xs
xsm
sm
md
lg

“กัณวีร์” เล็งถกสภายื่นชงพม่ากำหนด Safty Zone ไม่ให้กระทบ ปชช.ชายแดน วางมาตรการรับผู้ลี้ภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส.เป็นธรรม เผย ขอหารือสภา ยื่นข้อเสนอไทยคุยเมียนมากำหนด Safty Zone พื้นที่ชายแดน ไม่ให้กระทบประชาชนชายแดน และวางมาตรการรองรับผู้ลี้ภัยที่รอทะลักเข้าไทยกว่า 3 แสนคน

วันนี้ (10 ส.ค.) นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ ได้ขอหารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังจากพรรคเป็นธรรมได้รับหนังสือจากภาคประชาสังคมคนทำงานชายแดน ที่ประกอบด้วย สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน, เสมสิกขาลัย มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.), มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล, มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน, เครือข่ายแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย พังงา ระนอง ชุมพร ประจวบฯ (คนไทยพลัดถิ่น), Burma Concern เสนอมาตราการคุ้มครองประชาชนชายแดนตะวันตกจากสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา

นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารในเมียนมา 1 ก.พ. 2564 มีสถานการณ์การสู้รบภายในประเทศ จากข้อมูลองค์การสหประชาชาติ พบว่า ผู้พลัดถิ่นในประเทศเมียนมา มีมากกว่า 1 ล้านคน โดยกว่า 300,000 คน อยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ถ้ามีสถานการณ์รุนแรง เชื่อว่า คนเหล่านี้จะเข้ามาในไทยทันที ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยเข้ามาแล้วกว่า 9,000 คน ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 5 แห่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่ามีกว่า 2 หมื่นคน

นายกัณวีร์ ระบุว่า สถานการณ์ในเมียนมาทำให้เกิดมีปัญหา 2 เรื่องหลักที่กระทบกับไทย ปัญหาหลัก มีทั้งการปฏบัติการทางทหารของเมียนมาที่มีต่อเนื่องโดยไม่เลือกเป้าหมาย ที่มีการโจมตีทางอากาศ มีผลกระทบกับชาวไทย จำนวนกว่า 100 เหตุการณ์

“ในจำนวนกว่า 3 แสนคนที่กำลังรอลี้ภัย หากไทยไม่มีศักยภาพในการดูแล เราจะเตรียมความพร้อมอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ต้องขอหารือผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี”

นายกัณวีร์ เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะทำหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาหลัก 2 ปัญหา

“ข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาแรก คือ การปฏิบัติการทางทหารของเมียนมา ใช้กรอบความร่วมมือ ทวิภาคีที่ต้องคุยกับทหารเมียนมาให้ได้ ในการกำหนด Safty Zone พื้นที่ความปลอดภัย และระเบียงมนุษยธรรม หรือ Huminatarian Coridor ให้เกิดขึ้น จากชายแดนไทย-เมียนมา เข้าไปในเมียนมา 5 กิโลเมตร พื้นที่นี้จะทำให้ผลกระทบของพี่น้องตามแนวชายแดนไม่ได้รับผลกระทบมากนัก รวมถึงผู้พลัดถิ่นในพื้นที่ 5 กม.นี้สามารถอยู่ได้ ไม่ได้รับผลกระทบทางการทหาร ก็จะเป็นการ win-win ชาวไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก”

ส่วนการแก้ปัญหาแนวทางที่ 2 นายกัณวีร์​ ระบุว่า เสนอในกรอบพหุภาคี นายกรัฐมนตรี ต้องใช้กรอบความร่วมมืออาเซียนผ่านฉันทามติ 5 ข้อ ผ่าน Special Envoy เรื่อง Safty Zone ที่มีการพูดคุยกับทางพม่าแล้ว และแนวทางที่ 3 การจัดทำนโยบาย นายกรัฐมนตรีที่เป็นประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ต้องมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ในการจัดการเรื่องนี้

ส่วนมาตรการรองรับผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ขอให้ประสาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ​เตรียความพร้อมในการเปิดระเบียงมนุษยธรรม Huminatarian Coridor ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่า ที่รัฐบาลรักษาการทำงานอยู่ แต่มีงบประมาณส่วนน้อยในด้านมนุษยธรรม

นายกัณวีร์ ​ยังได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เชิญองค์การระหว่างประเทศ สถานทูตต่างๆ ภาคประชาสังคม ปรึกษาหารือ ว่ามีศักยภาพอย่างไร ที่จะจัดการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และไทยจะเป็นผู้นำในการจัดการความพร้อมในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนี้อย่างไร

“นายกรัฐมนตรีต้องใช้กลไกลทุกระดับ พื้นที่ ภูมิภาคและรัฐบาล ต้องชักจูงและกดดันให้ทหารเมียนมากำหนดให้ได้ว่า Safty Zone อยู่ตรงไหน ต้องกำหนดในระยะ 5 กม.จากชายแดนเป็นพื้นที่ปลอดภัย และระเบียงมนุษยธรรม ตะต้องไม่มีปฏิบัติการทางทหาร ถ้าหยุดยิงในรัศมี 5 กม.ชายแดน ทำให้ผลกระทบน้อยลงไป ผู้พลัดถิ่นในประเทศของเมียนมา ก็จะใช้พื้นที่ตรงนี้ได้ปลอดภัย โดยไม่ต้องอพยพมาไทย”

นายกัณวีร์ กล่าวย้ำ และเตรียมผลักดันเรื่องนี้เป็นญัตติหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น