xs
xsm
sm
md
lg

จากยูเครนถึงพม่า! Free Burma Rangers ขอบคุณอีลอน มัสก์ ปล่อยสัญญาณเน็ต "สตาร์ลิงค์" ให้กองกำลังติดอาวุธรัฐกะยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การใช้อินเทอร์เน็ตในป่ารัฐกะยาของกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน (ภาพจาก Kantarawaddy Times)
MGR Online - ชัดแล้วแสงบนท้องฟ้าที่มองเห็นในภาคเหนือของไทยเมื่อต้นเดือนมิถุนายน เป็นกลุ่มดาวเทียมสตาร์ลิงค์ของสเปซเอ็กซ์ที่เคลื่อนตัวเข้าไปปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้กองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านที่กำลังรบหนักอยู่กับกองทัพพม่า ผบ. Free Burma Rangers ทวีตขอบคุณอีลอน มัสก์ ที่ช่วยให้การทำงานในรัฐกะยาสะดวกขึ้น

สำนักข่าว Kantarawaddy Times รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 เดวิด ยูแบงก์ ผู้อำนวยการ Free Burma Rangers กลุ่ม NGO จากสหรัฐอเมริกาที่ได้เข้าไปเคลื่อนไหวอยู่ในรัฐกะยา (กะเหรี่ยงแดง) ของพม่า ได้ทวีตข้อความขอบคุณอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งสเปซเอ็กซ์ และโครงการสตาร์ลิงค์ ที่ช่วยให้ในรัฐกะยามีสัญญาณอินเทอร์เน็ตใช้ ทำให้การทำงานในพื้นที่ของพวกเขาสะดวกขึ้น

สตาร์ลิงค์เป็นโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมขนาดเล็กจำนวนมากที่โคจรอยู่รอบโลก ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัทสเปซเอ็กซ์ เพื่อให้ทุกพื้นที่ทั่วโลกสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ โดยปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมให้พื้นที่ห่างไกลที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตประเภทอื่นไม่สามารถเข้าถึง

รัฐกะยาอยู่ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ชายแดนด้านตะวันตกของประเทศไทย เป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งขณะนี้กำลังมีการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน (PDF) กับกองทัพพม่า และกลยุทธ์หนึ่งที่กองทัพพม่านำมาใช้ คือการตัดการสื่อสาร โดยไม่ปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่รัฐกะยา รวมถึงอีกหลายรัฐที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพพม่า

ทวีตของเดวิด ยูแบงก์ ผู้อำนวยการ Free Burma Rangers ที่ขอบคุณอีลอน มัสก์ และโครงการสตาร์ลิงค์ ที่ปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้พื้นที่รัฐกะยา
Free Burma Rangers ตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 โดยอ้างภารกิจให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวพม่าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ โดยส่งอาสาสมัครเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านในรัฐชาติพันธุ์ต่างๆ เน้นที่รัฐกะเหรี่ยง และกะยา

อย่างไรก็ตาม ภาพกิจกรรมฝึกฝนอาสาสมัครของ Free Burma Rangers ที่ปรากฏในเพจทางการของพวกเขาเมื่อเดือนมกราคม 2565 หลังการรัฐประหารในพม่าผ่านไปแล้วเกือบครบ 1 ปี เป็นเหมือนการฝึกการสู้รบของทหารป่ามากกว่า

เดวิด ยูแบงก์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ Free Burma Rangers เป็นอดีตทหารหน่วยรบพิเศษ (Ranger) ของกองทัพสหรัฐอเมริกา เดวิดเติบโตและเคยใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากต้องติดตามบิดาซึ่งเป็นมิชชันนารี ที่มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์อยู่ในหลายพื้นที่ของชายแดนของไทย

หลังปลดประจำการจากกองทัพ เดวิดตั้งองค์กร Free Burma Rangers ขึ้น และส่งอาสาสมัครข้ามชายแดนจากประเทศไทย ทางภาคตะวันตก เพื่อเข้าไปเคลื่อนไหวในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐกะยา


เมื่อต้นเดือนเมษายน 2564 หลังกองทัพพม่าเพิ่งทำรัฐประหารไปได้ 2 เดือน มีข่าวว่าฝ่ายต่อต้านรัฐประหารได้ส่งอีเมลไปถึงอีลอน มัสก์ ขอให้ช่วยปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านโครงการสตาร์ลิงค์ให้พวกเขาได้ใช้เพื่อต่อสู้กับกองทัพพม่า ตามรายงานข่าวระบุว่า อีลอน มัสก์ได้ตอบกลับอีเมลฉบับนั้นภายในเวลาเพียง 7 ชั่วโมง ว่าเขายินดีปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสตาร์ลิงค์ให้ ถ้ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาอนุญาต แต่หลังจากนั้น ข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากโครงการสตาร์ลิงค์ในพม่าได้เงียบหายไปถึงกว่า 2 ปี

กระทั่งเวลาประมาณ 19.55 น. วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในภาคเหนือของประเทศไทยมีผู้พบเห็นแสงประหลาดบนท้องฟ้าเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ ต่อมาเวลาประมาณ 23.30 น. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีดาวเทียมสตาร์ลิงค์กลุ่ม 6-3 (Starlink G 6-3) ซึ่งเป็นฝูงดาวเทียมเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตของสเปซเอ็กซ์ จำนวน 22 ดวง กำลังเคลื่อนผ่านท้องฟ้าทางภาคเหนือของไทย จากนั้นอีก 1 สัปดาห์ ในวันที่ 8 มิถุนายน เดวิด ยูแบงก์ ก็ได้ทวีตขอบคุณอีลอน มัสก์ และโครงการสตาร์ลิงค์ตามที่ได้รายงานไปแล้วข้างต้น

สำนักข่าว Kantarawaddy Times ได้รายงานเพิ่มเติมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนว่า แม้สตาร์ลิงค์ได้ปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตลงมายังพื้นที่รัฐกะยาแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เพราะการรับสัญญาจากดาวเทียมสตาร์ลิงค์ ต้องใช้อุปกรณ์ภาคพื้นดินที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ผู้ที่จะได้ใช้อินเทอร์เน็ตในพื้นที่รัฐกะยา ต้องเป็นกลุ่มหรือองค์กรที่สามารถนำเข้าอุปกรณ์นี้ได้ ไม่ใช่ระดับชาวบ้านทั่วไป.

คำชี้แจงในเฟซบุ๊กของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เกี่ยวกับแสงบนท้องฟ้าที่ถูกพบเห็นในภาคเหนือของไทย เมื่อค่ำวันที่ 1 มิถุนายน 2566


กำลังโหลดความคิดเห็น