พายุไซโคลน “โมคา” ขึ้นฝั่งแล้วในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ (14 พ.ค.) ถล่มเมืองชายฝั่งของพม่า และพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ ทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่งในบริเวณที่ราบต่ำ อย่างไรก็ตาม ค่ายพักใหญ่ซึ่งมีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญานับล้านพำนักกันหนาแน่น ส่วนใหญ่รอดพ้นอันตรายไปได้
สำนักงานพยากรณ์อากาศของบังกลาเทศเผยว่า ไซโคลนโมคาที่มีความเร็วลม 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เข้าถล่มระหว่างเมืองค็อกซ์บาซาร์ ในบังกลาเทศ ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์ผู้ลี้ภัยที่มีชาวโรฮิงญาเกือบ 1 ล้านคนพำนักอยู่ กับเมืองซิตตเว ในพม่า ส่งผลให้ถนนหลายสายในซิตตเว เกิดน้ำท่วมจนกลายเป็นแม่น้ำ ด้วยความเร็วลมขนาดนี้ทำให้ไซโคลนลูกนี้กลายเป็นพายุลูกใหญ่ที่สุดซึ่งพัดถล่มบริเวณอ่าวเบงกอลในรอบกว่า 1 ทศวรรษ
อย่างไรก็ดี สำหรับชาวเมืองซิตตเว มีการอพยพออกจากเมืองไปตั้งแต่วันเสาร์ (13) หลังได้รับคำเตือนจากหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของพม่าว่า อาจมีคลื่นซัดฝั่งสูง 3.5 เมตร
แต่ที่ค่ายพักแห่งหนึ่งของชาวโรฮิงญาพลัดถิ่นในเขตเมืองเจาะพยู รัฐยะไข่ ของพม่า ปรากฏว่าแรงลมทำให้บ้านชั่วคราวที่สร้างจากผ้าใบและไม้ไผ่พังทลาย และผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายพากันกังวลกับระดับน้ำทะเลที่ค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน สภากาชาดพม่าแจ้งว่า กำลังเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งใหญ่
ด้านเจ้าหน้าที่บังกลาเทศเปิดเผยเมื่อคืนวันเสาร์ว่า เพื่อความปลอดภัยได้อพยพประชาชน 190,000 คนออกจากพื้นที่ค็อกซ์บาซาร์ และอีกเกือบ 100,000 คนในเมืองจิตตะกอง
ที่เกาะเซนต์มาร์ตินของบังกลาเทศ มีประชาชนนับร้อยหลบหนีออกจากเกาะ ซึ่งเป็นทางผ่านของไซโคลน และอีกหลายพันคนอพยพไปหลบภัยบนแนวปะการัง
ส่วนที่เทคแนฟ ในบังกลาเทศเช่นกัน แรงลมของไซโคลนทำให้ต้นไม้หักโค่น การจราจรหยุดชะงัก และประชาชนต้องวิ่งหาที่หลบภัย
มีรายงานว่า ผู้ลี้ภัยในค่ายที่ค็อกซ์บาซาร์ พากันกังวลกับบ้านพักอาศัยของพวกตนที่สร้างจากผ้าใบและไม้ไผ่ที่แม้ลมเพียงเบาๆ ก็อาจหอบปลิวหายไปได้ มิหนำซ้ำโรงเรียนซึ่งพวกเขาใช้เป็นที่หลบภัยชั่วคราวก็ไม่แข็งแรงพอต้านทานแรงลมจากไซโคลน
ทั้งนี้ บังกลาเทศห้ามผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาสร้างบ้านคอนกรีตเนื่องจากกลัวว่า อาจส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นลงหลักปักฐานถาวรแทนที่จะคิดอพยพกลับไปพม่า หลังจากหลบหนีการกวาดล้างอย่างโหดร้ายของกองทัพแดนหม่องมาบังกลาเทศเมื่อ 5 ปีก่อน
นอกจากนั้น ค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ ยังตั้งอยู่บนไหล่เขาซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายจากดินถล่ม โดยที่สำนักงานพยากรณ์อากาศเตือนภัยเอาไว้ว่า ไซโคลนจะทำให้เกิดฝนตกหนักและอาจส่งผลให้ดินถล่ม
อย่างไรก็ดี โมฮัมหมัด ชามซูด ดูซา เจ้าหน้าที่รัฐบาลบังกลาเทศซึ่งรับผิดชอบดูแลผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา กล่าวในเวลาต่อมาว่า พื้นที่ค่ายพักส่วนใหญ่สามารถรอดพ้นจากฤทธิ์เดชซึ่งเลวร้ายที่สุดของไซโคลนมาได้โดยแทบไม่แทบไม่เสียหายอะไร แม้มีรายงานว่าที่พักบางหลังพังไปบ้าง แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บล้มตาย และเวลานี้พายุก็ค่อยๆ อ่อนกำลังลงแล้ว
ด้าน อาซิซูร์ เราะห์แมน อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาบังกลาเทศ เผยว่า ไซโคลนโมคาเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดที่ขึ้นฝั่งบังกลาเทศนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2007 เมื่อครั้งที่ไซโคลน “ซิดร์” เข้าถล่มชายฝั่งด้านใต้และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คน อีกทั้งยังสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
ไซโคลน เป็นชื่อเรียกพายุที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ โดยที่หากเกิดในแถบแอตแลนติกเหนือจะเรียกว่า เฮอร์ริเคน และถ้าปรากฏที่แถบแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือจะเรียกกันว่า ไต้ฝุ่น พายุเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำปีละหลายๆ ลูก และหลายๆ ครั้งกลายเป็นหายนะภัยร้ายแรงซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ผู้คนจำนวนมาก
สำหรับพายุไซโคลนที่ขึ้นชื่อที่สุดในยุคสมัยใหม่ ได้แก่ ไซโคลน “นาร์กิส” ซึ่งถล่มที่ราบลุ่มอิระวดีในพม่าเมื่อปี 2008 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 138,000 คน
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)