xs
xsm
sm
md
lg

โหวตครั้งเดียว ประกาศิต ภท.เกมพลิก!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภูมิธรรม เวชยชัย - อนุทิน ชาญวีรกูล
เมืองไทย 360 องศา

สภาพการเมืองก่อนถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ทางประธานรัฐสภาคือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กำหนดเอาไว้คือ วันที่ 13 กรกฎาคม และอาจมีการโหวตอีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคม หรืออาจมีเป็นครั้งที่ 3 สำหรับการโหวตเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล แกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค จำนวน 312 เสียง ซึ่งยังต้องการเสียงอีก 64-65 เสียง เพราะฝ่าย 8 พรรคเหลือ 311 เสียงเนื่องจาก นายวันนอร์ ต้องงดออกเสียงในฐานะประธานสภา

ขณะเดียวกันเมื่อมีการสำรวจเสียงสนับสนุนจากส.ว.ซึ่งนาทีนี้ถือว่าเป็นตัวชี้ขาดสำหรับเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์แล้ว ยังไม่มีสัญญาณเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นั่นคือ “ส่วนใหญ่” ไม่โหวตคือจะออกมาแบบ “งดออกเสียง” ออกมาแบบย้อนศรคือ “ปิดสวิตช์ตัวเอง” ตามคำเรียกร้องก่อนหน้านี้ ขณะที่ยังมีอีกบางส่วนที่โหวตไม่สนับสนุน ส่วนที่สนับสนุนจากการยืนยันของ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ “ครูหยุย” ส.ว.ย้ำว่ามีไม่เกิน 10 คนเท่านั้น

“กรณีการอ้างว่ามี 20 ส.ส. เตรียมจะโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ว่า เพื่อความชัดเจน ตามนี้เลยครับ สอบถามทุกคนในภาพมาแล้ว ตัวเลขปั่นจนข่าวเอาไปลงคือ 20 ตัวเลขแท้จริงคือ 10 ครับ” ข้อความของเขา ที่โพสต์ ลงในเฟซบุ๊กระบุ

หากเป็นดังที่ “ครูหยุย” ยืนยัน มันก็ย่อมเป็นข่าวร้ายสำหรับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล รวมไปถึงบรรดา “ด้อมส้ม” หรือแฟนคลับที่สนับสนุนเขาอยู่ แต่หากพิจารณาจากอาการ และความเคลื่อนไหวของพวกเขา ในเวลานี้มันก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ไม่มีความมั่นใจเลยแม้แต่น้อย สิ่งที่ทำได้ก็คือการเดินสาย “ปลุกระดม” มวลชน ใช้ถ้อยคำปลุกเร้าต่างๆนานา เพื่อกดดันให้ส.ว.มาโหวตให้

ขณะเดียวกันเมื่อหันมาพิจารณาท่าทีของพรรค “ตัวแปร” สำคัญที่กำหนดความอยู่รอดของ นายพิธา และพรรคก้าวไกลก็คือ เพื่อไทยที่เวลานี้กำลังเล่นเกม “นิ่งแต่ลึก” นั่นคือ ย้ำว่า “กอดคอ” กับพรรคก้าวไกลจนถึงที่สุด ให้กำลังใจเต็มที่ แต่ก้าวไกลต้อง “ทำเอง”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า วันนี้(11กรกฎาคม) เป็นการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคแกนนำหลักคงจะเอาเรื่องเข้ามาหารือว่าจะเป็นอย่างไรต่อ เพราะจากวันนี้ ไปจนถึงวันที่13 ก.ค.นี้ จะเข้าหารือเพื่อโหวตนายกฯแล้ว และตนคิดว่าวันนี้จะมาหารือถึงสถานการณ์ว่าจะเป็นอย่างไร ว่า นายพิธา สามารถเตรียมความพร้อมได้แค่ไหน และพรรคร่วมฯจะทำอะไรได้บ้าง เพราะที่ผ่านมานายพิธาบอกว่ามั่นใจ ฉะนั้นเราจึงอยากจะหารือกันว่า ที่มั่นใจนั้นเราจะช่วยอะไรได้บ้าง และเราจะช่วยเท่าที่สุดความสามารถของเรา

