xs
xsm
sm
md
lg

“จรัญ” ชี้ ไร้ช่องส่งศาลชี้ขาดข้อบังคับสภา ชูหน้าที่ตุลาการตัดสินกรณีคนทำผิด เชิญทัวร์มาเลย ระเบิดยังไม่กลัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตตุลาการศาล รธน. ชี้ ไร้ช่องทางส่งศาล รธน.วินิจฉัยข้อบังคับสภา ขัด รธน. ระบุ เป็นเรื่องเสียงข้างมากในสภาตัดสิน ไม่ใช้อำนาจก้าวก่ายนิติบัญญัติ ย้ำ หน้าที่ ตลก.ทำเพื่อส่วนรวม ไม่ได้จัดการคนที่ ปชช.เลือก แต่จัดการคนทำผิด กม. เชื่อ ไม่หวั่นไหวไม่กลัวทัวร์ลง ยกรุ่นพี่โดนระเบิดลงยังไม่กลัว

วันนี้ (21 ก.ค.) นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ปม รัฐสภาใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 41 คว่ำการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ว่า เป็นการใช้ข้อบังคับฯเหนือรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะตรวจสอบดูร่างข้อบังคับของสภา ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือ รัฐสภา ถ้ายังเป็นร่างข้อบังคับฯส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ได้ แต่ถ้าเป็นข้อบังคับที่ประกาศใช้แล้ว เป็นเรื่องภายในรัฐสภา ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบว่าจะขัดแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะถ้าให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตีความข้อบังคับของรัฐสภาไม่มีแบบอย่างมาก่อน และผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่มีหน้าที่ที่จะส่งเรื่องแบบนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เมื่อถามว่า ถ้าเป็นแบบนี้จะหาจุดจบอย่างไร นายจรัญ กล่าวว่า เมื่อข้อบังคับฯประกาศใช้แล้ว ก็ต้องใช้มติของสภานั้นๆ มาตัดสินจะให้คนอื่นวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญไม่มีช่องทางให้ทำได้ เพราะหลักการใหญ่คือ ไม่ให้อำนาจตุลาการมาแทรกแซงกับอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ที่ศาลรัฐูธรรมนูญพิจารณาร่างข้อบังคับฯได้ ไม่ใช่การตรวจสอบแต่เป็นการช่วยกลั่นกรองรัฐสภาอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดความรอบคอบไม่ให้มีเนื้อหาขัดแย้งรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้อำนาจก้าวก่ายกันแต่เป็นเรื่องเกื้อกูลช่วยกันดูไม่ให้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อใดที่ข้อบังคับใช้แล้ว เขาใช้อยู่ในแวดวงสภาฯรัฐสภาของเขา ศาลฯไม่ว่าศาลฯใดไม่มีอำนาจเข้าไปวินิจฉัย ตรวจสอบหรือตีความข้อบังคับของสภา

