เอเอฟพี - ไซโคลนโมคาขึ้นฝั่งซัดถล่มเมืองชายฝั่งของพม่า และพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศวันนี้ (14) ทำต้นไม้โค่นถอนราก บ้านพักในค่ายผู้พลัดถิ่นโรฮิงญาพังเสียหาย และยังเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งเข้าไปในพื้นที่ลุ่มต่ำ
ด้วยกระแสลมแรงถึง 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุโมคาพัดถล่มพื้นที่ระหว่างเมืองค็อกซ์บาซาร์ ที่เป็นที่อยู่ของผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเกือบ 1 ล้านคนในบังกลาเทศ และเมืองสิตตะเวของพม่า ตามการระบุของหน่วยงานด้านสภาพอากาศของบังกลาเทศ
ถนนหนทางต่างๆ ในเมืองสิตตะเวกลายเป็นแม่น้ำ เนื่องจากพายุลูกใหญ่ที่สุดจากอ่าวเบงกอลในรอบกว่าทศวรรษกำลังพัดผ่านเมืองชายทะเลแห่งนี้
“ระดับน้ำกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ ระดับน้ำขึ้นมาถึงท่อระบายน้ำหน้าโรงเรียนแล้ว อีกไม่นานเราต้องย้ายของสำคัญขึ้นชั้นบน” วาย ฮุน อ่อง นักสังคมสงเคราะห์กล่าวกับเอเอฟพีจากเมืองสิตตะเว
กระแสลมแรงพัดบ้านที่ทำขึ้นด้วยผ้าใบกันน้ำและไม้ไผ่แยกหลุดออกจากกันในค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ที่เมืองจอก์พยู รัฐยะไข่ของพม่า
ผู้อยู่อาศัยในเมืองจอก์พยูต่างเฝ้าดูระดับน้ำอย่างใจจดใจจ่อ หัวหน้าค่ายผู้ลี้ภัย ขิ่น ฉ่วย กล่าว
“ตอนนี้เรากำลังดูว่าน้ำทะเลเพิ่มสูงจนถึงสถานที่ของเราหรือไม่ ถ้าน้ำทะเลสูงขึ้น ค่ายของเราอาจถูกน้ำท่วม” ขิ่น ฉ่วย กล่าว
ในเมืองเทคนาฟ ของบังกลาเทศ ลมแรงพัดกระหน่ำจนทำให้ต้นไม้โค่นถอนรากถอนโคน การจรจาจรหยุดชะงัก และทำให้ประชาชนต้องวิ่งหนีหาที่กำบัง นักข่าวของเอเอฟพีระบุ
“บ้านในค่ายของเราทำขึ้นจากไม้ไผ่และผ้าใบกันน้ำ แค่ลมเบาๆ ก็ทำให้ปลิวหายไปได้” โมฮัมหมัด ซาเยด อายุ 28 ปี กล่าวกับเอเอฟพีจากค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองค็อกซ์บาซาร์
“โรงเรียนที่จัดเตรียมให้เป็นที่หลบพายุไซโคลน ไม่ใช่ที่กำบังที่แข็งแรงพอจะสามารถต้านทานกระแสลมของไซโคลนได้” ซาเยด กล่าว
ประชาชนหลายพันชีวิตเร่งอพยพออกจากเมืองสิตตะเวตั้งแต่วันเสาร์ ขนข้าวของใส่รถบรรทุก รถยนต์ และรถสามล้อ มุ่งหน้าไปยังพื้นที่สูง หลังจากนักอุตุนิยมวิทยาเตือนว่าอาจมีคลื่นพายุซัดฝั่งสูงถึง 3.5 เมตร
“พวกเราไม่โอเคเพราะเราไม่ได้เอาอาหารหรือของที่ใช้ทำอาหารมาด้วย เราทำได้แค่รอรับอาหารที่คนมาบริจาค” หม่อง วิน วัย 57 ปี ที่พักค้างคืนอยู่ในที่หลบภัยในเมืองจ่อก์ตอ กล่าว.