xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสูงพม่าไม่รับพิจารณาคำอุทธรณ์ของซูจีใน 5 คดีที่รัฐบาลทหารลดโทษให้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - ศาลฎีกาของพม่าปฏิเสธที่จะพิจารณาคำอุทธรณ์พิเศษจากอองซานซูจีต่อคำพิพากษาตัดสินโทษของเธอใน 5 คดี ที่หัวหน้าคณะรัฐบาลทหารได้ให้อภัยโทษเธอแล้วเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กฎหมายระบุ

แม้จะมีการอภัยโทษ แต่ทีมกฎหมายของซูจียังคงดำเนินกระบวนการอุทธรณ์เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเธอ เจ้าหน้าที่กฎหมายระบุ

การอุทธรณ์พิเศษ ที่ถูกศาลในกรุงเนปีดอปฏิเสธเมื่อวันอังคาร (29) ประกอบด้วยคดีความที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิด-19 การนำเข้าและครอบครองวิทยุสื่อสารอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงการปลุกระดม เจ้าหน้าที่ระบุ

คดีเหล่านี้ถูกตัดสินความผิดเป็นคดีแรกๆ หลังซูจีถูกจับกุมตัวเมื่อกองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.2564

ผู้สนับสนุนของเธอและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอิสระกล่าวว่าข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับซูจีนั้น ที่ส่วนใหญ่รัฐบาลทหารเป็นผู้ฟ้องร้องมีแรงจูงใจทางการเมืองในความพยายามที่จะทำลายชื่อเสียงของเธอ และทำให้การยึดอำนาจของทหารมีความชอบธรรม ขณะเดียวกันก็ขัดขวางไม่ให้เธอกลับเข้าสู่การเมืองอีก

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะรัฐบาลทหาร ออกคำสั่งอภัยโทษโดยลดโทษให้ซูจีสำหรับ 5 คดีที่เธอได้รับโทษจำคุกทั้งหมด 6 ปี ส่งผลให้ระยะเวลาจำคุกที่อดีตผู้นำพม่าวัย 78 ปี ได้รับจากเดิมรวมทั้งหมด 33 ปี จาก 19 คดี เหลือ 27 ปี สำหรับ 14 คดี

คำสั่งดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการอภัยโทษให้นักโทษมากกว่า 7,000 คน เนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนา

มีรายงานเมื่อเดือนก่อนว่า ซูจีอาจถูกย้ายไปกักบริเวณในบ้านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผ่อนผัน แต่รัฐบาลทหารยังไม่ยืนยันสิ่งนั้น เจ้าหน้าที่กฎหมายกล่าวว่าทนายความของซูจีส่งอาหารและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ให้เธอเมื่อวันจันทร์ ผ่านเจ้าหน้าที่จากเรือนจำเนปีดอ

เจ้าหน้าที่กฎหมายที่คุ้นเคยกับคดีที่ยื่นฟ้องซูจีกล่าวว่า ศาลกำหนดให้วันที่ 5 ก.ย. เป็นวันที่ศาลจะพิจารณาว่าจะยอมรับคำอุทธรณ์พิเศษอีก 6 คดี ที่ยื่นในนามซูจี เพื่อลดโทษหรือไม่ โดย 6 คดีนี้ รวมถึงข้อกล่าวหาที่ว่าเธอใช้อำนาจโดยมิชอบในการเช่าที่ดินและทรัพย์สินในกรุงเนปีดอและในย่างกุ้ง ในราคาที่ต่ำกว่าตลาดสำหรับมูลนิธิที่ตั้งชื่อตามแม่ของเธอที่เธอเป็นประธาน

การอุทธรณ์พิเศษมักเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการแก้ต่างในพม่า อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์พิเศษหรือศาลเต็มองค์คณะสามารถตรวจสอบคำอุทธรณ์ได้อีกครั้ง หากหัวหน้าผู้พิพากษาเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

การอุทธรณ์คำพิพากษาลงโทษของซูจีต่อข้อหาต่างๆ ที่รวมถึงการโกงเลือกตั้ง การละเมิดกฎหมายความลับทางการ และคดีทุจริตอื่นๆ อีก 6 คดี ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา

ทีมกฎหมายของเธอเผชิญกับอุปสรรคหลายอย่าง รวมถึงการไม่สามารถพบปะกับเธอได้ พวกเขาได้ยื่นขออนุญาตพบกับซูจีมาแล้ว 5 ครั้ง นับตั้งแต่พบเธอด้วยตนเองครั้งสุดท้ายในเดือน ธ.ค. แต่ไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ เจ้าหน้าที่กฎหมายระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น