“ก้าวไกล” กระอัก ถูกหลอกหนุน “วันนอร์” นั่งประธานสภา ด้าน “รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย” ตีมึนไม่เคยเห็นข้อตกลง ยันเพื่อไทยชัดเจนแต่ต้น ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนิรโทษกรรม ดับฝันช่วย “ธนาธร-ปิยะบุตร-แกนนำเยาวชน” พ้นคดี 112 ด้าน “รศ.ยุทธพร” ชี้หากประธานสภาไม่เซ็นอนุมัติก็เสนอแก้กฎหมายไม่ได้ ขณะที่แนวคิดใช้ “สภาเยาวชน” เดินเกมการเมืองแทน ส.ส.ก้าวไกล ส่อชวดเช่นกัน อีกทั้งไร้ความหวังดัน “พิธา” นั่งนายกฯ เหตุ “วันนอร์” ระบุ เสนอโหวตพิธาแค่ 2 ครั้ง
ศึกชิงตำแหน่งประธานสภาครั้งนี้เรียกได้ว่าก้าวไกลพ่ายหมากกลของเพื่อไทยแบบหมดรูป เพราะนอกจากพรรคก้าวไกลจะไม่ได้เป็นประธานสภา โดย “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ต้องกลืนเลือดแถลงยกตำแหน่งให้ “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ นั่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแทนแล้ว ยังมีแนวโน้มว่าข้อตกลงเรื่องการผลักดัน “กฎหมายนิรโทษกรรม” แลกกับการยกที่นั่งประธานสภาให้พรรคร่วม MOU นั้นน่าจะสูญเปล่า เสียเก้าอี้ประธานสภาไปฟรีๆ โดยไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับมาเลย
และไม่ใช่แค่เรื่องนิรโทษกรรมเท่านั้น แต่ยังมีผลให้หลายนโยบายของก้าวไกลไปไม่ถึงฝัน ส่อแท้งกลางทาง แม้แต่การโหวตเลือกนายกฯ ตามกลยุทธ์ที่ก้าวไกลวางไว้ไม่สามารถทำได้ เพราะหากดูจากท่าทีของพรรคร่วมแล้ว ไม่มีใครตอบรับสิ่งที่ก้าวไกลต้องการเลย
เริ่มจากคำแถลงในการแสดงวิสัยทัศน์ของ “นายวันนอร์” ซึ่งประกาศว่า จะน้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่สมาชิกรัฐสภามาเป็นแนวทางปฏิบัติ และจะทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางทางการเมือง ส่วนการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งพรรคร่วมจะเสนอชื่อนายพิธา นั้นในฐานะประธานสภาจะเสนอโหวต 2 ครั้ง แต่มากกว่านั้นทำไม่ได้
“อย่างน้อยต้องมีโหวตเลือก 2 ครั้ง มากกว่านั้นไม่กล้าจะคิดไปเพราะเราต้องเคารพสมาชิกสภาบ้าง หากเราทำตามใจเราแล้วสมาชิกไม่ร่วมมือ เขาไม่มาประชุมมันก็ประชุมไม่ได้ มันไม่ขึ้นกับว่าประธานอยากจะจัดกี่ครั้ง มันขึ้นกับความร่วมมือกันของสมาชิก” นายวันนอร์ กล่าว
เนื่องจากชัดเจนแล้วว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะโหวตให้นายพิธา เป็นนายกฯ ซึ่งจะส่งผลให้เสียงสนับสนุนนายพิธา ที่มีแค่ 8 พรรคร่วม ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 376 เสียง ทางหนึ่งที่พูดกันว่าก้าวไกลอาจแก้เกมได้ก็คือโหวตเลือกนายพิธา ไปเรื่อยๆ จนกว่า ส.ว.ชุดนี้จะหมดวาระในเดือน พ.ค.2567 แต่เมื่อนายวันนอร์ พูดชัดว่าเสนอโหวตนายพิธาได้แค่ 2 ครั้ง ก็แปลว่านายพิธา หมดโอกาสที่จะเป็นนายกฯ
