เมืองไทย 360 องศา
แน่นอนว่า นี่คือ การประเมินสถานการณ์ในอนาคต แต่ก็ถือว่าเป็น “อนาคตอันใกล้” ที่เรียกว่าไม่ไกลจนเกินไปนัก ว่า การเมืองไทย กำลังจะพลิกโฉมใหม่ในแบบที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นแบบนี้ได้อย่างไร นั่นคือ การแบ่งเป็นสองขั้วหลัก ที่มีพรรคเพื่อไทยขั้วหนึ่ง และก้าวไกลอยู่อีกขั้วหนึ่ง
หลายคนบอกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อทั้งสองพรรคร่วมอยู่ใน 8 พรรค เป็นพรรคร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสม มีการลงนามในเอ็มโอยู สนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในเวลานี้ และกำลังจะมีการประชุมรัฐสภา เพื่อการโหวตในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ และที่สำคัญ พวกเขาประกาศว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” จะกอดคอร่วมกัน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นแค่วาทกรรม หรือ “การแสดง” ที่ต้องเล่นตามบทแบบนี้มากกว่า เพราะเหมือนกับว่าฉากข้างหน้าล้วนเป็นพวกเดียวกัน ฝ่ายเดียวกัน หรือแม้แต่เมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวด์ก็พูดได้ว่ามาจาก “ที่มาเดียวกัน” แต่หากพิจารณากันในสถานการณ์ปัจจุบันและต่อเนื่องไปในอนาคตแล้วทั้งสองพรรคนี้คือ เพื่อไทยกับก้าวไกล มันคือ “คู่แข่ง” กันอย่างแท้จริง และต้องหาทางสกัดฝ่ายตรงข้ามให้ตกลงมา
ภาพที่เห็นชัดก็คือ ผลจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา มันก็พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ให้กับพรรคก้าวไกล และเป็นการพ่ายแพ้ครั้งแรกนับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยเป็นต้นมา และที่สำคัญการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ได้ต่อสู้กับ “สองลุง” อีกด้วย เพราะบรรดาลุงๆ ที่ว่านั้นกำลังม้วนเสื่อกลับบ้านแล้ว
อย่างไรก็ดี ในภาพของการแข่งขันดังกล่าวบางครั้งก็อาจรู้ตัวช้าไปบ้าง สำหรับพรรคเพื่อไทยในตอนแรกก็คงรับรู้ถึงบรรยากาศแบบนี้ เพียงแต่ว่ายังมั่นใจว่าตัวเองต้องชนะ ไม่ว่าจะเป็นผลสำรวจในช่วงก่อนเลือกตั้งในตอนแรกๆ ก็ยังปรากฏว่าพรรคเพื่อไทย ยังนำห่างพรรคก้าวไกล รวมไปถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ยังอยู่ท้ายๆ ส่วนเบอร์หนึ่งเบอร์สองยังเป็นการแข่งขันกันระหว่าง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แคนดิเดตนายกฯของพรรค ที่ทิ้งห่าง มาตลอด และทุกการสำรวจ
เพียงแต่ว่าอาจเป็นเพราะกระแส “เบื่อลุง” ที่ในตอนแรกที่กลายเป็นภาพเชิงซ้อน เหมือนกับว่าแข่งกันระหว่าง “เอาลุง” กับ “ไม่เอาลุง” และฝ่ายไม่เอาลุง ก็มีพรรคก้าวไกลที่ชัดเจน หนักแน่นมากกว่าเพื่อไทย ที่อย่างที่รู้กัน ก็คือ มีข่าวเรื่อง “ดีลลับ” จนกลับตัวไม่ทัน จนก้าวไกลแซงเข้าป้ายไปแล้ว
ดังนั้น แม้ว่าในช่วงโค้งสุดท้ายพรรคเพื่อไทยจะไหวตัว แต่ว่ามันสายไปแล้ว แต่ถึงอย่างไรพรรคเพื่อไทยก็ยังพอเหลือบุญเก่าให้ได้เก็บกินบ้าง แม้ว่าจะต้องเจ็บปวดแสนสาหัส กับการที่ถูกพรรคก้าวไกล “ตีถล่ม” ในพื้นที่สำคัญ ทั้งในเมืองหลวง ในภาคเหนือ ที่เชียงใหม่บ้านเกิด แถบอีสานถือว่าเสียหายยับเยิน เป็นความพ่ายแพ้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ดี เมื่อวกมาที่สถานการณ์ปัจจุบันต่อเนื่องมาจากการเลือกตั้ง ที่พรรคก้าวไกล มี ส.ส.มากที่สุด 151 เสียง ชนะพรรคอันดับสอง คือ เพื่อไทยที่ได้ 141 เสียง และทั้งสองพรรคต้องมากอดคอกันจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้นิยามที่กำหนดเอาไว้แต่เดิมว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ทั้งในที่ความเป็นจริงตอนนี้ ทั้งสองกำลังเป็น “คู่แข่ง” อย่างชัดเจน และกำลังแข่งขันกันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันมีเดิมพันสูงรออยู่ข้างหน้า และหากผลีผลาม หรือพลาดพลั้งก็อาจ “สูญพันธุ์” ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้เหมือนกัน
