xs
xsm
sm
md
lg

‘พม่า-บังกลาเทศ’ สั่งอพยพประชาชนพื้นที่เสี่ยง รับมือ ‘ไซโคลนโมคา’ ขึ้นฝั่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - พม่าและบังกลาเทศส่งอาสาสมัครหลายพันคนและสั่งอพยพคนออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำในวันพฤหัสฯ (11) เนื่องจากพายุไซโคลนลูกแรกของปีในอ่าวเบงกอลเคลื่อนใกล้เข้ามา

ไซโคลนโมคา (Mocha) ที่คาดกันว่าจะขึ้นฝั่งในวันอาทิตย์ (14) ตามแนวพรมแดนบังกลาเทศ-พม่า ตามการระบุของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย โดยมีความเร็วลมที่ 175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สำนักงานคาดการณ์ว่าคลื่นพายุจะสูงระหว่าง 2-2.5 เมตร สำหรับเขตพื้นที่ชายฝั่งลาดต่ำ ที่ในฝั่งของบังกลาเทศนั้นเป็นที่ตั้งค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลายแสนคน

ธา ติน หม่อง อายุ 60 ปี ถูกย้ายออกจากหมู่บ้านของเขาในรัฐยะไข่ของพม่าไปเมืองสิตตะเว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือพายุ

“เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำ หมู่บ้านของเราไม่สามารถต้านทานแม้แต่พายุลูกเล็กๆ ได้ ยังมีบางคนไม่สามารถย้ายออกจากหมู่บ้านได้ ผมเป็นห่วงพวกเขา” ธา ติน อ่อง กล่าว

ผู้อำนวยการโครงการเตรียมความพร้อมรับมือพายุไซโคลนของบังกลาเทศ กล่าวว่าพวกเขาได้ส่งอาสาสมัคร 8,600 คน ในเมืองค็อกซ์บาซาร์ และอาสาสมัครโรฮิงญาอีก 3,400 คน ในค่ายผู้ลี้ภัย

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรากำลังแจ้งเตือนคนที่อาศัยอยู่บนเนินเขาเนื่องจากไซโคลนจะทำให้เกิดฝนตกหนัก ที่อาจทำให้เกิดดินถล่มได้” ผู้อำนวยการโครงการกล่าวกับเอเอฟพี

บังกลาเทศยังห้ามไม่ให้เรือประมงออกไปในทะเลลึก

พายุไซโคลนที่มีกำลังเทียบเท่ากับพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ หรือพายุไต้ฝุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ มักเกิดขึ้นเป็นประจำและสร้างความเสียหายบนชายฝั่งทางตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดียที่มีผู้คนอาศัยอยู่หลายสิบล้านคน

บังกลาเทศถูกพายุขนาดใหญ่พัดถล่มครั้งล่าสุดในเดือน พ.ย.2550 ที่ไซโคลนซิดร์พัดถล่มพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,000 คน และสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

ในเดือน พ.ค.2551 ไซโคลนนาร์กิสทำให้มีผู้เสียชีวิต หรือสูญหายในพม่าอย่างน้อย 138,000 คน ที่นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น