เอพี - บังกลาเทศและพม่าเตรียมรับพายุไซโคลนรุนแรงวันนี้ (14) ขณะที่พายุเริ่มซัดถล่มพื้นที่ชายฝั่ง และทางการได้เรียกร้องให้ประชาชนหลายพันคนใน 2 ประเทศหาที่หลบภัย
วงรอบนอกสุดของพายุไซโคลนโมคา มาถึงชายฝั่งรัฐยะไข่ของพม่าแล้วในเช้าวันอาทิตย์ (14) และในช่วงบ่ายคาดว่าศูนย์กลางของพายุจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งใกล้กับเมืองสิตตะเว ตามการระบุของกรมอุตุนิยมวิทยาพม่า ที่แจ้งเตือนภัยสภาพอากาศสูงสุด
ไซโคลนโมคา ที่มีความเร็วลมสูงถึง 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาจทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่งสูงถึง 4 เมตร ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 2 ล้านคนในเส้นทางของพายุ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐยะไข่ และรัฐชินของพม่า
ชาวเมืองสิตตะเวกว่า 4,000 คน จากทั้งหมด 300,000 คน ถูกอพยพไปเมืองอื่นๆ ตั้งแต่วันศุกร์ (12) และอีกกว่า 20,000 คน หลบภัยอยู่ในอาคารที่แข็งแรงต่างๆ ของเมือง เช่น วัดและโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงของเมือง ติน นาย อู ที่ช่วยเหลือผู้คนหาที่พักพิงในเมืองสิตตะเว กล่าว
คนท้องถิ่นจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3 เมตร ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าคลื่นพายุซัดฝั่งเข้ามาไม่ถึง
ทิน นาย อู กล่าวในเช้าวันนี้ว่าในเมืองมีกระแสลมแรงราว 40-48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
“พายุยังมาไม่ถึงเลยยังไม่ลำบากมากนัก แต่มีคนอยู่ในศูนย์พักพิงมากเกินไปและมีห้องน้ำไม่เพียงพอ” ทิน นาย อู กล่าว
ลิน ลิน ประธานมูลนิธิการกุศลในพื้นที่กล่าวว่าก่อนหน้านี้มีอาหารไม่เพียงพอแจกจ่ายในศูนย์พักพิงเมืองสิตตะเว หลังจากมีคนเข้ามามากกว่าที่คาดไว้
ในบังกลาเทศ รายงานระบุว่า สภาพอากาศในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงมีแสงแดดในช่วงเช้า
หน่วยงานของสหประชาชาติและเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในบังกลาเทศได้จัดสรรอาหารแห้งจำนวนหลายตัน และรถพยาบาลหลายสิบคันพร้อมทีมแพทย์เคลื่อนที่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีชาวโรฮิงญากว่า 1 ล้านคน ที่หลบหนีการประหัตประหารในพม่า
บังกลาเทศออกประกาศเตือนภัยระดับสูงสุดสำหรับเมืองค็อกซ์บาซาร์ ที่ค่ายผู้ลี้ภัยตั้งอยู่ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาบังกลาเทศเตือนว่าไซโคลนอาจสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินใน 8 อำเภอชายฝั่งทะเล
บังกลาเทศ ที่มีประชากรมากกว่า 160 ล้านคน ได้จัดเตรียมที่พักหลบภัยมากกว่า 1,500 แห่ง กองทัพเรือระบุว่า ได้เตรียมพร้อมเรือ 21 ลำ เครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลและเฮลิคอปเตอร์สำหรับปฏิบัติการกู้ภัยและบรรเทาทุกข์
เจ้าหน้าที่ในบังกลาเทศกล่าวว่า ฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุไซโคลนอาจทำให้เกิดดินถล่มในเมืองจิตตะกอง ค็อกซ์บาซาร์ รังกามาติ บันดาร์บัน และคากราชารี
ในเดือน พ.ค.2551 พายุไซโคลนนาร์กิสพัดถล่มพม่าพร้อมคลื่นพายุซัดฝั่งที่ทำลายพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อาศัยในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 138,000 คน บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างหลายหมื่นหลังถูกน้ำพัดหายไป
นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากสถาบันอุตุนิยมวิทยาเขตร้อนอินเดียในเมืองปูเน่กล่าวว่า ไซโคลนในอ่าวเบงกอลมีความรุนแรงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศยังระบุว่า พายุไซโคลนสามารถกักเก็บพลังงานไว้ได้นานหลายวัน เช่น ไซโคลนอำพัน ในภาคตะวันออกของอินเดียในปี 2563 ที่ยังเคลื่อนตัวบนบกขณะที่ยังเป็นไซโคลนกำลังแรง ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง
ไซโคลนเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพายุเหล่านั้นกระทบพื้นที่ชายฝั่งที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นในเอเชียใต้.