เอพี - บรรดาผู้นำของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ตัดสินใจว่าพม่าจะไม่เข้ารับตำแหน่งผู้นำหมุนเวียนของกลุ่มภูมิภาคตามกำหนดในปี 2569 ในการขัดขวางครั้งล่าสุดต่อความพยายามของนายพลที่ปกครองพม่าที่ต้องการจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติ หลังการยึดอำนาจอย่างรุนแรงในปี 2564
รัฐบาลตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ได้กล่าวประณามกองทัพพม่าที่โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของอองซานซูจีในปี 2564 และเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอทันทีจากการคุมขังเป็นเวลานานหลายปีพร้อมกับเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ
การต่อต้านการยึดอำนาจของทหารได้ทวีความรุนแรงไปสู่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติบางคนกล่าวว่าเป็นสงครามกลางเมือง
ฟิลิปปินส์ตกลงที่จะรับตำแหน่งประธานกลุ่มภูมิภาคในปี 2569 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพเมื่อวันอังคาร (5) ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ ระบุในคำแถลง โดยอ้างถึงสิ่งที่เขาบอกกับเพื่อนผู้นำในการประชุดแบบปิด
“ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศว่าฟิลิปปินส์พร้อมที่จะรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2569” มาร์กอสกล่าวกับผู้นำอาเซียนในกรุงจาการ์ตา คำแถลงระบุ
คำแถลงอย่างเป็นทางการของอาเซียนที่ออกในคืนวันอังคาร (5) ยืนยันถึงการตัดสินใจที่จะส่งมอบตำแหน่งประธานให้ฟิลิปปินส์ในปี 2569 และยืนยันความมุ่งมั่นของกลุ่มต่อแผน 5 ข้อ เพื่อฟื้นฟูสันติภาพและเสถียรภาพในพม่า
มาร์กอสไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดพม่าถึงสูญเสียตำแหน่งประธานอาเซียนอันทรงเกียรติ แต่นักการทูตอาเซียน 2 คน บอกกับสำนักข่าวว่าเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่ยังคงดำเนินอยู่ในประเทศ และกลัวว่าความสัมพันธ์ของกลุ่มกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป และอื่นๆ อาจถูกบ่อนทำลาย เนื่องจากประเทศเหล่านั้นไม่ยอมรับรัฐบาลภายใต้การนำของทหารในพม่า
คำแถลงว่าด้วยพม่าของผู้นำอาเซียนย้ำถึงความปรารถนาที่จะทำงานกับนายพลเพื่อยุติวิกฤตของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของแผน 5 ข้อ ที่พม่ายอมรับในปี 2564 แต่ส่วนใหญ่ล้มเหลวที่จะดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้นำยังเรียกร้องให้กองทัพพม่าและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในพม่าลดความรุนแรงและยุติการโจมตีมุ่งเป้าไปยังพลเรือน บ้านเรือน และสถานที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด โบสถ์ และศาสนสถานต่างๆ
ด้านกระทรวงการต่างประเทศของพม่าปฏิเสธคำแถลงของอาเซียนโดยระบุว่าเป็นคำแถลงฝ่ายเดียวและมีอคติ และร้องเรียนว่าประเทศไม่มีตัวแทนในที่ประชุมสุดยอด ซึ่งละเมิดกฎบัตรของอาเซียน
“แม้ว่าประธานอาเซียนจะปรึกษาพม่าเกี่ยวกับร่างเอกสารดังกล่าว แต่ความคิดเห็นและเสียงของพม่าไม่ได้ถูกนำมาพิจารณา” กระทรวงการต่างประเทศพม่าระบุในคำแถลงที่ออกในกรุงเนปีดอ
ในขั้นตอนการลงโทษสำหรับความล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามแผนสันติภาพ นายพลระดับสูงของพม่าและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งของพวกเขาถูกห้ามเข้าร่วมการประชุมสุดยอดในปีนี้ในกรุงจาการ์ตาอีกครั้ง แม้จะมีคำแนะนำจากสมาชิกบางประเทศว่าพวกเขาควรได้รับอนุญาตให้กลับเข้าร่วมเนื่องจากการกีดกันไม่สามารถแก้ไขวิกฤตของประเทศได้
เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวว่า ผู้นำอาเซียนตัดสินใจที่จะยึดตามแผนสันติภาพ แม้จะมีการประเมินว่าแผนดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่ความคืบหน้าใดๆ ในการบรรเทาวิกฤตก็ตาม พวกเขาได้มอบหมายให้ 3 ประเทศ คือประธานกลุ่มปีก่อนหน้า ปีปัจจุบัน และปีถัดไป จัดการโดยตรงกับความไม่สงบของพม่า
ทั้งนี้ นายพลของพม่าจะยังคงถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของอาเซียน มาร์ซูดี กล่าว
กองกำลังความมั่นคงของพม่าได้สังหารพลเรือนไปแล้วประมาณ 4,000 คน และจับกุม 24,410 คน นับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจ ตามการระบุของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง
ความขัดแย้งรุนแรงอย่างต่อเนื่องในพม่าและการปะทุครั้งใหม่ในข้อพิพาทดินแดนในทะเลจีนใต้ที่คุกรุ่นมายาวนาน กลายเป็นประเด็นสำคัญในการหารือของกลุ่ม ในวันอังคาร (5)
ประเด็นปัญหาต่างๆ ยังรวมถึงการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนในภูมิภาค ที่สร้างความแตกแยกภายในอาเซียน ซึ่งประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ได้เรียกร้องความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว.