xs
xsm
sm
md
lg

ความขัดแย้งด้อมส้มกับเสื้อแดง สัมพันธ์ที่ไม่ยั่งยืนของก้าวไกล-เพื่อไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

 หลังพลาดท่าเสียเก้าอี้ประธานสภาที่มั่นหมายให้พรรคประชาชาติตามเกมของพรรคเพื่อไทยไปแล้วก็คาดว่า เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็น่าจะไปไม่ถึงเป้าหมายอีก พูดกันตามตรงพรรคประชาชาติก็คือ พรรค nitch market ของพรรคเพื่อไทยใน 3 จังหวัดใต้นั่นแหละ พรรคประชาชาติจึงเป็นเนื้อเดียวกับพรรคเพื่อไทยนั่นเอง


ดูเหมือนว่าพรรคก้าวไกลก็ไม่อยากจะให้เสียเก้าอี้ประธานสภาไปฟรีๆ ก็เลยมีการต่อรองให้มีการนิรโทษกรรมทางการเมือง การปฏิรูปกองทัพที่เคยตกลงกันไม่ได้ในเอ็มโอยู 8 พรรคร่วมเข้ามา แต่สุทิน คลังแสงแกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยบอกว่าการนิรโทษกรรมและการปฏิรูปกองทัพที่แถลงพ่วงกับการยอมให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภานั้นเป็นการสอดใส้ของพรรคก้าวไกล

แน่นอนว่า การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลนั้นก็ต้องการช่วยเหลือกลุ่มคนรุ่นใหม่พวกกลุ่มทะลุต่างๆ ที่ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะคดีตามมาตรา112 แต่ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยบอกว่า การนิรโทษกรรมจะต้องไม่มีมาตรา 112 นี่น่าจะเป็นอีกความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาล 2 พรรคใหญ่ที่จะรอวันปะทุต่อไป

อย่างน้อยความพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล ถ้ามองจากมุมมวลชนของพวกเขาที่ร่วมต่อสู้กันมาก็ต้องยอมรับว่า พรรคก้าวไกลไม่ทอดทิ้งมวลชนพยายามจะช่วยเหลือเรื่องราวทางคดีความ ต่างกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ปล่อยให้มวลชนที่ต่อสู้มาในฝั่งเดียวกันต้องเผชิญคดีความตามลำพัง โดยพล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าให้ว่าไปตามกฎหมาย ผู้ชุมนุมกปปส.จึงถูกศาลจำคุกคนละหลายปีแต่ถ้าพรรคก้าวไกลผลักดันนิรโทษสำเร็จกปปส.หรือกลุ่มอื่นก็จะได้อานิสงส์ไปด้วย

แต่ประเด็นสำคัญคือ หากมีคดี 112 ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนพ่วงอยู่ในนิรโทษกรรมด้วยก็อาจทำให้ไม่สามารถผลักดันการนิรโทษกรรมได้สำเร็จก็ได้

 อย่างไรก็ตามก็เริ่มจะเห็นรอยร้าวความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคใหญ่คือพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่มวลชนสองฝั่งเริ่มจะมีความระหองระแหงกัน โดยเฉพาะมวลชนของพรรคก้าวไกลที่ไม่ค่อยจะพอใจท่าทีของพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะในการไม่ยอมให้คนของพรรคก้าวไกลนั่งประธานสภาทั้งที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคอันดับ 1 เหตุผลสำคัญที่สุดก็คือ พระหลายพรรษาไม่ยอมให้สามเณรเป็นเจ้าอาวาสนั่นแหละ เพราะสุดท้ายพรรคเพื่อไทยก็ยอมให้นายวันนอร์เป็นประธานสภาก็คงด้วยความอาวุโสและพรรษาทางการเมืองนั่นเอง แม้พรรคประชาชาติจะมีเพียง 7 เสียงก็ตาม

เรื่องนี้เกิดความขัดแย้งในหมู่กองเชียร์สองฝั่ง โดยเฉพาะ นายอธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง ประชาไท ที่เชียร์พรรคก้าวไกลสุดลิ่มออกมาตีอกชกลมโจมตีพรรคเพื่อไทยและกองเชียร์ของพรรคเพื่อไทยอย่างหนัก

ตอนนี้ก็รอดูว่าการพยายามสร้างรัฐบาลร่วมของฝั่งอ้างว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย จะสำเร็จหรือไม่ยังไม่รู้ แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะพยายามแสดงความจริงใจว่าจะผลักดันพิธาไปสู่เป้าหมายนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคเพื่อไทยน่าจะรู้อยู่ลึกๆ แล้วว่า พิธาน่าจะไม่ผ่านด่านส.ว.

