เอเอฟพี - สหประชาชาติได้เรียกร้องขอเงินทุน จำนวน 333 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้เป็นทุนฉุกเฉินสำหรับผู้คน 1.6 ล้านคน ที่สหประชาชาติระบุว่าได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนโมคาที่พัดถล่มพม่า
ไซโคลนโมคานำฝน และลมแรง 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมายังพม่าและบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ทำให้สิ่งปลูกสร้างพังถล่มและเปลี่ยนถนนเป็นแม่น้ำ
รัฐบาลทหารของพม่าระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 148 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาที่ถูกข่มเหงในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ
สำนักงานกิจการด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ กล่าวว่า สำนักงานกำลังแสวงหาเงินทุน 333 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือจัดหาที่พักพิง สิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ อาหาร และน้ำสะอาดก่อนเข้าฤดูฝน
“ตอนนี้เรากำลังแข่งกับเวลาเพื่อจัดหาที่พักพิงที่ปลอดภัยให้ประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด และป้องกันการแพร่กระจายของโรคที่มากับน้ำ” ผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรม ระบุในคำแถลง
คำแถลงระบุว่า เงินทุนมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์จะมาจากแผนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยรวมสำหรับพม่าปีนี้ ส่วนเงินทุนอีก 122 ล้านดอลลาร์จะใช้สนับสนุนความพยายามในการบรรเทาทุกข์ใหม่ๆ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไซโคลน
ผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมกล่าวกับนักข่าวในเวลาต่อมาว่า สหประชาชาติหวังว่าจะได้รับการอนุมัติในเร็วๆ นี้ เพื่อแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์แก่ชุมชนในรัฐยะไข่
รัฐยะไข่เป็นที่อยู่ของชาวโรฮิงญาหลายแสนคน หลายคนอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นหลังเกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติมานานหลายทศวรรษ
การปราบปรามของทหารในพม่าในปี 2560 ทำให้ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนต้องหลบหนีไปบังกลาเทศ พร้อมกับเรื่องราวที่น่าสะเทือนใจทั้งการฆาตกรรม การข่มขืน และการวางเพลิง
โฆษกของรัฐบาลทหารไม่ได้ตอบคำถามของเอเอฟพีว่าหน่วยงานของสหประชาชาติจะได้รับอนุญาตให้เข้าถึงค่ายผู้พลัดถิ่นในรัฐยะไข่ที่เป็นที่อยู่ของชาวโรฮิงญาหรือไม่
ในบังกลาเทศ เจ้าหน้าที่กล่าวกับเอเอฟพีว่าไม่มีใครเสียชีวิตจากไซโคลนที่พัดผ่านใกล้กับค่ายผู้ลี้ภัยที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวโรฮิงญาเกือบล้านคน
การเรียกร้องขอเงินทุนดังกล่าวมีขึ้นหลังจากหน่วยงานด้านอาหารของสหประชาชาติระบุว่าขาดแคลนเงินทุนทำให้ต้องตัดความช่วยเหลือด้านอาหารสำหรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญาราว 1 ล้านคนที่อาศัยในค่ายพักพิงในบังกลาเทศเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน.