"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
เครือข่ายชนชั้นนำอำนาจเก่ากำหนดเป้าหมายและวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อสกัดมิให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล พวกเขาประสบชัยชนะในขั้นต้นที่สามารถทำลายโอกาสการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 แผนขั้นต่อไปในระยะสั้นคือ การทำให้พรรคก้าวไกลเป็นพรรคฝ่ายค้าน ในระยะถัดไปคือการตัดสิทธิทางการเมืองของนายพิธา และตามมาด้วยการยุบพรรคก้าวไกล หากแผนของกลุ่มอำนาจเก่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย สังคมไทยจะมีแนวโน้มเดินไปสู่วิกฤติการณ์ครั้งใหญ่
ช่วงต้นสัปดาห์ก่อนการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคม คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมสามวันติดต่อกันเกี่ยวกับการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา และส่งเรื่องแก่ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 12 กรกฎาคม เมื่อศาลรับเรื่องก็เท่ากับเป็นการสร้างปมปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายพิธา ทำให้กลุ่ม สว. ที่เป็นปรปักษ์กับพรรคก้าวไกลสามารถนำเรื่องนี้ไปอภิปรายในรัฐสภา ส่งผลให้ สว.บางส่วนที่เคยคิดว่าจะลงคะแนนให้นายพิธาเปลี่ยนใจเป็นงดออกเสียง และบางส่วนก็ไม่มาประชุม
ถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรี นายพิธาได้รับเสียงสนับสนุน 324 เสียง มาจาก สว. เพียง 13 เสียง ขณะที่ สว.ส่วนใหญ่งดออกเสียง และมี 34 คนที่ลงมติไม่เห็นชอบ เสียงที่นายพิธาได้รับไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา จึงยังไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เหตุผลที่ สว. หยิบยกมาอ้างในการลงมติไม่เห็นชอบและงดออกเสียงคือ การที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และการที่นายพิธายังมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติที่ถูกยื่นไปพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญ
แต่เหตุผลทั้งสองน่าจะเป็นเหตุผลที่หยิบยกขึ้นมาบังหน้า หรืออย่างดีก็เป็นเหตุผลเพียงส่วนหนึ่งมากกว่าเป็นเหตุผลที่แท้จริงทั้งหมด มีความเป็นไปได้ว่าเหตุผลที่แท้จริงอื่น ๆ ที่ถูกซ่อนไว้อยู่เบื้องหลัง อันได้แก่ความหวาดกลัวของกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มทุนผูกขาด กลุ่มทหาร และกลุ่มนักการเมืองต่อนโยบายต่าง ๆ ของพรรคก้าวไกล
ในกรณีกลุ่มอำนาจเก่า พรรคก้าวไกลมีนโยบายในการตรวจสอบและลดการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินแก่องค์กรกลไกของกลุ่มอำนาจเก่าจำนวนมาก กรณีกลุ่มทหาร พรรคก้าวไกลมีนโยบายในการปฏิรูปกำลังพลของกองทัพ การลดจำนวนนายพล ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และการนำทรัพย์สินของแผ่นดินที่ทหารนำไปประกอบธุรกิจกลับคืนมาสู่กระทรวงการคลัง กรณีกลุ่มทุนผูกขาด พรรคก้าวไกลจะใช้นโยบายขจัดการผูกขาดทางด้านพลังงาน โดยการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และนโยบายขัดการผูกขาดในการผลิตเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ กรณีกลุ่มการเมืองแบบบ้านใหญ่ พรรคก้าวไกลจะนำนโยบายการบริหารประเทศแบบธรรมาภิบาลมาใช้อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้นักการเมืองเหล่านั้นไม่อาจทุจริตได้อย่างง่ายดายอีกต่อไป