 ก็รอดูว่าหากพิธาไม่ผ่านด่านส.ว.ในรอบแรกจะเสนอชื่อพิธาต่อไปเรื่อยๆ แล้วปล่อยให้รัฐบาลประยุทธ์รักษาการต่อไปเรื่อยๆ เพื่อซื้อเวลาให้ส.ว.หมดอายุในเดือนพฤษภาคมปีหน้าไหม แต่ก็เชื่อกันว่าไม่น่าจะลากไปนานขนาดนั้นได้ เพราะแค่พิธาโหวตไม่ผ่านในครั้งแรก พรรคเพื่อไทยก็มีความชอบธรรมที่จะพลิกกลับมาเป็นแกนนำรัฐบาลแล้ว และพรรคเพื่อไทยก็คงไม่ปล่อยให้โอกาสนี้เนิ่นนานไป

การจัดตั้งรัฐบาลโดยร่วมมือกับพรรคก้าวไกลนั้น พรรคเพื่อไทยไม่มีทางเลือกไปมากกว่านี้ เพราะด้านหนึ่งถูกมวลชนกดดันว่าจะต้องร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยกันกับพรรคที่มาจากฝั่งประชาธิปไตยไม่มีทางเลือกอื่น อ้างกันว่าเป็นการคลุมถุงชนของประชาชน พรรคเพื่อไทยจึงต้องเล่นบทบาทนี้ไปให้ถึงที่สุด หากพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วนั่นแหละจึงจะเป็นโอกาสของพรรคเพื่อไทย ถึงตอนนั้นสถานการณ์ก็จะบีบกลับไปที่พรรคก้าวไกลว่าจะยอมร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยหรือไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน

ต้องยอมรับว่าในอนาคตพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะต้องเป็นคู่แข่งกันกันทางการเมือง จริงๆ แล้วพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2นั่นจะไม่ค่อยจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล เพราะมองว่าเป็นคู่แข่งกันกันแต่ครั้งนี้ก็อย่างที่ว่ามาว่ามวลชนของสองฝั่งนั้นต่างบีบพรรคฝั่งตัวเองให้จับมือกันจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ทั้งสองพรรคจึงไม่มีทางเลือกมากนัก

แต่ต้องปล่อยให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลแล้วทำไม่สำเร็จนั่นแหละพรรคเพื่อไทยจึงมีความชอบธรรมที่จะกลับมาจัดตั้งรัฐบาล และหากถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้วพรรคก้าวไกลไม่ร่วมด้วยพรรคเพื่อไทยก็สามารถชักชวนพรรคการเมืองอื่นเข้าร่วมได้เพราะพรรคเพื่อไทยมีเงื่อนไขที่เปิดกว้างกว่าพรรคก้าวไกลที่หากไปชวนพรรคการเมืองอีกฝั่งก็จะถูกด้อมส้มโจมตีดังที่เคยเกิดกับการชวนพรรคชาติพัฒนากล้าเข้าร่วมรัฐบาลมาแล้ว

 ลึกๆ แล้วถามว่าพรรคเพื่อไทยอยากจะร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลโดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำและพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีไหม ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยก็ไม่น่าจะยินดีนัก เพราะทั้งสองพรรคจะต้องเป็นพรรคที่ขับเคี่ยวแข่งขันกันในอนาคต หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลกินน้ำใต้ศอกพรรคก้าวไกลถ้าพรรคก้าวไกลทำดีบริหารประเทศได้ดี การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคก้าวไกลก็จะได้ส.ส.มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อตั้งอยู่บนฐานเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็จะต้องได้ส.ส.น้อยลง ยากที่จะฟื้นกลับมาชนะพรรคก้าวไกลได้

