xs
xsm
sm
md
lg

พรรคเป็นธรรม เชื่อ 1 เสียงที่ได้ไม่ใช่กาผิด มีนโยบายชัดพร้อมจับมือก้าวไกลเป็นรบ.ประชาธิปไตย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"กัณวีร์" พรรคเป็นธรรม เชื่อ 1 เสียงได้มาไม่ใช่กาผิด มั่นใจมีนโยบายชัด ชูมนุษยธรรมนำการเมือง สันติภาพกินได้ จังหวัดจัดการตนเอง และพาทหารกลับบ้าน พร้อมจับมือ 'ก้าวไกล' เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย

วันนี้ (16พ.ค.) นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ให้สัมภาษณ์ The Reporters โดยเปิดเผยว่าได้รับการติดต่อจากพรรคก้าวไกล ให้เข้าร่วมรัฐบาลแล้ว แต่ต้องให้พรรคก้าวไกล ได้คุยกับพรรคใหญ่ เช่น พรรคเพื่อไทย ให้เรียบร้อยก่อน พรรคเป็นธรรม เป็นพรรคเล็ก พร้อมและยินดีที่จะเข้าร่วมรัฐบาลประชาธิปไตย

"ขอขอบคุณพี่น้องประชาชน ที่ให้ความเชื่อถือ มอบอำนาจของประชาชน เลือกพรรคเป็นธรรม ทำให้มีว่าที่ ส.ส. 1 คน ผมยืนยันว่าทุกคะแนนที่มอบให้จะไม่สูญเปล่า พรรคเป็นธรรม จะทำจริงๆ ตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย และขอบคุณพรรคก้าวไกล ที่ให้เกียรติเชิญพรรคเป็นธรรมเข้าร่วมรัฐบาลด้วยครับ"

นายกัณวีร์ กล่าวว่าแม้เป็นพรรคที่มี 1 เสียง แต่เชื่อมั่นว่าเสียงของประชาชน เป็นเสียงศักดิ์สิทธิ์ เมื่อรวมกัน 500 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ต้องทำให้เสียงดังว่า ประชาชนต้องการอะไร ผลประโยชน์ของชาติต้องมาเป็นที่หนึ่ง ดังนั้นเสียงที่กำลังจะมี 1 เสียง ของพรรคเป็นธรรม จะเป็นเสียงที่จะต่อสู้ต่อไป เป็นเสียงของนักสู้คนหนึ่ง ต่อสู้เพื่อความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และการแสดงออกของประชาชน เป็นกระบอกเสียง และเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

นายกัณวีร์ ยอมรับว่าพรรคเป็นธรรม เป็นพรรคใหม่ แต่อยากทำให้ทุกท่านเห็นว่าการเมืองเป็นของประชาชน เป็นของทุกคน ไม่ว่าจะมีภูมิหลังอย่างไร สิ่งต่างๆ เป็นบทพิสูจน์ อย่างตนเองไม่มีภูมิหลังทางการเมืองเลย รวมถึงน้องๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ก็ได้รับการตอบรับ เป็นความหวังของการเมืองในอนาคต หากทำงานจริงจัง ทุ่มเทให้การทำงานการเมืองภาคประชาชน จะสะท้อนว่าอำนาจประชาชนอยู่ที่ไหน

ส่วนคำถามว่า ทำไมนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จึงพูดถึงพรรคเป็นธรรม ที่จะเชิญร่วมรัฐบาล แม้มีเพียง 1 เสียง นายกัณวีร์ เห็นว่า อาจเป็นเพราะแนวคิดและอุดมการณ์ตรงกัน ซึ่งพรรคเป็นธรรม ส่วนตัวเห็นว่า การเมืองไทย ต้องการหลักสิทธิมนุษยชน เพราะกว่า 90 ปีที่ผ่านมาไม่พูดถึงเรื่องนี้ แม้ปากท้องสำคัญ แต่หลักการสิทธิมนุษยชนก็สำคัญ เพราะเป็นเรื่องของประชาชน เราจำเป็นต้องสร้างประชาธิปไตย ให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง พรรคเป็นธรรมมีอุดมการณ์ที่ตรงกัน เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับ พรรคก้าวไกล จึงเป็นเรื่องที่ดีที่พรรคที่มีอุดมการณ์ สิทธิมนุษยชน ได้สร้างประเทศไทยไปด้วยกัน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนี้

