โดรนลำหนึ่งของยูเครนโจมตีไครเมียเมื่อวันเสาร์ (22 ก.ค.) ระเบิดคลังกระสุนแห่งหนึ่ง กระตุ้นให้เกิดการอพยพในแหลมที่รัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน และทำการสัญจรทางรางหยุดชะงัก เพียง 5 วัน หลังโดรนโจมตีก่อความเสียหายแก่สะพานข้ามช่องแคบเคิร์ช ที่เชื่อมระหว่างแผ่นดินรัสเซียกับแหลมไครเมีย ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นโดยไม่สนเสียงทัดทานจากพันธมิตรตะวันตก ที่เกรงว่ามันอาจทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย
ไครเมียซึ่งถูกรัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในปี 2014 ตกเป็นเป้าหมายของเคียฟมาตลอดช่วงเวลาที่มอสโกเปิดปฏิบัติการทางทหารรุกรานยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 17 เดือน แต่การโจมตีเริ่มหนักหน่วงและบ่อยครั้งยิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ในปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ทวงคืนดินแดนที่สูญเสียไปให้มอสโก ทางเคียฟแสดงท่าทีชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าพวกเขามีเป้าหมายยึดคืนแหลมแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ริมทะเลดำเช่นกัน แม้มันสร้างความไม่สบายใจแก่พันธมิตรตะวันตกก็ตาม
"เป้าหมายคือกลับสู่ไครเมีย" โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนกล่าว พร้อมระบุว่าเคียฟมองสะพานไครเมีย ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เป็นประธานทำพิธีเปิดเมื่อปี 2018 เป็นวัตถุของศัตรูและพวกเขาต้องการกำจัด
จากนั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อมา เซียร์เก อัคโยนอฟ ผู้บริหารแคว้นไครเมียที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซีย ระบุว่าโดรนของศัตรูระเบิดคลังกระสุนแห่งหนึ่ง "ผลจากการโจมตีของโดรนศัตรูในเขตครานอกวาร์ดีสกี คลังกระสุนแห่งหนึ่งเกิดการระเบิด" อัคโนยอฟระบุบนเทเลแกรม อ้างถึงพื้นที่หนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในย่านใจกลางแคว้นไครเมีย
อัคโยนอฟ เผยว่า ได้สั่งอพยพประชาชนที่อยู่ภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากคลังกระสุน เขาบอกว่าไม่มีรายงานความสูญเสีย และคลังกระสุนได้รับความเสียหายเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม วิดีโอบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ยังไม่ผ่านการตรวจพบ เป็นภาพกลุ่มควันกำลังลอยฟุ้งขึ้นสู่ท้องฟ้า
เขาบอกด้วยว่าได้มีการระงับการสัญจรทางรางในแหลมไครเมีย "เพื่อลดความเสี่ยงสู่ระดับต่ำสุด จึงได้ตัดสินใจระงับการสัญจรทางรางบนรางเดินรถไฟสายต่างๆ ในแคว้นไครเมียเช่นกัน"
การสัญจรบนท้องถนนข้ามสะพานไครเมีย หนึ่งในไม่กี่หนทางในการเข้าออกแคว้นไครเมีย เนื่องจากเที่ยวบินต่างๆ ที่ถูกยกเลิกระหว่างความขัดแย้ง เพิ่งกลับมาให้บริการเมื่อวันเสาร์ (22 ก.ค.) หลังการโจมตีของยูเครน ก่อความเสียหายแก่สะพานในวันอังคาร (18 ก.ค.) และคร่าชีวิตผู้คนไป 2 ราย
เหตุโจมตีแคว้นไครเมีย เกิดขึ้นในขณะที่บรรดาพันธมิตรตะวันตกหลายชาติของเคียฟ รู้สึกไม่สบายใจกับความทะเยอทะยานของยูเครนที่ต้องการทวงดินแดนแห่งนี้กลับคืนมา ด้วยเกรงว่ามันจะโหมกระพือความขัดแย้งครั้งใหญ่กับรัสเซีย
นอกจากนี้ มันยังอาจทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ทะเลดำลุกลามบานปลาย หลังมอสโกปฏิเสธต่ออายุข้อตกลงเปิดทางส่งออกธัญพืชของยูเครน พร้อมเตือนว่าเรือที่ล่องเข้าไปท่าเรือต่างๆ ของยูเครนในทะเลดำตั้งแต่วันนี้ (20 ก.ค.) เป็นต้นไป จะถูกถือว่าเป็น “เป้าโจมตีทางทหาร” เสี่ยงที่จะกระพือวิกฤตด้านอาหารของโลก
ขณะเดียวกัน รัสเซียยังกล่าวหาเคียฟใช้กระสุนคลัสเตอร์เล่นงานหมู่บ้านซูราฟเลฟกา ตามแนวชายแดนรัสเซีย และอาวุธที่เป็นที่ถกเถียงนี้ได้สังหารผู้สื่อข่าวรายหนึ่งในหมู่บ้านอีกแห่งที่อยู่ในแนวหน้า
คำกล่าวหานี้มีขึ้น 2 สัปดาห์ หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดจากพันธมิตรของเขาต่อกรณีจัดหากระสุนดังกล่าวให้แก่ยูเครน ซึ่งก่อความเสี่ยงระยะยาวแก่พลเรือน
เป็นครั้งแรกที่รัสเซียรายงานเกี่ยวกับการใช้อาวุธชนิดนี้ในดินแดนของพวกเขา ในขณะที่ ปูติน เคยเตือนว่ามอสโกก็มีกระสุนคลัสเตอร์มากพอที่จะตอบโต้ หากว่ายูเครนใช้อาวุธดังกล่าว
(ที่มา : เอเอฟพี)