แต่หากพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำรัฐบาลแล้วไม่สามารถบริหารประเทศหรือทำตามนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชนในตอนหาเสียงเลือกตั้งได้เลย พรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็จะพลอยได้รับผลเสียไปด้วย ดังนั้นพรรคเพื่อไทยย่อมจะต้องมองว่า อย่างไรเสียในครั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะต้องเป็นแกนนำรัฐบาลให้ได้ หากไปรอครั้งหน้าก็ไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเป็นแกนนำรัฐบาลไหม

ส่วนที่กลัวกันว่า หากพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาลในครั้งนี้ ครั้งหน้าจะได้เลือกตั้งเข้ามามากขึ้น ก็เป็นเรื่องของอนาคตที่จะรับมือกันไป แต่พรรคเพื่อไทยก็คงแอบหวังว่า หากฝั่งตัวเองได้เป็นรัฐบาลแล้วสามารถบริหารได้ดีไม่ซ้ำรอยรัฐบาลในอดีตที่มีบทเรียนมาแล้วก็อาจจะสร้างความนิยมให้กับพรรคได้

 ผมจึงเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยจะต้องเล่นบทบาทของพระเอกที่จะส่งพิธาไปให้สุดทาง เพื่อรอคอยความชอบธรรมที่จะเป็นของตัวเอง เมื่อพิธาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

วันนี้พรรคเพื่อไทยรู้ดีแล้วว่า คู่แข่งของตัวเองในอนาคตคือพรรคก้าวไกลไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ที่ค่อยสาละวันเตี้ยลงหรือพรรคอื่นที่น่าจะเป็นพรรคเฉพาะกิจอย่างพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้แบ่งสีเสื้อแยกฝ่ายกันชัดเจนแล้วระหว่างส้มกับแดง มวลชนฮาร์ดคอร์ที่เคยแฝงตัวในเสื้อแดงแต่มีเป้าหมายเพื่อลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นชัดเจนแล้วว่าย้ายไปอยู่ฝั่งเสื้อส้มหมดแล้ว ดังนั้นในอนาคตพรรคเพื่อไทยจะต้องเป็นพรรคที่ต้านทานพวกที่มีแนวคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ในฝั่งเสื้อส้ม ในอนาคตพรรคเพื่อไทยก็จะถูกผลักไปให้ยืนอยู่ในฝั่งอนุรักษนิยมและจะต้องแข่งขันกันอย่างเข้มข้นกับพรรคก้าวไกล

การเมืองในอนาคตจะแข่งขันกันสองพรรคใหญ่คือพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล โดยมีพรรคอื่นๆ เป็นตัวประกอบ พรรคชาติไทยพัฒนาเมื่อหมดทายาทของบรรหาร ศิลปอาชาก็ค่อยหายไป พรรคประชาธิปัตย์แม้จะเป็นสถาบันที่ยืนหยัดอยู่ได้ แต่ก็ยากที่จะฟื้นขึ้นมาในช่วงอายุนี้และต้องไปหาจุดยืนและจุดขายของตัวเองมาให้ได้

ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะไม่ใช่แค่ไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลเป็นประธานรัฐสภาเท่านั้นลึกๆ แล้วพรรคเพื่อไทยก็ไม่อยากให้พรรคก้าวไกลที่จะเป็นคู่ต่อสู้ของตัวเองได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วย เพราะถ้าไม่ช่วงชิงเสียแต่ครั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสอีกเมื่อไหร่

เชื่อว่าพรรคก้าวไกลก็รู้นั่นแหละว่า บทบาทที่พรรคเพื่อไทยเล่นอยู่นั้นเป็นอย่างไร แต่พรรคก้าวไกลก็ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะเป็นพรรคที่ไม่มีเพื่อนแม้จะมีมวลชนอุ้มชูอยู่ 14ล้านเสียงก็ไม่มีความหมายหากไม่มีมิตรในสภาเลย

 พิธาเองก็น่าจะรู้นั่นแหละว่าตัวเองมีความหวังแค่ไหน สิ่งที่ทำอยู่ก็คือการพยายามทำให้สังคมเห็นว่า ตัวเองนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30ไปแล้ว ปลุกปั่นให้มวลชนคล้อยตามไปเพราะถ้าสุดท้ายไม่สำเร็จแล้ว ก็หวังจะปลุกมวลชนให้ลงถนนนั่นเอง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น