นอกเหนือจากเหตุผลข้างต้นแล้ว จากหลักฐานข้อความทางไลน์กลุ่มของ สว. ยังบ่งชี้ว่า มีกลุ่มอำนาจมืดที่แฝงอยู่ในกลุ่ม สว.ปฏิบัติการณ์ข่มขู่ คุกคาม และเสนออามิสสินจ้างแก่ สว. บางคน เพื่อทำให้ สว. เหล่านั้นที่คิดว่าจะลงมติให้นายพิธาถอนตัวจากการสนับสนุน ดังเห็นได้จาก การที่ สว.จำนวนหลายคน ซึ่งก่อนวันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเคยประกาศว่าจะลงมติให้นายพิธา ตามหลักการที่ว่า หัวหน้าพรรคการเมืองใดที่สามารถรวบนวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ พวกเขาจะลงมติสนับสนุนหัวหน้าพรรคนั้น บรรดา สว. เหล่านี้กลับไม่เข้าประชุมรัฐสภา และบางคนก็เปลี่ยนใจไปลงมติงดออกเสียงแทน
หลังการลงมติ ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลได้ใช้มาตรการทางสังคมตอบโต้ สว. ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ ประณาม และการบอยคอตธุรกิจของ สว. อย่างกว้างขวาง ซึ่งสร้างผลกระทบแก่ สว. จำนวนมากขณะเดียวกันก็มีประชาชนจำนวนหนึ่งเริ่มจัดการชุมนุมประท้วง สว. และกลุ่มอำนาจเก่า อย่างไรก็ตาม จำนวนประชาชนที่เข้าร่วมการประท้วงยังมีไม่มากนัก นั่นอาจเป็นเพราะว่า ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลยังมีความหวังอยู่ว่า นายพิธา จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อลงมติอีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคม และหลายคนคาดหวังว่านายพิธา ยังมีโอกาสที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่บ้าง แม้ว่าจะลางเลือนก็ตาม
ในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง กลุ่มอำนาจมืดใน สว. ได้วางแผนเพื่อหยุดยั้งการเสนอชื่อนายพิธาต่อไป โดยหยิบยกข้อบังคับการประชุมข้อ 41 ขึ้นมาอ้างว่า การเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 เป็นญัตติทั่วไป เมื่อเป็นญัตติก็ไม่อาจเสนอญัตติที่มีหลักการเดียวกัน ที่ตกไปแล้วซ้ำได้ ยกเว้นแต่ประธานรัฐสภาอนุญาต เมื่อพิจารณาว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป
ก่อนการประชุมฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้ข้อเสนอแนะต่อประธานสภาว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องการเสนอตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่ญัตติทั่วไป ขณะที่ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเห็นว่าเป็นญัตติทั่วไป เมื่อมีความเห็นแย้งกัน ประธานสภาไม่อาจตัดสินใจได้ว่าเป็นญัตติหรือไม่ จึงเลือกที่จะให้มีการอภิปรายเรื่องนี้ในรัฐสภาและให้สมาชิกรัฐสภาลงมติเพื่อตัดสินใจแทน
ผลการลงมติปรากฎว่า สส.ที่สังกัดพรรครัฐบาลประยุทธ์ร่วมมือกับ สว. ลงมติว่า การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติ โดยชนะด้วยเสียง 394 ต่อ 312 เสียง ประธานรัฐสภาจึงห้ามมิให้เสนอชื่อนายพิธาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 กรกฎาคม และตลอดสมัยการประชุมนี้ ในวันเดียวกัน ช่วงประมาณบ่าย ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติ 7 ต่อ 2 เพื่อรับพิจารณาเรื่องการร้องเรียนเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อของนายพิธา และสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ทำให้นายพิธา ที่กำลังนั่งประชุมอยู่ลุกขึ้นมายืนประกาศรับทราบคำสั่งและเดินออกจากห้งอประชุมรัฐสภา ท่ามกลางเสียงปรบมือให้กำลังใจอย่างกึกก้องของเหล่า สส.
