รัฐบาลจีนเผยแพร่แผนที่ทางการฉบับใหม่ที่มีการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ รวมไปถึงดินแดนพิพาทบางส่วนในอินเดียและรัสเซีย นับเป็นความเคลื่อนไหวที่ทำให้เพื่อนบ้านในเอเชีย-แปซิฟิกออกมาส่งเสียงประท้วงระเบ็งเซ็งแซ่ และทำให้บรรยากาศในภูมิภาคยิ่งทวีความตึงเครียดขึ้นอีก
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของจีนได้ออกแผนที่มาตรฐานฉบับใหม่ โดยอธิบายว่าเป็นการแก้ไข “ข้อมูลที่ผิดพลาด” ในแผนที่ฉบับเดิม
แผนที่ฉบับนี้ยังคงมีการใช้ “เส้นประ 9 เส้น” กำหนดอาณาเขตน่านน้ำของจีนในทะเลจีนใต้ และมีการเพิ่ม “เส้นประที่ 10” เข้ามาในฝั่งตะวันออกของเกาะไต้หวัน
ในด้านตะวันออกเฉียงเหนือสุดที่ติดกับรัสเซีย แผนที่ฉบับใหม่ระบุว่าเกาะ Bolshoy Ussuriysky ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่บนจุดบรรจบของแม่น้ำ Amur และแม่น้ำ Ussuri เป็นดินแดนของจีน แม้ว่าปักกิ่งและมอสโกจะเคยทำข้อตกลงแบ่งปันพื้นที่เกาะคนละครึ่งเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนก็ตาม
ในส่วนของพรมแดนทางใต้ที่ติดกับอินเดีย ดินแดนรัฐอรุณาจัลประเทศ และที่ราบสูงดอกลัม (Doklam Plateau) ซึ่งทั้ง 2 ชาติมีข้อพิพาทกันอยู่ถูกระบุว่าเป็นเขตแดนของจีน เช่นเดียวกับดินแดนอัคไซจิน (Aksai Chin) ทางตะวันตกที่อินเดียอ้างกรรมสิทธิ์ แต่จีนควบคุมอยู่
การอ้างสิทธิครอบครองน่านน้ำส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ทำให้จีนต้องบาดหมางกับหลายประเทศในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ ซึ่งล้วนแต่มีอาณาเขตน่านน้ำทับซ้อนกับแผนที่ที่จีนอ้างทั้งสิ้น
จีนและอินเดียเคยมีการสู้รบชายแดนอย่างหนักในปี 1962 และข้อพิพาทเขตแดนยังนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างทหารอินเดียและจีนหลายพันนายที่ภูมิภาคลาดักห์นานถึง 3 ปี
เหตุปะทะบริเวณพื้นที่พิพาทเทือกเขาหิมาลัยเมื่อปี 2020 ยังทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิตไปถึง 20 นาย ขณะที่จีนสูญเสียกำลังพล 4 นาย
อินเดียเป็นประเทศแรกที่ออกมาคัดค้านแผนที่ฉบับใหม่ของจีน โดยระบุว่าเป็นการอ้างสิทธิที่ “ไม่มีมูล” พร้อมทั้งได้ยื่นหนังสือประท้วงผ่านช่องทางการทูตในวันอังคารที่ 29 ส.ค.