ด้าน รศ.ยุทธพร อิสรชัย อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า สำหรับการโหวตเลือกนายกฯ ยัง 50 : 50 เป็นไปได้ทุกทาง เพราะแม้ก้าวไกลจะไม่ได้ตำแหน่งประธานสภา แต่ยังได้เก้าอี้รองประธานสภา โดย 8 พรรคร่วมโหวตให้ครบ 312 เสียง ซึ่งสะท้อนว่า 8 พรรคร่วมมีเอกภาพมากกว่าขั้วอำนาจเดิม แต่การโหวตเลือกนายกฯ ยังมีด่านสำคัญคือ ส.ว. ซึ่งหากก้าวไกลได้ไม่ถึง 376 เสียง โอกาสที่นายพิธาจะเป็นนายกฯ คงจะยาก
“แนวคิดที่จะให้ประธานสภาสั่งให้โหวตชื่อนายพิธาไปเรื่อยๆ จนกว่า ส.ว.ชุดปัจจุบันจะหมดวาระนั้นในทางกฎหมายสามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติเชื่อว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะหากโหวตไปเรื่อยๆ ประเทศพังแน่ หากโหวตชื่อนายพิธาไปเรื่อย จะเกิดคำถามต่อพรรคก้าวไกลว่าระหว่างผลประโยชน์ของพรรคกับผลประโยชน์ของประเทศ อะไรสำคัญกว่า ในขั้วรัฐบาลเดิมอาจจะเสนอชื่อใครขึ้นมาแข่ง แล้วโหวตม้วนเดียวจบก็ได้ เพราะมีเสียง ส.ว.หนุนอยู่ หรือหากเพื่อไทยเห็นว่าโหวตให้นายพิธา หลายครั้งแล้วไม่ผ่าน อาจจะย้ายไปจับกับขั้วรัฐบาลเดิม แต่เพื่อไทยต้องตอบคำถามประชาชนในเรื่องความชอบธรรมให้ได้” รศ.ยุทธพร ระบุ
อย่างไรก็ดี แม้นายพิธา จะไม่ได้เป็นนายกฯแต่ก้าวไกลยังหวังว่าอย่างน้อยนโยบายที่ตั้งใจไว้อย่าง “การออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ” จะได้รับการผลักดันจากพรรคร่วมตามข้อตกลงในการเสนอชื่อนายวันนอร์เป็นประธานสภา แต่ก้าวไกลต้องตื่นจากฝันเพราะหากฟังสุ้มเสียงจากผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยอย่าง นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ล่าสุดออกมาบอกว่า
“เพื่อไทยไม่ได้ดูรายละเอียดในคำแถลงการณ์ที่มีเรื่องนิรโทษกรรมและการปฏิรูปกองทัพอยู่ด้วย แต่พรรคเพื่อไทยเคยแสดงความเห็นไปแล้วว่าเรื่องการนิรโทษกรรมหากอยู่ใน MOU ไม่เหมาะสมและไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดี จะไม่เป็นปัญหาถึงขั้นต้องตกลงกันใหม่ เพราะคำแถลงการณ์คุยกันได้ตามสถานการณ์ และคงต้องพูดคุยกันอีกเล็กน้อย เพราะเจตนารมณ์ของเรายืนยันชัดเจนตั้งแต่ทำ MOU” นายสุทิน กล่าว
จากข้อความดังกล่าวชัดเจนว่าเพื่อไทยจะไม่สนับสนุนการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และอาจรวมถึงการปฏิรูปกองทัพด้วย ซึ่งแปลว่าการที่ก้าวไกลยอมสละเก้าอี้ที่ประธานสภาซึ่งยื้อแย่งกับเพื่อไทยมายาวนานนั้นก้าวไกลไม่ได้อะไรเลย!