นายกัณวีร์ เชื่อว่าพรรคเป็นธรรมไม่ได้ ส.ส.เพราะฟลุ๊ค หรือ กาเบอร์ผิด เพราะแม้ระบบบัตรเลือกตั้งจะอาจทำให้เกิดการกาผิดกาถูกบ้าง แต่ก็น่าจะเป็นปัญหากับทุกพรรค และคงไม่ถึงกับกาผิดเป็นแสนคะแนน ส่วนตัวเชื่อว่า อาจเป็นเพราะ เบอร์ 3 ที่จำง่ายและนโยบายของพรรคที่ชัดเจนและแตกต่างจากพรรคอื่น ก็น่าจะตรงใจประชาชน จึงขอเคารพเสียงของประชาชน

นายกัณวีร์ หวังว่าหากได้เข้าร่วมรัฐบาลจะสามารถผลักดันนโยบายของพรรคเป็นธรรมที่ได้ประกาศไว้ แม้มีเพียง 1 เสียง แต่ตั้งใจจะ ผลักดันสันติภาพปาตานี ยกระดับกระบวนการสันติภาพให้เป็นวาระแห่งชาติ เช่นการคุ้มครองฝ่ายเจรจาให้พูดคุยกัน การแสดงออกสิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องได้รับการยอมรับ การแก้ไขกฏหมาย ม.113, 116, 115 ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษ ยกเลิกกฎอัยการศึก ที่เป็นการลิดรอน สิทธิขั้นพื้นฐาน ควบคุมตัว แและปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการ เช่น การยุบ กอ.รมน. ที่ตรงกับพรรคก้าวไกล และพรรคเป็นธรรมให้ยุบ ศอ.บต.ที่ทับซ้อนส่วนกลางและภูมิภาค ทำให้ปิดกั้นการบริหารพื้นที่ เสนอการกระจายอำนาจ จังหวัดจัดการตนเอง เลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่ง 3 ขานี้สำคัญต่อการสร้างสันติภาพ เพื่อจะได้ พาทหารกลับบ้านให้ได้
นายกัณวีร์ ยังได้ขอบคุณประชาชนทั่วประเทศ เพราะนโยบายไม่ได้มีเพียงที่ปาตานี แต่ยังมีนโยบายสันติภาพกินได้ ระเบียงเศรษฐกิจชายแดน ที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดน ไม่ใช่แค่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สอดรับการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดจัดการตนเอง รวมถึง sister city เมืองคู่แฝดกับเพื่อนบ้าน เพื่อเร่งการพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจ 1.7 ล้านล้านบาทต่อปี

นายกัณวีร์ ยังเปิดเผยประสบการณ์การทำงาน ที่นอกจากเคยทำงานด้านความมั่นคงกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นเวลา 8 ปีแล้ว จากนั้นไปทำงาน UNHCR สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN ที่มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ เป็นเวลา 12 ปี ใน 8 ประเทศ เช่น ประเทศ ซูดาน ซูดานใต้ ชาด ยูกันดา เมียนมา บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ ได้ให้ความคุ้มครอง ให้พวกเขามีชีวิตต่อไป แม้สูญเสียทุกอย่างในบ้านเกิด แต่ต้องไม่สูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เช่นที่เคยทำงานในซูดานใต้ เป็นผู้ลี้ภัย ซูดานเหนือหนีมา หลังแยกประเทศ คนซูดานเหนือ ช่วยรบกับทางซูดานใต้ที่แบ่งแยกประเทศ พอได้อิสรภาพ ทางซูดานเหนือบอกเมื่อช่วยรบ ก็ให้ไปอยู่ซูดานใต้ แต่คนซูดานบอกว่าจะมาไล่เราไม่ได้ ตอนนั้นก็ต้องบินเฮลิคอปเตอร์ไปช่วย มีระเบิดลงมาค่ายผู้ลี้ภัย คนทำงานมนุษยธรรม ก็ต้องเข้าไป พอย้ายไปซูดานเหนือ อยู่ที่ดาร์ฟู ได้ช่วยผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ผู้พลัดถิ่นในประเทศ ก็มีการแก่งแย่งที่ดิน ใช้อาวุธห้ำหั่นกัน แม้มีทหาร UN หมวกดำ แต่สร้างสันติภาพไม่ได้ ต้องให้เจ้าหน้าที่ UN หมวกฟ้าเพราะเราสร้างสันติภาพได้