อารินดัม บักชี (Arindam Bagchi) โฆษกกระทรวงกิจการภายในของอินเดีย ระบุว่า “ความเคลื่อนไหวของจีนมีแต่จะทำให้กระบวนการคลี่คลายข้อพิพาทชายแดนยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น”
มาเลเซียเป็นประเทศต่อมาที่ออกมาปฏิเสธ “คำกล่าวอ้างฝ่ายเดียว” ของจีน พร้อมประกาศว่ากัวลาลัมเปอร์ไม่ยอมรับว่าแผนที่นี้ “มีผลผูกพันตามกฎหมาย” ซึ่งต่อมาเวียดนาม ไต้หวัน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็ได้ออกมาแถลงตอบโต้ในลักษณะเดียวกัน
รัฐบาลเวียดนามระบุว่า แผนที่ของจีน “ละเมิดอธิปไตยและเขตอำนาจศาล” ของเวียดนามเหนือหมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลีย์ และควรถูกประกาศให้เป็น “โมฆะ” เนื่องจากละเมิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea)
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลฮานอยได้สั่งแบนภาพยนตร์ Barbie ไม่ให้เข้าโรงฉาย เนื่องจากมีฉากที่ปรากฏภาพแผนที่เส้นประ 9 เส้นของจีนอยู่ นับเป็นเครื่องสะท้อนได้ดีว่าเวียดนามมองประเด็นอธิปไตยของชาติในทะเลจีนใต้เป็นเรื่องใหญ่โตเพียงใด
ไต้หวันซึ่งถูกจีนอ้างว่าเป็นดินแดนในอธิปไตยและเผชิญการคุกคามทางทหารหนักขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ปฏิเสธแผนที่เส้นประ 9 เส้น และไม่ยอมรับเรื่องที่ปักกิ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้เช่นเดียวกัน
หลายครั้งที่การอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนได้นำไปสู่เหตุกระทบกระทั่งที่รุนแรง ตัวอย่างเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ที่เรือยามฝั่งจีนใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงยิงสกัดเรือของฟิลิปปินส์ไม่ให้เข้าไปส่งเสบียงแก่ทหารที่ประจำการบนสันดอนพิพาท Second Thomas Shoal
กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ออกมาตอบโต้แผนที่ฉบับใหม่ของจีน โดยอ้างถึงคำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการที่กรุงเฮกเมื่อปี 2016 ที่ยืนยันว่า จีนไม่สามารถอ้างสิทธิทางกฎหมายหรือประวัติศาสตร์เหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ และยังรับรองสิทธิของฟิลิปปินส์ในการบริหารจัดการทรัพยากรภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลนับจากเส้นฐานชายฝั่ง
ในส่วนของรัสเซียแม้จะได้รับผลกระทบจากแผนที่ใหม่ของจีนเช่นกัน แต่ก็ยังคงสงวนท่าทีอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่พอคาดเดาได้เนื่องจากรัสเซียนั้นจำเป็นจะต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากจีนในสงครามยูเครน
ในการแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงรายละเอียดของแผนที่เส้นประ 9 เส้น รวมถึงเหตุผลที่จีนเพิ่มเส้นประเส้นที่ 10 ขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีหลังนี้ โดยเอ่ยแต่เพียงว่า “จุดยืนของจีนต่อประเด็นทะเลจีนใต้มั่นคงและชัดเจนเสมอมา”
หวัง ยังปฏิเสธที่จะตอบโต้เสียงวิจารณ์จากนานาชาติ โดยย้ำว่าจีนมีการอัปเดตข้อมูลเป็นประจำทุกปีเพื่อผลิตแผนที่ที่เป็นมาตรฐาน และเพื่อให้สาธารณชน “ได้เรียนรู้การใช้แผนที่อย่างถูกต้องตามกฎ”
รัฐบาลจีนมีการปรับปรุงแผนที่แห่งชาติอยู่เป็นประจำทุกปี และอาจเผยแพร่ในช่วงเวลาใดก็ได้ แต่กระนั้นนักวิเคราะห์มองว่า การที่จีนเลือกเผยแพร่แผนที่ฉบับใหม่ในช่วงที่มีการประชุมระหว่างประเทศต่อเนื่องติดๆ กันหลายเวที ตั้งแต่การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICS ที่แอฟริกาใต้เมื่อปลายเดือน ส.ค. การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา เรื่อยมาจนถึงการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่กรุงนิวเดลี ต้องถือว่ามีนัยสำคัญที่น่าจับตามองพอสมควร
ในการประชุมกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 22-24 ส.ค.ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์จีนและรัสเซียถูกมองว่ากระชับแน่นแฟ้นขึ้นเป็นพิเศษ หลังจากที่ประชุมโหวตรับข้อเสนอของปักกิ่งและมอสโกในการเชิญอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และอีก 4 ประเทศเข้าเป็นสมาชิกใหม่ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ยังได้เปิดเวทีหารือคู่ขนานเกี่ยวกับข้อพิพาทชายแดน และรับปากจะเพิ่มความพยายามในการลดความตึงเครียด
เนื่องจากจีนมีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้อยู่กับกลุ่มชาติอาเซียนเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งอินเดียเองก็เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม G20 การออกแผนที่ฉบับใหม่ในช่วงเวลานี้จึงถูกตีความว่าจีนกำลังส่งสัญญาณบอกว่าพวกเขาไม่คิดที่จะลดราวาศอกในเรื่องอธิปไตยของชาติ และต้องการย้ำเตือนให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาครับรู้ถึงจุดยืนนี้ด้วย