xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯจีนเตือนหลีกเลี่ยง‘สงครามเย็นยุคใหม่’ ด้านรองปธน.แฮร์ริสประกาศตั้งศูนย์อเมริกา-อาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บรรดาผู้นำของชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ของสหรัฐฯ (ที่5 จากซ้าย) ระหว่างการประชุมซัมมิตอาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมซัมมิตอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันพุธ (6 ก.ย.) สำหรับตัวแทนของไทยที่เข้าร่วมประชุมซัมมิตคราวนี้คือ นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (ที่3 จากซ้าย)
นายกรัฐมนตรีจีนเตือนหลีกเลี่ยง “สงครามเย็นยุคใหม่” ในการจัดการกับความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ด้านรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศจัดตั้งศูนย์อเมริกา-อาเซียนขึ้นในกรุงวอชิงตัน ส่งสัญญาณว่า อเมริกาต้องการมีส่วนร่วมในภูมิภาคนี้มากขึ้น ขณะที่พวกผู้นำทั่วโลกร่วมการประชุมซัมมิตของสมาคมอาเซียนที่อินโดนีเซีย ซึ่งในวันพุธ (6 ก.ย.) เข้าสู่วาระการหารือระหว่างอาเซียนกับบรรดาประเทศคู่เจรจา ท่ามกลางบรรยากาศความเป็นปฏิปักษ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อบอวลทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ในช่วงที่ผ่านมา จีนแสดงความกังวลเรื่องที่สหรัฐฯเป็นผู้นำในการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือทางด้านความมั่นคงและการทหารขึ้นมาในเอเชีย-แปซิฟิก (ซึ่งสหรัฐฯพยายามผลักดันให้เรียกขานเสียใหม่เป็นภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก) เป็นต้นว่า กลุ่มคว็อด (สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย-อินเดีย), กลุ่มออคัส (ออสเตรเลีย-สหราชอาณาจักร-สหรัฐฯ) ตลอดจนการประชุมที่แคมป์เดวิดในเดือนที่แล้วระหว่างผู้นำของสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ แต่ขณะเดียวกันวอชิงตันก็ใช้ประโยชน์จากการที่ปักกิ่งกำลังมีข้อพิพาทกับประเทศสำคัญอื่นๆ ในภูมิภาคเกี่ยวกับทะเลจีนใต้และประเด็นต่างๆ

ในวันพุธ (6 ก.ย.) ที่กรุงจาการ์ตา นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีน กล่าวระหว่างการเปิดประชุมอาเซียน+3 (ชาติอาเซียน กับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมซัมมิตอาเซียนช่วงการหารือระหว่างอาเซียนกับพวกประเทศคู่เจรจา โดยเขาเตือนว่า ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องจัดการความแตกต่างและข้อพิพาทอย่างเหมาะสม สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในขณะนี้คืองดเว้นการเลือกข้าง การตั้งกลุ่มเพื่อเผชิญหน้า และสงครามเย็นยุคใหม่

การแสดงความคิดเห็นของหลี่ อยู่ในแนวทางเดียวกับที่ หลี่ ช่างฝู รัฐมนตรีกลาโหมจีนพูดเตือนเอาไว้ในงานประชุมแชงกรี-ลา ไดอะล็อกในสิงคโปร์เมื่อเดือนมิถุนายน เกี่ยวกับความพยายามของสหรัฐฯในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรที่คล้ายกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก และเรียกร้องความร่วมมือที่เปิดกว้างรวมทุกประเทศแทนการจัดตั้งแยกเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ

การที่นายกฯหลี่ เข้าประชุมซัมมิตอาเซียนในฐานะผู้แทนของจีน ถูกสื่อตะวันตกบางสำนักระบุว่าสะท้อนถึงการลดความสำคัญของอาเซียนในสายตาของปักกิ่ง เพราะเบอร์หนึ่งตัวจริงคือประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่มา แต่ในทางเป็นจริงแล้ว นายกรัฐมนตรีจีนคือผู้ที่เข้าประชุมระดับนี้ของอาเซียนมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยนายกฯแดนมังกรคนก่อนๆ

ในวันพุธ (6) นอกจากการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 แล้ว ยังมีการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำของประเทศคู่เจรจาอื่นๆ เป็นต้นว่า สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, แคนาดา

