โศกนาฏกรรมแห่งสงครามในยูเครนต้องไม่ซ้ำรอยในเอเชีย จากคำกล่าวของ หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อวันเสาร์ (2 ก.ย.) ที่ผ่านมา พร้อมเตือนประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอาเซียน ว่าไม่ควรปล่อยให้ตนเองกลายเป็นเบี้ยในการแข่งขันทางอำนาจครั้งใหญ่หลวงนี้
หวัง ยังกล่าวหาด้วยว่า "ขุมกำลังภายนอกหนึ่งๆ" กำลังหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งในหมู่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เพื่อขัดขวางความลงรอยกันเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ซึ่งคำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตอย่างกว้างขวางของปักกิ่ง โหมกระพือความตึงเครียดแก่บรรดาชาติเพื่อนบ้านจำนวนหนึ่ง
"เราควรเปิดโปงพวกที่จัดฉากอยู่ด้านหลังอย่างลับๆ ซึ่งเล็งเป้าหมายรับใช้ความต้องการทางภูมิรัฐศาสตร์ของตนเอง ด้วยพยายามโหมกระพือปัญหาทางต่างๆ บ่อนทำลายสันติภาพด้วยประเด็นทะเลจีนใต้มานานหลายปี" หวัง กล่าวระหว่างปราศรัยผ่านวิดีโอต่อที่เวทีสัมมนาหนึ่ง ที่จัดโดยประชาคมนโยบายต่างประเทศแห่งอินโดนีเซีย สถาบันวิจัยในจาการ์ตา
เขากล่าวต่อว่า "เราควรทิ้งความคิดสงครามเย็น และต่อต้านเกมที่มีแต่เสียกับเสีย กันภูมิภาคแห่งนี้ออกจากการคำนวณทางภูมิรัฐศาสตร์ และไม่กลายเป็นเบี้ยในการแข่งขันทางอำนาจครั้งใหญ่" พร้อมเตือนว่า "วิกฤตยูเครนคือสัญญาณเตือนถึงมนุษยชาติ และโศกนาฏกรรมเช่นนี้ต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยในเอเชีย"
หวัง ไม่ได้เอ่ยชื่อ "ขุมกำลังภายนอก" ที่เขากล่าวหาเป่าหูอาเซียน แต่พวกนักวิเคราะห์จีนเชื่อว่าความคิดเห็นของเขาน่าจะเล็งเป้าหมายไปที่สหรัฐฯ หรือพันธมิตรของอเมริกา
โจว เฉินหมิง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการทหารหยวน หวัง ในกรุงปักกิ่ง แสดงความคิดเห็นว่า "คำพูดของหวัง สะท้อนความกังวลของปักกิ่ง เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่แผนยุทธศาสตร์สหรัฐฯ จะก่อวิกฤตบางอย่างคล้ายๆ กับความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครนในภูมิภาค"
"การที่สหรัฐฯ ประจำการทหารในคาบสมุทรเกาหลีเมื่อเร็วๆ นี้ ข้อตกลง Aukus ที่เกี่ยวข้องกับออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร และความเคลื่อนไหวอื่นๆ บอกกับเราว่า วอชิงตันต้องการกระจายความเข้มแข็งทางทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนไปหลายทิศหลายทาง ในกรณีที่เกิดสงครามเกี่ยวกับไต้หวัน" เขากล่าว
ด้าน สง จงปิง อดีตครูฝึกของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน บอกว่าไต้หวันคือจุดเดือดที่อันตรายที่สุด แต่เกาหลีเหนือและข้อพิพาทด้านเขตแดนของจีนกับบรรดาชาติเพื่อนบ้านทั้งหลายก็อาจเป็นชนวนวิกฤตได้เช่นกัน
เขามองด้วยว่าความเห็นของ หวัง อี้ ยังเป็นการส่งเสียงเตือนไปยังอาเซียน ให้ระแวดระวังความพยายามของสหรัฐฯ ในการจัดฉาก "สงครามตัวแทน" ในภูมิภาค
สำหรับ หวัง อี้ เพิ่งกลับมาดำรงตำแหน่งเก่า ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ หลังจาก ฉิน กัง ผู้สืบทอดเก้าอี้ของเขาถูกถอดจากตำแหน่งโดยปราศจากคำอธิบายใดๆ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
เขาเรียกร้องบรรดาชาติสมาชิกอาเซียน หาทางจัดเจรจาหาข้อสรุปในการจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea: COC) ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย กระบวนการที่ยืดเยื้อมานานหลายปี และพลาดเส้นตายที่กำหนดไว้สำหรับบรรลุข้อตกลงกันในปีที่แล้ว
จีนกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดของน่านน้ำที่อุดมไปด้วยทรัพยากรแห่งนี้ แต่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน คัดค้านคำกล่าวอ้างดังกล่าว
(ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์)