เมื่อถามย้ำว่า ต้องเลือกถึงกี่ครั้ง นายภูมิธรรม กล่าวว่า สุดความสามารถ หมายถึงว่าเราจะทำเต็มที่เท่าที่ความสามารถของเราจะมี ซึ่งเรื่องนี้คือการประกาศเจตนารมณ์ให้เห็นว่า เราตั้งใจและพยายามจะทำหน้าที่นี้อย่างเต็มที่ที่สุด ส่วนจะกี่รอบนั้นคงเป็นอำนาจที่สภาจะพิจารณา และอยู่ที่ความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น

ขณะที่ท่าทีของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีซีกไหน เพราะทุกซีกจบไปตั้งแต่การเลือกตั้งแล้ว ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านก็จบไปตั้งแต่การเลือกตั้ง และขณะนี้มีการรับรองส.ส.แล้ว จึงถือว่ายังไม่มีฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล มีแต่พรรคการเมืองแต่ละพรรคที่มีจุดยืนอย่างไร อย่างพรรคภท. ก็มีจุดยืนตามแถลงการณ์ คือไม่เอาการแก้ไขมาตรา 112 และไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย ก็ชัดเจนในตัวเอง

ถามว่า ถ้าหลักการของพรรคภูมิใจไทยเป็นอย่างนี้ สรุปแล้ว 71 เสียงจะโหวตให้ใคร นายอนุทิน กล่าวว่า เราก็ต้องฟังว่าในวันโหวตจะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคภท.เป็นพรรคอันดับ 3 ยังไม่มีส่วนเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคอันดับหนึ่ง และอันดับสอง ยังร่วมกันจัดอยู่ ยังไม่ใช่บทบาทของพรรค ภท.

เมื่อถามยํ้าว่า การที่ 71 เสียงจะไปรวมกับใคร จะต้องไม่เข้าเงื่อนไขการแก้ มาตรา 112 และการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ใช่ เรื่องนี้เราพูดชัดเจนอยู่แล้ว พรรค ภท.พูดแล้วทํา

เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทย (พท.)ได้จัดตั้งรัฐบาล และเคนดิเดตนายกฯ เป็นของพรรคพท. พรรคภท.จะรับได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่าก็ต้องดูว่าพรรคพท.จะร่วมกับใคร พรรคภท.ไม่ได้บอกว่าจะรับหรือไม่รับตัวบุคคล เราพูดถึงแนวทางและนโยบายของพรรคการเมือง ว่าพรรคไหนร่วมงานกันได้ หรือพรรคไหนที่เรามีความลำบากใจในการทํางานร่วมกัน รอให้ถึงวันนั้นก่อน

เมื่อถามว่า คิดว่าการโหวตเลือกนายกฯ ควรมีกี่ครั้งจึงจะเหมาะสม และทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้ นายอนุทินกล่าวว่า ก็ควรจะโหวตครั้งเดียว และเมื่อได้ผู้นำรัฐบาล ตามหลักประชาธิปไตย ถ้าใครได้รับเสียงข้างมากตามรัฐธรรมนูญคือ 376 เสียง เราก็ต้องยอมรับ และหากตรงนั้นไม่มีพรรคภท.อยู่ เราก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน เราเคารพกติกาทุกอย่าง

“ซีกเดิมไม่มีอยู่แล้ว มันจบไปแล้ว ถ้ามารวมตอนนี้ก็มี188 เสียง ถ้าจะไปโหวตแข่งกัน จะเอาตรงไปแข่ง เพราะพรรค ภท.บอกแล้วว่า จะไม่ยอมให้ได้รัฐบาลมาโดยมีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ยืนยันว่า พรรคภท.ไปแบบนั้นไม่ได้ เพราะมันค้านกับจุดยืนที่พรรคได้พูดไว้” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุ

