xs
xsm
sm
md
lg

พท.เนียนกริบดันสุดทาง บีบก้าวไกลแยกวง!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพทองธาร ชินวัตร - เศรษฐา ทวีสิน
เมืองไทย 360 องศา

ไม่ว่ามองมุมไหนก็ต้องเห็นได้ทันทีว่า หนทางของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล ที่จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้เลย แม้ว่าจะมองข้ามในเรื่องข้อบังคับสภาใน 41 ว่า เป็นเรื่องการโหวตญัตติที่ตกไปแล้วซ้ำได้หรือไม่ แต่ในที่สุดแล้วปลายทาง ก็คือ “เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.” เป็นหลัก และเป็นเสียงชี้ขาด เพราะพวกเขายังยืนกรานไม่เอาด้วย ทำให้ไม่มีทางได้เสียงสนับสนุนได้ถึง 375 อย่างเด็ดขาด

ดังนั้น นาทีนี้สำหรับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั้น จบไปแล้ว ตั้งแต่การโหวตในสภาครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และแม้ว่าในการประชุมสภาวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ถกเถียงกันเรื่องข้อบังคับการประชุมสภาที่ 41 และในที่สุดจะมีการโหวตซ้ำอีกรอบหรือไม่ หากมีการโหวตอีกครั้ง ผลก็น่าออกมาเหมือนเดิม คือ “ไม่ผ่าน” และเมื่อพิจารณาจากท่าทีของ ส.ว.และ ส.ส.อีกซีกหนึ่งในฝั่งเสียงข้างน้อย ก็ยังยืนกรานเหมือนเดิม คือ ไม่ให้ผ่าน
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากท่าทีและความเคลื่อนไหวของฝ่าย 8 พรรค ที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งต้องโฟกัสไปที่พรรคก้าวไกล กับเพื่อไทยเป็นหลัก เพราะว่าการจัดตั้งจะมีความคืบหน้าหรือไม่ขึ้นอยู่กับสองพรรคนี้เท่านั้น และที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากการประชุมของพรรคร่วม 8 พรรค เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พวกเขายังยืนยันว่าจะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเห็นชอบอีกครั้ง และครั้งนี้พรรคเพื่อไทย จะเป็นผู้เสนอชื่อเช่นเดิม

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากท่าทีของแกนนำพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค รวมทั้ง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค ย้ำในความหมายที่ว่าจะสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ได้รับการโหวตอีกครั้ง และยังเปิดเผยอีกว่านี่คือ การ “ขอโอกาส” จาก นายพิธา หลังจากนั้น จะเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทย ได้จัดตั้งรัฐบาลบ้าง แม้ว่าความหมายในคำพูดดังกล่าวนั้น จะดูเหมือนมีการ “เล่นลิ้น” ทำให้ตีความตามมาอีกว่า จะต้องใช้โอกาสนั้นอีกนานแค่ไหน เอาเป็นว่า เป็นการขอโอกาสของ นายพิธา อีกครั้ง ซึ่งมองเห็นแนวโน้มแล้วว่า ก็น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ภายใต้หมายเหตุที่ว่าจะสามารถได้โหวตในสภาหรือไม่ เพราะยังมีข้อถกเถียงว่ามันเป็นญัตติที่ตกไปแล้วไม่อาจลงมติซ้ำได้อีกในสมัยประชุมนี้ ตามข้อบังคับที่ 41 หรือเปล่า

แน่นอนว่า เมื่อพิจารณาท่าที และมองเป็น “เกม” แล้ว ก็พอมองเห็นชัดเจนแล้วว่า พรรคเพื่อไทยต้องสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปให้สุดทาง ไม่ว่าจะโหวตกี่ครั้งก็ตาม เพราะรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า “ยังไงก็ไม่มีทางผ่าน” เป็นเหมือนกับการเล่นเกม “แบบเนียนๆ” ไหลไปตามน้ำ ที่รู้กันอยู่แล้วว่าปลายน้ำนั้นเป็นอย่างไร นั่นคือรู้ถึงจุดจบของ นายพิธา ว่าเป็นอย่างไร

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาคำพูดของ นายสุทิน คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ระบุว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยได้มอบหมายให้ตนเองเป็นผู้เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต่อที่ประชุม ส่วนจะมีเกมพลิกหรือไม่ ต้องลุ้นกันตอนที่ประชุมว่าตีความข้อบังคับอย่างไร ซึ่งต้องดูว่าจะเสนอชื่ออีกครั้ง ได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ก็มีความเห็นที่ต่างกัน เมื่อถามว่าหากครั้งนี้โหวต นายพิธา ไม่ผ่าน ทาง 8 พรรคร่วม จะยังอยู่ด้วยกันหรือไม่ นายสุทิน ระบุว่า ทั้ง 8 พรรคร่วม ยังเดินหน้าต่อด้วยกัน หากต้องตัดสินใจอะไร ก็ยังเป็น 8 พรรคอยู่ ตอนนี้ต้องทำหน้าที่โหวตรอบสองให้เสร็จ ผลจะออกมาอย่างไรก็ต้องทำ

เมื่อถามว่า วันนี้จะมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยเลยหรือไม่ หากไม่สามารถเสนอชื่อ นายพิธา อีกครั้งได้ นายสุทิน ระบุว่า วันนี้ไม่มีการเสนอชื่อแคนดิเดต จากพรรคเพื่อไทย ที่ประชุมว่าอย่างไร หากขัดต่อข้อบังคับที่ 41 ก็จบที่ตรงนั้น ถ้าผ่านโหวตนายกฯ ไม่ผ่านก็ว่ากันสัปดาห์หน้า
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์การเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล จะถือเป็นญัตติซ้ำ หรือไม่ ว่า หากมีการเสนอสอบถามว่าเป็นญัตติซ้ำหรือไม่ 8 พรรคร่วมเห็นว่าไม่ได้เป็นข้อบังคับที่ 41 เป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญสามารถเสนอชื่ออีกครั้งได้

