปที่ที่ดินของเรา เราไม่ชอบที่นั่น เราจะไม่ไป เราจะกลับไปก็ต่อเมื่อการส่งกลับมีความปลอดภัยและข้อเรียกร้องของเราได้รับการยอมรับ” โมฮัมหมัด ซาลิม กล่าว

หญิงโรฮิงญาที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะผู้แทนกล่าวว่า เธอรู้สึกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเธอในสถานที่ที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งรวมถึงตลาด โรงพยาบาล และศูนย์ต้อนรับสำหรับผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับ

“ไม่มีอะไรปลอดภัยสำหรับพวกเราที่นั่น พวกเขาสามารถข่มเหงและทรมานเราได้อีก” หญิงโรฮิงญากล่าวกับเอเอฟพี

มิซานูร์ ราห์มาน กรรมาธิการฝ่ายผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศ ที่เดินทางไปกับคณะ กล่าวว่าประเทศของเขาต้องการให้โครงการส่งกลับผู้ลี้ภัยเดินหน้าต่อ

“เราเดินทางไปพม่าวันนี้ มีชาวโรฮิงญาจำนวนมากอยู่อย่างอิสระและทำธุรกิจที่นั่น การส่งกลับต้องเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ผู้แทนของพม่าจะเดินทางมาที่บังกลาเทศ และจะต้องมีการหารือ เราจะตัดสินใจเรื่องขั้นตอนต่อไป” มิซานูร์ ราห์มาน กล่าว

เจ้าหน้าที่กล่าวกับเอเอฟพีว่า พวกเขาคาดว่าการส่งกลับประเทศจะเริ่มขึ้นในปลายเดือนนี้ ก่อนฤดูมรสุมประจำปี

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่ใช้ชีวิตเกือบ 6 ปี ในค่ายแออัดและทรุดโทรมในบังกลาเทศ ต่างกังขาถึงโครงการนี้มาโดยตลอดนับตั้งแต่โครงการเป็นที่ทราบโดยทั่วกันในเดือน มี.ค.

พวกเขากล่าวว่าไม่มีการตอบคำถามใดๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือการรับรองสิทธิของพวกเขาในการเป็นพลเมืองในพม่า

โรฮิงญาถูกมองอย่างกว้างขวางในพม่าว่าเป็นผู้บุกรุกจากบังกลาเทศ แม้ว่าจะมีรากเหง้าในประเทศมายาวนานหลายศตวรรษก็ตาม

หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติกล่าวว่าพวกเขาทราบถึงการเดินทางเยือนดังกล่าวที่เกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงทวิภาคีระหว่างบังกลาเทศและพม่า

“UNHCR ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดเตรียมการเยือนครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เราขอย้ำว่าผู้ลี้ภัยทุกคนมีสิทธิที่ไม่สามารถพรากไปได้ในการเดินทางกลับประเทศของตน ผู้ลี้ภัยจะต้องเดินทางกลับด้วยความสมัครใจ อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี ไม่มีผู้ลี้ภัยคนใดควรถูกบังคับ” โฆษกของหน่วยงานผู้ลี้ภัย กล่าว

แผนการส่งกลับประเทศที่ตกลงกันในปี 2560 ล้มเหลวที่จะสร้างความคืบหน้าใดๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากความวิตกกังวลว่าชาวโรฮิงญาจะไม่ปลอดภัยหากพวกเขาเดินทางกลับ.






กำลังโหลดความคิดเห็น