“จะนำข้อบังคับสภาไปเปรียบเทียบกับกฎหมายอื่นๆ ที่มีช่องทางส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ เนื่องจากข้อบังคับฯไม่ได้ใช้กับประชาชนทั่วไป แต่ใช้ในการทำงานของสภาเท่านั้น ดังนั้นจะให้องค์กรตุลาการไปตรวจสอบก็จะเป็นการก้าวก่ายเกินไป ส่งผลต่อการคานและดุลอำนาจ จึงเห็นว่า ที่มีการไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นทำไม่ได้ เพราะผู้ตรวจฯไม่มีหน้าที่นี้ และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจตีความข้อบังคับของสภา ไม่ว่าจะเป็นสภาใดก็ตาม ดังนั้นข้อยุติเกี่ยวกับข้อบังคับในสภา จึงต้องตัดสินด้วยเสียงข้างมากในสภานั้นๆ” ศ.พิเศษ จรัญ กล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีทัวร์ไปลงตุลาการศาล รธน.มาก หลังมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่มองอย่างไร นายจรัญ กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน บอกได้ว่า พวกเราไม่เคยคิดว่าจะไม่ฟังเสียงวิจารณ์ หรือโต้แย้งคำวินิจฉัย โดยหลักก็จะพยายามทำคำวินิจฉัยให้ชัดเจนที่สุด ให้เหตุผลที่ครบถ้วนมากที่สุด และเมื่อวินิจฉัยแล้ว ใครไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตด้วยหัวใจที่เป็นธรรมได้ และไม่ออกไปแก้ตัวด้วย จะสังเกตว่า เรามีวิธีปฏิบัติกันว่า อยากพูดก็พูดผ่านคำวินิจฉัย หลังจากนั้น ฟังเสียงวิจารณ์รับมาปรับปรุง พัฒนาการทำงาน ไม่ออกไปพิพาทโต้แย้งถกเถียง เว้นแต่ว่าคนวิจารณ์เข้าใจผิดในข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายและสำคัญ เพราะอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ก็ต้องชี้แจงทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่ชี้แจงครั้งเดียวแล้วจบ ใครจะเชื่อหรือไม่ ไปห้ามไม่ได้ และไม่รู้สึกหนักใจแทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่และถูกทัวร์ลง เพราะรุ่นก่อนๆ โดนหนักกว่านี้ร้อยเท่า ไม่ได้โดนทัวร์ลงนะ โดนระเบิดลง โดนล้อมอุ้ม แค่ทัวร์ลงจะไปหนักหนาสาหัสอะไร ทำงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ เพื่อสังคมต้องรับให้ได้

เมื่อถามต่อว่า ตอนนี้สังคมส่วนหนึ่งมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นกลไกในการสกัดพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามขั้วอำนาจปัจจุบัน เช่น นายธนาธร พรรคอนาคตใหม่ และ นายพิธา กับ พรรคก้าวไกล มองอย่างไร ศ.พิเศษ จรัญ กล่าวว่า มองอย่างนั้นเป็นการมองที่ผลอย่างเดียว ต้องมองที่เหตุด้วยว่ามีเหตุจากอะไร ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปปั้นพยานเท็จมาเล่นงานเขา อย่างนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเช็กบิลกันให้ถึงพริกถึงขิงเลย แต่ลองย้อนกลับไปดูว่ามีมูลเหตุที่มาหรือไม่ แต่แน่นอนการทำงานของศาลทุกคดีต้องมีคนที่ไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย โกรธแค้น ชิงชัง อาฆาต แต่คดีในศาลรัฐธรรมนูญหนึ่งคดีหมายถึงเป็นล้านคน อาจมีการอ้างว่าคดีนายพิธา มีเดิมพันจำนวนประชาชนที่เลือกมา 14 ล้านคน ทำให้หนักหนาสาหัส แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องทำหน้าที่อย่างมั่นคง ตนเชื่อใจทุกท่านที่รู้จักว่า มีวุฒิภาวะและวัยวุฒิที่มากเกินกว่าจะหวั่นไหวกับแรงกดดันของสังคม

เมื่อถามว่า มีการใช้จำนวนประชากรที่เลือกตั้งเข้ามา มาชี้ว่า ตุลาการฯไม่ควรไปจัดการกับคนที่ประชาชนเลือกมามองอย่างไร อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เขาไม่ได้จัดการคนที่ประชาชนเลือก เขาจัดการคนที่ทำผิดกฎหมาย สมมติประธานาธิบดีประเทศหนึ่งทำผิดกฎหมาย เขาจับได้ประหารเลยนะ ถ้าตุลาการไม่ว่าศาลไหน ทุจริต บิดเบือนข้อเท็จจริง ปั้นพยานหลักฐานเท็จ ถ้าจับได้สมควรประหารเหมือนกันนะ ไม่ใช่ว่าเขาไปหาทางกำจัดคนที่ประชาชนเลือก เขาวินิจฉัยว่าคนๆ นี้ ไม่ว่าประชาชนจะเลือกหรือไม่เลือก ทำผิดกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริง กฎหมายเป็นอย่างไร ต้องอธิบายในคำวินิจฉัยอย่างละเอียด สังคมก็ตรวจสอบว่ามีอะไรตุกติกหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น