MGR Online - ชาวกะเหรี่ยงแดงฉลองวันชาติครบรอบ 148 ปี ท่ามกลางเสียงปืน เสียงระเบิดจากการสู้รบหนักในรัฐกะยา กลุ่มติดอาวุธรวมตัวจัดตั้งสภาบริหารรัฐกะเหรี่ยงแดง ประกาศจะต่อสู้กับทหารพม่าจนกว่าจะได้รับอิสรภาพ
วานนี้ (21 มิ.ย.) เป็นวันชาติกะเหรี่ยงแดงครบรอบ 148 ปี หลายพื้นที่ของรัฐกะยา โดยเฉพาะภายในค่ายผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ ได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองขึ้น อย่างไรก็ตาม การเฉลิมฉลองวันชาติที่ถูกจัดขึ้นในหลายจุดไม่สามารถเปิดเผยสถานที่ได้ เนื่องจากในรัฐกะยากำลังตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียด จากการสู้รบกันอย่างหนักหน่วงระหว่างกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง กับทหารพม่า ชาวบ้านนับพันคนต้องอพยพหนีภัยสงครามข้ามมาอยู่ในประเทศไทย
รายงานล่าสุด จากศูนย์สั่งการชายแดนไทย-พม่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อช่วงเย็นวันที่ 21 มิถุนายน 2566 จำนวนผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในรัฐกะยา ที่บ้านเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง และบ้านแม่กี๊ อำเภอขุนยวม มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,071 คน
สำนักข่าว Kantarawaddy Times ได้เผยแพร่ภาพกิจกรรมฉลองวันชาติซึ่งจัดขึ้นภายในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในรัฐกะยา ชาวกะเหรี่ยงแดงนับพันคนแต่งกายด้วยชุดประจำชาติพันธุ์สีแดง เดินแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยไปยังลานกิจกรรม ระหว่างทางได้ตะโกนคำขวัญเรียกร้องอิสรภาพของชาวกะเหรี่ยงแดงอย่างพร้อมเพรียงกัน เมื่อทุกคนเดินไปถึงลานกิจกรรมได้ยืนตั้งแถวรับฟังคำปราศรัยปลุกใจของผู้อาวุโสที่ดูแลค่าย
เมื่อ พ.ศ.2418 รัฐบาลบริติชอินเดียของอังกฤษ และพระเจ้ามินดง แห่งราชวงศ์คอนบอง ได้ทำสนธิสัญญารับรองเอกราชของกลุ่มรัฐกะเหรี่ยงแดง ซึ่งประกอบด้วยรัฐโบราณ 3 แห่ง คือ กันตรวดี เจโบจี และบอละแค ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ไม่ได้ตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอังกฤษ และไม่ได้ขึ้นกับอาณาจักรพม่า แต่ต่อมาในปี 2435 ทั้ง 3 รัฐได้เข้าเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษเช่นเดียวกับรัฐชาน
อย่างไรก็ตาม หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐธรรมนูญปี 2490 ของสหภาพพม่าได้เขียนให้รัฐโบราณทั้ง 3 แห่ง เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่า และสามารถแยกตัวเป็นอิสระได้ในอีก 10 ปี แต่ปรากฏว่าในปี 2502 รัฐบาลพม่าได้ส่งกำลังเข้ามาในพื้นที่เพื่อปกครองรัฐกะยาโดยตรง
รัฐกะยาเป็นรัฐชาติพันธุ์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในพม่า พื้นที่ด้านตะวันออกของรัฐกะยาติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย หลังการรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐกะยาเป็นพื้นที่ซึ่งมีการสู้รบกับกองทัพพม่ารุนแรงที่สุดแห่งหนึ่ง กองทัพพม่าต้องใช้ทั้งกำลังทหารราบ และเครื่องบินรบบินมาทิ้งระเบิดลงในหลายพื้นที่ของรัฐกะยา และจนถึงทุกวันนี้ การสู้รบในรัฐกะยายังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา กองกำลังติดอาวุธในรัฐกะยา ได้รวมตัวกันจัดตั้งสภาบริหารรัฐกะเหรี่ยงแดงชั่วคราว (The Interim Executive Council of Karenni State : IEC) ขึ้น โดยมีคณะกรรมการ 6 คน ประกอบด้วย คู อูเร ประธานพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (KNPP) องค์กรการเมืองที่พัฒนาขึ้นจากกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (KA) เป็นประธาน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ที่จะต่อสู้กับกองทัพพม่าจนกว่าจะได้รับชัยชนะ.