จากนั้นในวันพฤหัสฯผู้นำอาเซียนยังมีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจาอื่นๆ ที่เหลือ เช่น นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิของอินเดีย นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานีสของออสเตรเลีย และ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ

การประชุมเหล่านี้จัดขึ้นก่อนหน้า “การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก” ที่ประกอบด้วยสมาชิก 18 ชาติในวันพฤหัสฯ (7) โดยที่ เซียร์เก ราฟลอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียจะเข้าร่วมในนามของแดนหมีขาว แทนประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งไม่ได้มา ขณะที่รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส เข้าร่วมในนามของสหรัฐฯ แทนประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ทั้งนี้การประชุมนี้ซึ่งจัดในลักษณะการประชุมโต๊ะกลม จะถือเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกาและรัสเซียเผชิญหน้ากันนับจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในจาการ์ตาเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และยุโรปรุมโจมตีลาฟรอฟเรื่องความขัดแย้งในยูเครน

สำหรับ การประชุมในวันพุธ (6) ระหว่างผู้นำอาเซียนกับสหรัฐฯ รองประธานาธิบดีแฮร์ริส ได้กล่าวยกย่องความมุ่งมั่นร่วมกันของอาเซียนต่อกฎและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ รวมถึงประเด็นต่างๆ ในภูมิภาค

รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังประกาศจัดตั้งศูนย์อเมริกา-อาเซียนแห่งแรกในกรุ
วอชิงตัน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯ ต้องการมีส่วนร่วมในภูมิภาคนี้มากขึ้น

ในรอบของเกาหลีใต้ ประธานาธิบดียุน ซอกยอน ของโสมขาว กล่าวกับผู้นำอาเซียนว่า ประเทศต่างๆ ต้องไม่ร่วมมือกับเกาหลีเหนือ ซึ่งเมื่อต้นสัปดาห์อเมริการะบุว่า เปียงยางกำลังเจรจาขายอาวุธให้รัสเซีย

ทั้งยุนและนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่น ยังพบหารือแบบ 3 ฝ่ายกับหลี่ ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาหารือกันคือ ข้อพิพาทระหว่างปักกิ่งกับโตเกียว หลังจากญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่ทะเล

อย่างไรก็ดี นักการทูตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนหนึ่งเผยว่า การพูดคุยระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเกี่ยวกับฟูกูชิมะเป็นไปอย่างราบรื่น

อนึ่ง เมื่อวันอังคาร (5) ซึ่งมีการประชุมซัมมิตเฉพาะชาติสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง มีรายงานว่า ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพ ได้กล่าวกับผู้นำอาเซียนว่า อาเซียนต้องไม่กลายเป็นตัวแทนของมหาอำนาจที่กำลังแข่งขันกัน ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับจีนตึงเครียดมากขึ้นในประเด็นไต้หวัน ทะเลจีนใต้ และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

ขณะเดียวกันบรรดาผู้นำอาเซียนได้ประณามความรุนแรงและการโจมตีพลเรือนในพม่า โดยกล่าวโทษรัฐบาลทหารโดยตรง

ทางด้านแฮร์ริสกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า อเมริกาจะเดินหน้ากดดันให้พม่ายุติการใช้ความรุนแรง ปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรม และฟื้นเส้นทางสู่ประชาธิปไตย

นอกจากนั้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนยังสร้างความไม่พอใจให้แก่สมาชิกอาเซียนหลายชาติ จากการที่จีนเปิดเผยแผนที่อย่างเป็นทางการฉบับใหม่ซึ่งอ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคที่รวมถึงญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ออกมาประณาม

จากคำแถลงที่ออกมาเมื่อวันพุธ ผู้นำอาเซียนบางคนได้แสดงความกังวลกับการถมทะเล กิจกรรมต่างๆ และเหตุการณ์ร้ายแรงในทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ตาม อเล็กเซียส เจมาดู ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการต่างประเทศของมหาวิทยาลัยเปลิตา ฮาราปันของอินโดนีเซีย เชื่อว่า ผู้นำอาเซียนจะไม่เผชิญหน้ากับหลี่เพราะไม่ต้องการทำให้ปักกิ่งโกรธ

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, MGRonline)
กำลังโหลดความคิดเห็น