และข้อสงสัยที่ว่าเหตุใดนายพิธา และ ส.ส.พรรคก้าวไกลซึ่งเดินทางไปร่วมประชุมพรรคในวันที่ 3 ก.ค.2566 ต่างมีสีหน้าเคร่งเครียดตลอดวัน ก่อนที่ช่วงเย็นนายพิธาและแกนนำพรรคร่วมจะตั้งโต๊ะแถลงว่าพรรคร่วมจะเสนอชื่อนายวันนอร์ เป็นประธานสภา ก็มาเฉลยหลังจากที่ทั้งพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยต่างออกมาอธิบายถึงที่มาที่ไปในการเสนอชื่อนายวันนอร์ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าแท้จริงแล้วคนที่เสนอชื่อนายวันนอร์ ไม่ใช่ก้าวไกลอย่างที่มีข่าวออกมาในช่วงแรก โดยนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่าพรรคก้าวไกลเป็นผู้ส่งเทียบเชิญนายวันนอร์ แต่เป็นพรรคเพื่อไทยที่ไปคุยกับก้าวไกล โดยมีรายงานข่าวจากที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่า ที่ประชุมเห็นชอบเสนอชื่อคนกลาง คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ชิงตำแหน่งประธานสภา จากนั้นให้คณะเจรจาไปประสานพูดคุยกับทางพรรคก้าวไกล
ซึ่งหมายความว่าเพื่อไทยเป็นคนเลือกนายวันนอร์ ขณะที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถปฏิเสธข้อเสนอของเพื่อไทยได้ ทางก้าวไกลจึงต้องไปส่งเทียบเชิญนายวันนอร์ เพราะแม้ก้าวไกลจะเป็นพรรคที่มีคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งแต่หากไม่ยอมแบ่งอะไรให้พรรคร่วมเลย เพื่อไทยซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าอาจจะย้ายไปจับขั้วกับพรรคอื่น ทิ้งให้ก้าวไกลกลายเป็นฝ่ายค้าน อีกทั้งอย่าลืมว่านายวันนอร์นั้นมีความสนิมสนมกับเพื่อไทยมายาวนาน เพราะเขาเคยสังกัด “พรรคไทยรักไทย” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ “พรรคเพื่อไทย” ในปัจจุบัน โดยมีตำแหน่งเป็นถึงรองหัวหน้าพรรค จึงเป็นคนที่เพื่อไทยสามารถไว้ใจได้ว่าจะควบคุมสภาไม่ให้มีการเสนอกฎหมายที่อาจนำไปสู่ปัญหา
แน่นอนว่าเป้าหมายหลักในการออก “กฎหมายนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง” ของพรรคก้าวไกลนั้นเพื่อช่วยเหลือแกนนำทางการเมืองทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ซึ่งล้วนต้องคดี 112 จากการเคลื่อนไหวในลักษณะจาบจ้วงให้ร้ายสถาบัน
ไม่ว่าจะเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้องในฐานความผิดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการเผยแพร่เฟซบุ๊กไลฟ์หัวข้อ "วัคซีนพระราชทาน ใครได้-ใครเสีย"
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ซึ่งถูกตำรวจยื่นฟ้องในฐานความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีที่นายปิยบุตร โพสต์ข้อความลงสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
รวมถึงคดีของนักเคลื่อนไหวแถวหน้าของด้อมส้ม อย่าง รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เพนกวิน- พริษฐ์ ชิวารักษ์ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และหยก เยาวชนอายุ 15 ซึ่งทุกคนล้วนมีความผิดตามมาตรา 112 โดยหลายฝ่ายเชื่อว่าหากเยาวชนเหล่านี้ได้รับการนิรโทษกรรมก็กลับมาเป็นแกนหลักในการเคลื่อนไหวจาบจ้วงให้ร้ายสถาบัน อีกทั้งยังส่งผลให้มีการจาบจ้วงสถาบันเพิ่มมากขึ้นเพราะเชื่อว่าทำแล้วไม่มีความผิด
แต่หากกฎหมายนิรโทษกรรมไม่ได้รับการสนับสนุน และนักเคลื่อนไหวของด้อมส้มต้องคดี 112 กันมากขึ้น ความกล้าที่จะเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถาบันก็จะลดน้อยลง ขณะที่ความหวังที่จะแก้ ม.112 นั้นยังดูริบหรี่ ดังนั้น “เป้าหมายใหญ่” ของก้าวไกลและเครือข่ายก็คงเป็นไปไม่ได้!
