xs
xsm
sm
md
lg

คณะตัวแทนโรฮิงญาในบังกลาเทศเตรียมเดินทางเข้าพม่าสำรวจค่ายพักก่อนเริ่มแผนส่งกลับผู้ลี้ภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - คณะผู้แทนชาวโรฮิงญาจะเดินทางเยือนพม่าในวันศุกร์ (5) ที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะฟื้นฟูแผนการที่หยุดชะงักมายาวนานในการนำชนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติกลับคืนสู่บ้านเกิดของพวกเขา ผู้ลี้ภัย และเจ้าหน้าที่บังกลาเทศระบุ

บังกลาเทศเป็นที่อยู่อาศัยของชาวโรฮิงญาราว 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่หลบหนีการปราบปรามของทหารในพม่าเมื่อปี 2560 ซึ่งขณะนี้อยู่ภายใต้การสอบสวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติ

ทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามข้อตกลงที่จะส่งพวกเขากลับประเทศในปลายปีนั้น แต่ความคืบหน้าเกิดขึ้นน้อยมาก และสหประชาชาติได้เตือนหลายหนว่าเงื่อนไขยังไม่เหมาะสมที่จะส่งโรฮิงญากลับประเทศ

คณะผู้แทนจะเดินทางไปยังสถานที่ที่อยู่ใกล้กับชายแดนบังกลาเทศ ที่รัฐบาลทหารพม่าวางแผนที่จะตั้งถิ่นฐานใหม่ให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 1,000 คน ในโครงการนำร่อง

“เราจะไปดูค่ายพักที่รัฐบาลทหารพม่าสร้างขึ้นสำหรับชาวโรฮิงญา เราจะดูสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่นั่น” ผู้นำชุมชนชาวโรฮิงญา และสมาชิกในคณะผู้แทนกล่าวกับเอเอฟพี

มิซานูร์ ราห์มาน กรรมาธิการฝ่ายผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศ จะเป็นผู้นำคณะผู้แทนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 20 คน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเปิดเผยกับเอเอฟพี โดยไม่เปิดเผยชื่อเนื่องจากความอ่อนไหวของประเด็นดังกล่าว

“พวกเขาจะไปที่นั่นในตอนเช้าและกลับมาในช่วงบ่าย” เจ้าหน้าที่กล่าว และเสริมว่าคณะจะไปเยี่ยมศูนย์ต้อนรับ ศูนย์ขนส่ง และค่ายตั้งถิ่นฐานใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของผู้ลี้ภัยที่เดินทางเข้ามา

ส่วนเจ้าหน้าที่บังกลาเทศอีกรายหนึ่งกล่าวกับเอเอฟพีว่า พวกเขาคาดว่าการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศจะเริ่มขึ้นในปลายเดือนนี้ ก่อนฤดูมรสุมประจำปีจะเริ่มขึ้น

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่ใช้ชีวิตเกือบ 6 ปีในค่ายบรรเทาทุกข์ที่แออัดและทรุดโทรมในบังกลาเทศ ต่างกังขาในโครงการนี้มาตลอดนับตั้งแต่เริ่มทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการในเดือน มี.ค. ซึ่งพวกเขากล่าวว่าไม่มีการตอบคำถามใดๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือการรับรองสิทธิในการเป็นพลเมืองของพม่า

“ทำไมเราถึงถูกส่งตัวไปพม่าโดยไม่มีสัญชาติ? ทำไมเราต้องไปพม่าเพื่อดูค่ายพัก? พม่าเป็นประเทศของเรา พวกเขาต้องให้เราได้เห็นหมู่บ้านของเรา ที่ดินของเรา” ผู้ลี้ภัยรายหนึ่งที่กล่าวว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้แทนที่จะเดินทางในวันศุกร์กล่าวกับเอเอฟพี โดยไม่ขอเปิดเผยชื่อ

โรฮิงญาถูกมองอย่างกว้างขวางในพม่าว่าเป็นผู้บุกรุกจากบังกลาเทศ แม้จะมีรากเหง้าในประเทศมานานหลายศตวรรษก็ตาม

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่มองว่าอัตลักษณ์โรฮิงญาเป็นเพียงจินตนาการ เป็นผู้นำของกองกำลังทหารในการปราบปรามปี 2560

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกำลังตรวจสอบข้อกล่าวหาเรื่องการข่มขืน สังหาร และวางเพลิงหมู่บ้านชาวโรฮิงญาโดยกองกำลังความมั่นคงของพม่าในช่วงที่เกิดความรุนแรงในปีนั้น

แผนการส่งกลับประเทศที่ตกลงกันในปี 2560 ล้มเหลวที่จะทำให้เกิดความคืบหน้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากความวิตกกังวลว่าชาวโรฮิงญาจะไม่ปลอดภัยหากเดินทางกลับไป และความคืบหน้าของแผนการก็หยุดชะงักลงอย่างสิ้นเชิงในช่วงการระบาดของโควิด-19 และหลังจากทหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนในปี 2564

หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติกล่าวในเดือน มี.ค.ว่า เงื่อนไขในพม่ายังคงไม่เหมาะสมสำหรับการกลับประเทศอย่างยั่งยืนของผู้ลี้ภัยโรฮิงญา แต่กลุ่มประชาสังคมวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานที่อำนวยความสะดวกในการเดินทางของเจ้าหน้าที่พม่าเข้าไปบังกลาเทศในเดือนนั้น ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งกลับ.


กำลังโหลดความคิดเห็น