xs
xsm
sm
md
lg

UN คาดมี 8 แสนคนในพม่าได้รับผลกระทบจากไซโคลนโมคา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - สหประชาชาติระบุว่ามีผู้คนอย่างน้อย 800,000 คน ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารฉุกเฉิน และความช่วยเหลืออื่นๆ หลังไซโคลนโมคาพัดถล่มประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไซโคลนโมคานำฝนและกระแสลมแรงถึง 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมายังพม่าและบังกลาเทศ โดยรัฐบาลทหารของพม่าระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 145 คนจากอิทธิพลของพายุ แต่รายงานของสื่อระบุว่าตัวเลขอาจสูงกว่านั้น

โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติได้อธิบายถึง ‘ร่องรอยแห่งการทำลายล้าง’ ทั่วรัฐยะไข่ของพม่า ภูมิภาคที่เป็นบ้านของผู้ลี้ภัยโรฮิงญาหลายแสนคนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นหลังเกิดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์หลายสิบปี

ไซโคลนทำให้บ้านเรือนพังราบ ถนนถูกตัดขาดจากต้นไม้ที่โค่นถอนรากถอนโคน โรงพยาบาลและโรงเรียนได้รับความเสียหาย การสื่อสารและสายไฟเสียหายหนัก แอนเทีย เว็บบ์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของโครงการอาหารโลก กล่าวกับนักข่าว

“มีประชาชนอย่างน้อย 800,000 คน ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน ต้องการอาหาร ที่พัก น้ำ การดูแลสุขภาพ และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะมาถึงเมื่อเราเข้าถึงพื้นที่ได้มากขึ้น” เว็บบ์ กล่าว และระบุเสริมว่า ในขณะที่บังกลาเทศรอดพ้นจากการโจมตีโดยตรง แต่มีชาวบังกลาเทศเกือบครึ่งล้านคนและผู้ลี้ภัยโรฮิงญาหลายพันคนต้องสูญเสียบ้านและทรัพย์สิน

เว็บบ์ กล่าวว่า โครงการอาหารโลกเริ่มดำเนินการตอบสนองไซโคลนโมคาก่อนที่พายุจะเข้าพัดถล่ม โดยเข้าถึงประชาชนในบังกลาเทศใกล้ชายแดนพม่า 28,000 คน โดยให้เงินช่วยเหลือล่วงหน้าเพื่อให้คนเหล่านั้นได้เตรียมพร้อม และเมื่อพายุเลวร้ายผ่านพ้นไป หน่วยงานได้เข้าถึงผู้ลี้ภัยหลายพันคนด้วยความช่วยเหลือด้านอาหารฉุกเฉิน และกำลังทำงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้กลับคืนสู่การสนับสนุนด้านอาหารตามปกติ

ในพม่า โครงการอาหารโลกเริ่มแจกจ่ายอาหารฉุกเฉินให้ครอบครัวต่างๆ ที่ศูนย์อพยพในรัฐยะไข่ และเขตมะเกว ที่อยู่ใกล้เคียง

หน่วยงานมีเป้าหมายที่จะเข้าถึงประชาชนอย่างน้อย 800,000 คน ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในรัฐยะไข่ มะเกว และชิน ซึ่งประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้พลัดถิ่นที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่แล้ว

เว็บบ์ชี้ว่าการขาดแคลนเงินทุนทำให้ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โครงการอาหารโลกต้องลดมูลค่าของบัตรกำนัลอาหารสำหรับผู้ลี้ภัยในค็อกซ์บาซาร์ ของบังกลาเทศ เหลือเพียง 10 เซ็นต์ต่อมื้อ

“และเราจะต้องปรับลดอีกครั้งในเดือน มิ.ย. เว้นแต่จะได้รับเงินทุนสนับสนุน” เว็บบ์ กล่าว และเสริมว่าโครงการอาหารโลกต้องการเงิน 56 ล้านดอลลาร์อย่างเร่งด่วนจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโรฮิงญา

ในขณะเดียวกัน ที่พม่าหน่วยงานสหประชาชาติต้องการเงินทุน 60 ล้านดอลลาร์เพื่อให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและผู้เปราะบางราว 2.1 ล้านคน ซึ่งรวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไซโคลนโมคา 800,000 คน เว็บบ์กล่าว

“ไซโคลนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงมากสำหรับผู้คนนับล้านที่ต้องดิ้นรนเพื่อรับมือกับสภาวะที่ล่อแหลมอย่างยิ่ง” เว็บบ์ ระบุ.












กำลังโหลดความคิดเห็น