วันที่ 9 สิงหาคม 2566 สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมกับ Diplomatic Council และ GEN Thailand ดำเนินการจัดงานเสวนา Global Sustainability & Productivity Network (GSPN) Dialogue ณ ห้องประชุม 4 องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ พร้อมชูประเด็น Sustainable & Productivity Goals in Thailand: An ASEAN and Global Perspective มุ่งเน้นแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับวิกฤตที่กำลังแผ่ขยาย อันส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจทั่วโลก
วัตถุประสงค์ของงานเสวนาในครั้งนี้ คือ การรวบรวมมุมมองด้านยุทธศาสตร์ แนวคิด และการค้นหากลยุทธ์ในการบริหารและปรับปรุงเพื่อยกระดับผลิตภาพ สู่การผลักดันประเทศให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จากเหล่าผู้นำองค์กรภาครัฐและเอกชน นำโดย ดาโต๊ะ โจจี แซมูเอล (H.E. Dato' Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย และกรรมการบริหาร Diplomatic Council นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และดาโต๊ะ สตีฟ เชีย (Dato’ Steve Cheah) ประธาน Global Entrepreneurship Network หรือ GEN Thailand รวมถึงผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ และตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคมที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจร่วมรับชมและเรียนรู้ไปพร้อมกันผ่านช่องทางออนไลน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้ความคาดหวังที่จะสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการพัฒนากระบวนการทำงานให้มีประสิทธิผล สู่ผลิตภาพสูงสุด เพื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้กับวิกฤตโลกที่ส่อแววกระทบต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประชากร และการรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
นอกจากนี้ ภายในงานยังประกอบด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ การอภิปราย และการประชุมเครือข่าย ครอบคลุมในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ การทูตและความร่วมมือทางธุรกิจสำหรับเศรษฐกิจโดยรวม เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์สำหรับการเกษตรแม่นยำ รวมถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ผ่านความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี พร้อมกันนี้ GSPN Dialogue ยังได้นำพาผู้เข้าร่วมงานมาร่วมเจาะลึกถึงแนวทางการผลักดันผลิตภาพแรงงานในบริบทของประเทศไทยในยุค 4.0 โดยการสำรวจกลยุทธ์การจัดการ เทคโนโลยี และนโยบายด้านดิจิทัลเพื่อกระตุ้นประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไปเป็นอย่างดี จึงนับเป็นก้าวสำคัญต่อการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ นวัตกรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังขยายขอบเขตไปยังภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลกอีกด้วย