เมื่อถามว่า เป็นการปิดประตูของซีกนี้เลยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า อย่าไปบอกว่าปิดประตูเลย เราต้องทําตามระบอบประชาธิปไตย ต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก่อน ถ้า 188 เสียงไปรวมกันโดยมีวุฒิสภามาโหวตให้ ถ้าวุฒิสภาส่งตัวเสร็จ เราก็จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยทันที แล้วต่อไปจะทำงานอย่างไร ก็จะไม่พ้นลาออก หรือต้องยุบสภา ก็ต้องเดือดร้อนประชาชน และงบประมาณอีก

ได้ยินท่าทีทั้งจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย ตัวแทนสายตรงของพรรคเพื่อไทย และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ถือว่าเป็น “ตัวแปร” สำคัญจากทั้งสองขั้ว ที่มีโอกาสมาจับมือกันเป็นลำดับถัดไปเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงพลิกผัน

เริ่มจากนายภูมิธรรม เวชยชัย จากพรรคเพื่อไทย ที่ย้ำว่า “จะช่วยสนับสนุนนายพิธา จนสุดความสามารถ” ความหมายก็คือ “ช่วยไปให้สุดทาง” ทำเต็มที่ แต่ความหมายอีกอย่างที่ไม่ได้บอกเอาไว้ก็คือ “เมื่อไปสุดทางแล้ว ไปต่อไม่ได้” ก็ต้องหาทางใหม่หรือเปล่า ซึ่งก็คงเป็นแบบนั้น จะมาต่อว่ากันทีหลังไม่ได้ เพราะคงไม่อาจกอดคอเดินหน้า “ชนกำแพง” ไปตลอดคงไม่ได้ แต่ตอนนี้ต้องช่วยให้เต็มที่ก่อน อะไรประมาณนั้น ซึ่งจะว่าไปแล้วสำหรับพรรคเพื่อไทย ถือว่าเวลานี้ยังกุมสภาพความเหนือกว่าอยู่ตลอดเวลา

ขณะที่อีกด้านหนึ่งในฐานะพรรค “ตัวแปร” สำคัญเช่นเดียวกันนั่นคือ พรรคภูมิใจไทย หลังจากที่เชื่อว่า “ส้มหล่น” ลงมาแล้ว นั่นคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกลไปไม่ถึงดวงดาว ไม่ได้รับเสียงโหวตเพียงพอ ก็ต้องมาถึง “ก๊อกสอง” คิวของพรรคอันดับสอง คือ เพื่อไทย ที่มีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลบ้าง ซึ่งหากเพื่อไทยได้เป็นแกนและมีก้าวไกลร่วมอยู่ด้วย ก็อาจไม่ได้รับเสียงโหวตเพียงพออีก ก็ต้องถึงเวลาที่พรรคก้าวไกลถอยไปเป็นฝ่ายค้าน และดึงเอาพรรคภูมิใจไทย เข้ามาร่วมแทน ถึงตอนนั้นภูมิใจไทย ก็จะกลายเป็นพรรค“ตัวแปร” แทน ซึ่งแนวโน้มจะออกมาทางนี้สูงมาก

อีกทั้งโอกาสที่จะมีการโหวตเลือกนายกฯ เพียงแค่ครั้งเดียว นั่นคือวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ สภาจะมีการโหวตเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล หากไม่ผ่าน ก็จบเพียงแค่นั้น จะไม่มีการโหวตในวันที่ 19 กรกฎาคม ตามที่กำหนดเอาไว้เดิมเป็นครั้งที่สอง โดยจะมีการพลิกเกมตั้งรัฐบาลใหม่จาก “ส้มหล่น” นั่นเอง ซึ่งจะว่าไปมันวนกลับมาสูตรเดิมที่เคยมองเห็นมาแล้วตั้งแต่ต้น เพียงแต่ว่ารอให้เดินไปสุดทางก่อนเท่านั้นเอง!!


กำลังโหลดความคิดเห็น