"ผมจึงอยากนำประสปการณ์นี้มาใช้ ในฐานะนักมนุษยธรรม จำเป็นต้องหาทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนให้ได้ จึงตั้งใจนำหลักมนุษยธรรม นำมาปรับใช้การเมืองไทย เพราะเป็นภาวะฉุกเฉิน ในช่วง 90 ปีที่ผ่านมา ประชาธิไตยไม่เคยงอกงาม ต้องให้มนุษยธรรมนำการเมือง ไม่งั้น นายทุนกลุ่มการเมืองมาเกาะกิน ถ้านำมนุษยธรรมนำการเมือง การเมืองไทยจะมีรากฐานมั่นคง จะไม่มีกลุ่มผลประโยชน์"

นายกัณวีร์ ชี้แจงว่า นโยบายมนุษยธรรมนำการเมือง อาจดูเหมือนวาทกรรม เช่น ทหารนำการเมือง เศรษฐกิจนำการเมือง แต่มนุษยธรรมนำการเมือง เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับนักการเมืองไทย ที่ไม่เคยทำงานด้านมนุษยธรรม หรือ สิทธิมนุษยชน คงไม่เข้าใจได้ว่า ถ้านำหลักการนี้มาทำ มีข้อดีอย่างไร หลักการนี้ มี 4 หลักการ คือ เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะเป็นใจกลางของประชาธิปไตยทุกประเทศ ตัดกลุ่มก้อนนายทุน อิทธิพลต่างๆ จะไม่มี จะเอาประชาชนมาคุยด้วย เช่นการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ถ้าเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางจะไม่เอานายทุน จะไม่เอาจะนะรักษ์ถิ่นเข้าคุก รวมถึงความเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ ให้ทุกคนเป็นมนุษย์เท่ากัน และสุดท้ายคือความมี อิสรภาพ ไม่เกาะกลุ่มทุน ถ้าเป็นรัฐบาล จะให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ทำงานกับหน่วยงานราชการ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นายกัณวีร์ กล่าวด้วยว่า พรรคเป็นธรรม ยังมีนโยบายสันติภาพกินได้ และนโยบายระหว่างประเทศ ที่ต้องเปลี่ยนจากกรอบทวิภาค มาเป็นพหุภาคี ที่ไทยต้องเปลี่ยนกรอบกระบวนทัศน์ในเวทีระหว่างประเทศ ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม เชื่อมั่นว่าต้องมีผู้สนับสุนน โดยยึดสันติภาค ความมั่นคง มนุษยธรรม และการพัฒนา หากไทยเป็นผู้นำในเวทีภูมิภาค และเวทีระหว่างประเทศไทย ไทยก็เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาเมียนมา ผู้ลี้ภัยที่หนีตายมาจากเพื่อนบ้านจะต้องไม่ถูกผลักดันกลับถ้าไม่ปลอดภัย ผู้ลี้ภัยที่อยู่ค่ายในไทยกว่า 40 ปีนับแสนคนต้องมีเสรีภาพได้ทำงานตามความสามารถ รวมถึงชาวโรฮิงญา ชาวอุยกูร์ ที่ถูกขังลืมก็มีวิธีการแก้ปัญหา ให้พวกเขาได้มีโอกาสทำงาน มาร่วมพัฒนาประเทศได้


กำลังโหลดความคิดเห็น