ขณะที่การแก้ “กฎหมายเพื่อปฏิรูปกองทัพ” นั้นหากเพื่อไทยไม่สนับสนุน ความหวังที่ก้าวไกลจะยกเลิกสภากลาโหม ยกเลิก กอ.รมน. ลดขนาดกองทัพ และสกัดการรัฐประหาร ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายบางอย่างของก้าวไกล ก็คงเป็นไปไม่ได้เช่นกัน
ด้าน รศ.ยุทธพร ชี้ว่า การได้ตำแหน่งประธานสภามีผลต่อการแก้ไขกฎหมายอยู่บ้างในเรื่องของการอำนวยความสะดวกในการบรรจุระเบียบวาระการประชุม แต่ทั้งนี้ ต้องเชื่อมโยงกับการทำงานของวิป (คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วม) ด้วย ประธานสภาคนเดียวคงทำงานได้ไม่มาก ต้องทำร่วมกับวิปด้วย อย่างไรก็ดี ในการแก้ไขกฎหมายนั้นแม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็ไม่จำเป็นต้องลงมติไปในทิศทางเดียวกัน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจเพราะเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.แต่ละคน
“ประธานสภาอาจจะเสียงดังกว่า สามารถดำเนินการหลายอย่างได้ แต่การจะผลักดันเรื่องใดเป็นพิเศษนั้นคงทำไม่ได้มากนักเพราะมีกลไกของวิปถ่วงดุลอยู่พอสมควร จึงต้องขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วถ้าวิปอยากบรรจุระเบียบวาระแก้ไขกฎหมายแต่ประธานสภาไม่เซ็นอนุมัติก็บรรจุไม่ได้” รศ.ยุทธพร กล่าว
นอกจากนั้น ประเด็นหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ก็คือ พรรคก้าวไกลมีนโยบายที่จะให้ “สภาเยาวชน” ที่ก้าวไกลปลุกปั้นเข้ามามีบทบาทในการเมืองระดับประเทศ โดยอาจจะขึ้นตรงกับประธานสภา ซึ่งกลไกของสภาเยาวชนจะเป็นหนึ่งในขุมกำลังหลักของก้าวไกลที่จะใช้กดดันและขับเคลื่อนเป้าหมายทางการเมืองของพรรค แต่เมื่อประธานสภาไม่ใช่คนของก้าวไกล การดำเนินการเรื่องนี้ก็คงเป็นไปได้ยาก
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า “สภาเยาวชน” ที่ปลุกปั้นโดยพรรคก้าวไกลนั้นจะมาจากการเลือกตั้ง โดยให้สภานี้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่สำคัญจะมีอำนาจและส่วนร่วมทางการเมืองไม่ต่างจาก ส.ส. อันได้แก่
1.เสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาได้ (เทียบเท่ากับการที่ประชาชนลงชื่อเสนอร่างกฎหมาย 10,000 รายชื่อตามรัฐธรรมนูญ)
2.เสนอตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง
3.ตั้งกระทู้กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้มาตอบในสภาได้ปีละอย่างน้อย 2 ครั้ง
4.เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะโดยตรงไปที่คณะรัฐมนตรี
แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เด็กเหล่านี้ยังไม่มีวุฒิภาวะและฐานข้อมูลเพียงพอที่จะเข้ามาขับเคลื่อนงานทางการเมือง และมีโอกาสสูงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเคลื่อนไหวแทนนักการเมืองตัวจริง ดังนั้นแนวคิดนี้จะนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมืองอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ที่น่าจับตาอย่างยิ่งคือ หมากต่อไปในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี หากนายพิธา ไม่ผ่านการลงมติทั้ง 2 ครั้ง และจำเป็นที่พรรคเพื่อไทยต้องย้ายขั้ว ซึ่งถึงที่สุดแล้ว “เพื่อไทย” ก็สามารถอ้างได้ว่าไม่สามารถร่วมกับก้าวไกลได้เพราะเพื่อไทยชัดเจนแต่ต้นว่าไม่สนับสนุน “กฎหมายนิรโทษกรรม”!!