ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ระบุวานนี้ (10 ก.ย.) ว่าตนได้มีโอกาสพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ของจีนในเวทีประชุมซัมมิต G20 ที่อินเดีย และเชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจที่จีนเผชิญอยู่ในเวลานี้จะทำให้การรุกรานไต้หวันเป็นไปได้ยากขึ้น
การพูดคุยครั้งนี้ถือเป็นการประชุมหารือระดับสูงสุดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในรอบเกือบ 10 เดือน หลังจากที่ ไบเดน เคยได้พบกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในการประชุม G20 ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว
หลี่ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งนายกฯ จีนเมื่อเดือน มี.ค. ได้รับมอบหมายให้ไปประชุมร่วมกับบรรดาผู้นำ G20 ที่กรุงนิวเดลีแทน สี จิ้นผิง และแม้ว่าคณะผู้นำจีนกับสหรัฐฯ จะไม่ได้มีการนัดหมายหารือล่วงหน้า แต่การพูดคุยแบบ “ไร้สคริปต์” ในเวทีซัมมิตนานาชาติก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ
“ทีมงานและเจ้าหน้าที่ของผมยังได้มีโอกาสพบกับเจ้าหน้าที่และคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดี สี... ผมได้พบกับผู้นำเบอร์ 2 ของเขาที่อินเดียในวันนี้” ไบเดน ระบุในงานแถลงข่าวที่กรุงฮานอยของเวียดนาม
ผู้นำสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า “เราได้หารือกันเกี่ยวกับเรื่องเสถียรภาพ” และกิจการในซีกโลกใต้ พร้อมย้ำว่า “มันไม่ใช่การเผชิญหน้าอะไรเลย”
ทำเนียบขาวแถลงยืนยันวานนี้ (10) ว่า ไบเดน ได้พูดคุยกับนายกฯ หลี่ ระหว่างการประชุม G20 จริง
สหรัฐฯ และจีนพยายามหาหนทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงอย่างหนัก หลังเกิดเหตุการณ์ “บอลลูนสอดแนมจีน” ลอยเข้าน่านฟ้าสหรัฐฯ เมื่อเดือน ก.พ. ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจจีนที่ยังคงชะลอตัวก็เป็นปัญหาที่สร้างความกังวลไม่น้อยต่อปักกิ่ง
ไบเดน คุยโวว่าสหรัฐฯ เป็นชาติที่มีเศรษฐกิจ “แข็งแกร่งที่สุดในโลก” และมองว่าการที่จีนเติบโตได้ช้าลงเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังคงอ่อนแอ และเกิดจาก “นโยบายของจีน” เองด้วย แต่ก็ไม่ระบุว่าหมายถึงนโยบายไหน
ผู้นำสหรัฐฯ ชี้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจของจีนอยู่ในขั้น “วิกฤต” โดยอ้างถึงความอ่อนแอของภาคอสังหาริมทรัพย์ และอัตราการว่างงานของคนวัยหนุ่มสาว
“หนึ่งในทฤษฎีหลักทางเศรษฐกิจของเขา (สี จิ้นผิง) มันไม่เวิร์กเลยในตอนนี้... ผมไม่ได้ดีใจนะ แต่ต้องยอมรับว่ามันไม่เวิร์ก” ไบเดน กล่าว พร้อมระบุว่า สี “กำลังเผชิญปัญหารุมเร้าเต็มไปหมด”
ในประเด็นไต้หวัน ผู้นำสหรัฐฯ เชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจจะไม่เป็นแรงกระตุ้นให้จีนตัดสินใจส่งทหารบุกไต้หวันเร็วๆ นี้
“ผมไม่คิดว่ามันจะทำให้จีนรุกรานไต้หวัน” ไบเดน กล่าว “ในทางตรงกันข้าม พวกเขาอาจไม่มีศักยภาพเทียบเท่ากับที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ”
ไบเดน ย้ำว่าสหรัฐฯ เป็นชาติมหาอำนาจในแปซิฟิก และไม่มีความคิดที่จะถอนตัวออกไปจากภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน
นายกฯ หลี่ ให้สัมภาษณ์ว่า จีนมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ได้ถึง 5% ในปี 2023 ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ การจับจ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง และอัตราการกู้ยืมโดยภาครัฐและเอกชน (credit growth) ที่ลดลง อาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจของจีนให้เติบโตได้ช้าลงด้วย
ที่มา : รอยเตอร์