ถามว่า สุดท้ายแล้วบอกเป็นญัตติซ้ำ เพื่อไทยพร้อมเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่มีแผนการนี้

เมื่อถามย้ำว่า พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำแล้วสามารถดึงเสียง ส.ว.ได้ ใช่หรือไม่ แม้จะมีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นกระบวนการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องรอข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นในวันนี้และความเห็นพ้องของ 8 พรรคร่วมโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล มีความเห็นอย่างไร ถ้าทำตามที่ นายพิธา แถลงไว้มันถึงจะไปตรงนั้นได้และจะตอบได้ว่าเพื่อไทยพร้อมไม่พร้อมในการหาเสียง ส.ว.

ถามอีกว่า การจะหาเสียง ส.ส.พรรคที่ 9 หรือ 10 เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อไทยต้องชัดเจนก่อนใช่หรือไม่ ว่าได้เสียง ส.ว.เท่าไหร่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ด้วยความเคารพ เรื่องพรรคที่ 9 ที่ 10 เป็นการตอบคำถามที่สื่อถามว่า หากเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งแล้วต้องทำตามเอ็มโอยูเดิม ที่จะให้พรรคอันดับสองเป็นแกนนำเขาก็ถามว่าจะเปลี่ยนเอ็มโอยู หรือไม่ ก็ตอบไปว่าหากเพื่อไทยเป็นแกนนำ เอ็มโอยูเดิมเขียนทุกอย่างขึ้นต้นว่าก้าวไกล ก็ต้องเปลี่ยนแปลง และสิทธิของพรรคแกนนำจะต้องหารือกับ 8 พรรคร่วม ว่าพรรคแกนนำมีสิทธิหาเสียงเพิ่มได้ขนาดไหน ถ้ามีสิทธิการหาเสียงเพิ่มได้เช่นดึงพรรคอื่นเข้ามาก็ต้องเปลี่ยนเอ็มโอยู ตอบทำนองนี้ไม่ได้ไปรื้อ หรือไปปรับอะไร

เมื่อถามว่า จะเกิดรัฐบาลข้ามขั้วหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่ขอตอบประเด็นนั้น ส่วนจะมีโอกาสหรือไม่มีโอกาส ขอให้ประเด็นวันนี้เป็นที่ปรากฏก่อน และคำแถลงของ 8 พรรคร่วมปรากฏก่อน ไม่ทราบอะไรทั้งนั้น

คำตอบของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีการพูดถึงพรรคที่ 9 และพรรคที่ 10 และการหาเสียงมาเพิ่ม รวมไปถึง “ไม่ตอบคำถามเรื่องการข้ามขั้ว” มันก็เป็นการตอบคำถามที่ชัดเจนอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่ใช่จังหวะเวลาที่ต้องพูดให้ชัดกว่านี้ เพราะ “ยังไม่สุดทาง” อย่างเป็นทางการมากกว่า แม้ว่าจะรู้อยู่แล้วว่าบทสรุปเป็นอย่างไร

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เดิมถือว่า “โคม่า” อยู่แล้ว ก็ต้อง “ดับสนิท” แบบไม่ต้องพูดถึงกันอีกแล้ว เพราะล่าสุด ทางศาลรัฐธรรมนูญ ได้สั่งให้ นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เอาไว้ชั่วคราว มีผลทันที จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคดีถูกร้องเรื่องการถือหุ้นไอทีวี (ถือหุ้นสื่อ) โดยศาลฯได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ในการรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

โดยที่ประชุมเมื่อตอนเช้าวันที่ 19 กรกฎาคม ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายก รัฐมนตรี พรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น

โดยเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ ประกอบวรรคหนึ่ง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 75 โดยให้นายพิธา ผู้ถูกร้อง ยื่นคำชี้แจงแก้เข้ากล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 54

สำหรับคำขอของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธา ผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรค 2 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า มีกรณีตามที่ถูกร้องประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายพิธาอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 66 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

แม้ว่าในทางคดีถือว่ายังไม่จบ แต่การที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มันก็ส่อให้เห็นแล้วว่ามีข้อเท็จจริงที่ฟังขึ้น และส่วนใหญ่ผลจะออกมาในทางลบแทบทั้งสิ้น ซึ่งหากสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว มักจะจบไม่สวยถือว่า “ปิดฉาก” แล้ว

ดังนั้น นาทีนี้ถือว่าทุกอย่างเข้าทางพรรคเพื่อไทยแล้ว ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในฐานะพรรคอันดับสองแทนพรรคก้าวไกล และแม้ว่าในเบื้องต้นอาจยังเป็น “ข้าวต้มมัด” เป็น 8 พรรคเดิม ก็อาจเสนอชื่อหนึ่งในสามแคนดิเดตนายกฯของพรรคที่มีอยู่สามคนขึ้นมาเป็นตัวหลอกก่อน โดยที่ยังมีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่ด้วย แต่เมื่อโหวตครั้งแรกก็ยังไม่ผ่าน ก็เป็นความชอบธรรมที่ต้องขยับใหม่ นั่นคือ ต้องดึงพรรคอื่นเข้ามา หรือ “ข้ามขั้ว” ตามที่แย้มเอาไว้ ถึงตอนนั้นก็ได้เห็นตัวจริงของว่าที่นายกฯที่อาจเป็น เศรษฐา ทวีสิน หรือ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองทา ชินวัตร นั่นแหละ ส่วนก้าวไกลก็เป็นฝ่ายค้าน ตามที่ต้องการ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น