xs
xsm
sm
md
lg

UN ร้องรัฐบาลทหารพม่าเปิดรับความช่วยเหลือสำหรับผู้ประสบภัยไซโคลนโมคา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - สหประชาชาติเรียกร้องให้พม่าเปิดใจและยอมรับความช่วยเหลือในการช่วยชีวิตที่จะส่งไปพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากไซโคลนโมคา

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ผู้ปกครองทหารของพม่าอนุญาตให้ดำเนินการประเมินความต้องการต่างๆ ในขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้เผชิญกับผลกระทบของพายุไซโคลน

ไซโคลนโมคาพัดถล่มพม่าและบังกลาเทศเมื่อวันที่ 14 พ.ค. อิทธิพลของพายุทำให้อาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ พังถล่ม และเปลี่ยนถนนกลายเป็นแม่น้ำ

“ความเสียหายและการสูญเสียชีวิตเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้และหลีกเลี่ยงได้ และมีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ เป็นสิ่งจำเป็นที่กองทัพต้องยกเลิกการปิดกั้นการเดินทาง อนุญาตให้การประเมินความต้องการเกิดขึ้น และรับประกันการเข้าถึงและจัดส่งความช่วยเหลือและบริการต่างๆ ในการช่วยชีวิต” โวลเคอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวแถลงข่าวในเจนีวา

รัฐบาลทหารพม่าระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 148 คน ที่ส่วนใหญ่มาจากชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาที่ถูกกดขี่ข่มเหงในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ

“เป็นเวลาหลายสิบปีที่ทางการพม่าลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของโรฮิงญา และโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างไม่ลดละ กัดกร่อนความสามารถในการอยู่รอดของพวกเขา” โวลเคอร์ เติร์ก กล่าว

รัฐยะไข่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวโรฮิงญาหลายแสนคน หลายคนอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นหลังเกิดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์นานหลายทศวรรษ

“ชุมชนผู้พลัดถิ่นอาศัยอยู่ในโครงสร้างที่ทำขึ้นจากไม้ไผ่เป็นการชั่วคราว บางส่วนอยู่มาตั้งแต่ปี 2555 โดยกองทัพพม่าปฏิเสธคำขอของหน่วยงานด้านมนุษยธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ขอให้สร้างสภาพความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนขึ้นในพื้นที่ที่เสี่ยงน้ำท่วมน้อยกว่า ผมเห็นสิ่งนี้ด้วยตัวเองในการเดินทางเยือนพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตะวันออก พวกเขาขัดขวางไม่ให้ชาวโรฮิงญาเดินทางอย่างเสรี รวมถึงในช่วงหลายวันก่อนไซโคลนพัดถล่ม” โวลเคอร์ เติร์ก กล่าว

เมื่อวันอังคาร (23) สหประชาชาติได้ร้องขอเงินทุนช่วยเหลือฉุกเฉิน จำนวน 333 ล้านดอลลาร์ สำหรับประชาชน 1.6 ล้านคน ที่สหประชาชาติระบุว่าได้รับผลกระทบจากไซโคลนโมคาในพม่า.


กำลังโหลดความคิดเห็น