คำถามคือ ทำไม กลุ่มอำนาจมืด สว. ต้องการใช้ข้อบังคับที่ 41 เป็นเครื่องมือในการหยุดยั้งการเสนอชื่อนายพิธา
มีเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ
ประการแรก พวกเขาต้องการวางกรอบสำหรับบีบบังคับพรรคเพื่อไทยให้แยกตัวจากพรรคก้าวไกลโดยเร็ว ด้วยพวกเขาเข้าใจว่า เมื่อการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติ แล้วก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับการประชุมข้อ 41 ที่ไม่อาจเสนอซ้ำได้หากญัตตินั่นตกไป ซึ่งจะทำให้พรรคเพื่อไทยต้องรีบสลัดพรรคก้าวไกลออกไปจากการจัดตั้งรัฐบาล และนำพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิมที่พวกเขาสนับสนุนเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลแทน เพื่อแลกกับการสนับสนุนของพวกเขาในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
ประการที่สอง ไม่ต้องการโหวตลงมตินายพิธา เป็นครั้งที่สอง ทั้งที่สามารถลงมติไม่เห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก เพราะพวกเขาได้รับบทเรียนจากการโหวตครั้งแรกว่า การลงมติไม่เห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีไปกระตุ้นความโกรธเคืองแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก และทำให้ประชาชนตอบโต้และบอยคอตพวกเขาอย่างเข้มข้น
แต่การกระทำของกลุ่มอำนาจมืดใน สว. และ สส. พรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้ทำลายและสร้างความเสียหายแก่รัฐธรรมนูญ หลักนิติธรรม และหลักกฎหมายของประเทศไทยอย่างยับเยิน เพราะพวกเขาทำให้ข้อบังคับการประชุมอยู่เหนือรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ผลที่ตามมาคือบรรดาคณาจารย์นิติศาสตร์ที่สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ และสมาคมทนายแห่งประเทศไทยต่างพากันตกตะลึงกับการกระทำของสมาชิกรัฐสภาเหล่านั้น และแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวาง และเห็นว่าการกระทำของสมาชิกรัฐสภา 394 คนไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเสนอให้ผู้ถูกละเมิดคือ นายพิธา ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า การกระทำของสมาชิกรัฐสภา 394 คน และประธานรัฐสภาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 213 หรือไม่ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การกลั่นแกล้งผู้อื่นอย่างย่ามใจในอำนาจ ก็จะต้องชดใช้และรับผิดชอบผลสืบเนื่องในสิ่งที่กระทำเอาไว้
ขณะเดียวกันประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ก็ได้นัดหมายชุมนุมอย่างเร่งด่วนในคืนวันเดียวกัน เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำของของสมาชิกรัฐสภา 394 คน และการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ สส. ของนายพิธา ผู้เข้าร่วมชุมนุมมีปริมาณมากขึ้นจากการชุมนุมครั้งเดิม และจะมีการนัดชุมนุมใหม่อีกครั้งในช่วงเวลาถัดไป ซึ่งคาดว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมจะมีเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะความคับแค้นใจของประชาชนที่เกิดจากการกระทำของ กกต. กลุ่มอำนาจมืด สว. สส.พรรคร่วมรัฐบาลเดิม และศาลรัฐธรรมนูญ ได้สั่งสมอย่างต่อเนื่องในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในช่วงสัปดาห์ถัดไป สถานการณ์ที่จะเป็นการเพิ่มเชื้อเพลิงให้กับเปลวไฟแห่งวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นมีสองสถานการณ์หลัก สถานการณ์แรกคือ มีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทยอีกครั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม และถูกคว่ำด้วยกลุ่มอำนาจมืด สว. สถานการณ์ที่สองคือ การที่พรรคเพื่อไทยสลับขั้วในการจัดตั้งรัฐบาล และนำพรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐเข้ามาร่วมรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล ขณะเดียวกันก็สลัดพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน หากสองสถานการณ์นี้เกิดขึ้น ความขัดแย้งทางการเมืองไทยก็จะทวีความเข้มข้นมากขึ้น
ยิ่งกว่านั้นในระยะถัดไปหลังจากนี้อีก 2-3 เดือน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิทางการเมืองของนายพิธา และตามมาด้วยการยุบพรรคก้าวไกล โอกาสที่ความขัดแย้งในสังคมไทยจะพัฒนาเป็นวิกฤติเชิงโครงสร้างมีมากขึ้น และอาจจบลงด้วยฉากทัศน์สองประการ ประการแรกคือ การนองเลือด ประชาชนถูกปราบปราม จับกุม และสังหาร และประเทศเข้าสู่ยุคมืดภายใต้เผด็จการของกลุ่มอำนาจดั้งเดิม หรือประการที่สอง อาจมีการนองเลือด แต่จะจบลงด้วยการที่โครงสร้างอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบเดิมล่มสลาย และมีการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าขึ้นมา