เมื่อพิจารณากันถึงเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่กำลังจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มี 8 พรรคมีการเซ็นเอ็มโอยู ว่า สนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี และเวลานี้เมื่อทบทวนจำนวนเสียงทั้งหมดรวมกัน 311 เสียง (ลบ นายวันนอร์ ที่เป็นประธานสภา ต้องงดออกเสียง) ยังต้องพึ่งพาเสียง ส.ว.อีก 64 เสียง เพื่อให้ครบ 376 เสียง และก็รับรู้กันไปแล้วว่ามันเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเงื่อนไข มาตรา 112 ที่ทางฝ่ายก้าวไกลไม่ยอมลดเพดานลงมา อาจเป็นเพราะรู้อยู่ในใจแล้วว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีทางผ่านอยู่แล้ว จึงต้องเดินหน้าอ้างหลักการ รักษามวลชนเอาไว้
แต่ในประเด็นหลังนี้ มันก็มีความท้าทายอยู่เหมือนกันว่า ฐานเสียงคนที่เคยเลือกก้าวไกล จะเห็นด้วยกับการแก้ไข มาตรา 112 ทั้งหมดหรือเปล่า หรือเป็นเพราะสาเหตุเบื่อการเมืองเดิมๆ หรือ “เบื่อลุง” ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่มาวันนี้เมื่อได้เห็นการเคลื่อนไหวที่เด่นชัด ในความพยายามแก้ไขในเรื่องที่กระทบกระเทือนสถาบันฯ การดำเนินนโยบายที่เอาเข้าจริงจะสร้างความแตกแยกวุ่นวาย ถึงตอนนั้นเสียงที่เคยเลือกก้าวไกลจะยังอยู่ครบหรือไม่
ขณะที่หันมาที่เพื่อไทยบ้าง เวลานี้เหมือนกับว่ากำลังเล่นบท “ตีเนียน” จำเป็นต้องเดินเคียงคู่ไปกับก้าวไกลจนสุดทาง ซึ่งในใจก็รู้ว่าข้างหน้ามัน “ทางตัน” โดยที่ทั้งสองพรรคต่างก็รู้กันอยู่แก่ใจดี แต่ด้วยคำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ทำให้ต้องแสดงให้เห็นว่า “ต้องมัดกันให้แน่น” อย่างไรก็ดี เกมแบบนี้ตอนนี้ใครก็ย่อมมองออกได้ปรุโปร่งแล้ว ตั้งแต่การ “แย่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ” ที่ต้องดันคนกลาง (แต่เพื่อไทยได้ประโยชน์) คือ ได้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ที่เป็นพรรคเล็กมาเป็นประธาน
มันเป็นเกมที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เพื่อไทยไม่ยอมถอย และได้ประโยชน์มากกว่า เพราะตัวเองมีทางเลือกมากกว่า ความหมายก็คือ ก้าวไกลขาดเพื่อไทยไม่ได้ แต่เพื่อไทยขาดก้าวไกลได้ และในที่สุดก็ต้องขาดจากกันอยู่แล้ว หลังจากที่ไปจนสุดทาง แล้วไปต่อไม่ได้
เมื่อพูดถึงเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา เคยระบุว่า น่าจะเลือกกันไม่เกินสองครั้ง ขณะที่ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา จากพรรคเพื่อไทย ระบุว่า เต็มที่ก็น่าจะเลือกกันไม่เกินสามครั้ง ซึ่งในความเป็นไปได้ก็น่าจะไม่เกินสองครั้ง ก็น่าจะต้องมีการ “เปลี่ยนตัว” ใหม่กันแล้ว แต่อย่างที่รู้กันก็คือ หากยังมีก้าวไกล ทางส.ว.ก็จะไม่โหวตให้แน่นอน
ดังนั้น นาทีนี้ไม่ต้องพูดกันมากแล้ว ก็พอเดาทางออกว่าในที่สุดแล้วพรรคเพื่อไทย ก็จะกลายเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยที่อนาคตจะไม่มีก้าวไกลร่วมทางด้วย และเมื่อถึงเวลาคำว่า “ซีกประชาธิปไตย” ก็จะค่อยๆ เลือนหายไป มีแต่ขั้วตรงข้าม และก้าวไกลก็จะไปเป็นฝ่ายค้าน ขณะที่เพื่อไทยก็จะเป็นฝ่ายรัฐบาล ส่วนใครจะเป็นนายกฯ ค่อยมาว่ากัน ซึ่งการเมืองก็จะเข้าสู่ระบบ เมื่อพรรคอันดับหนึ่งกับพรรคอันดับสองแย่งกันอยู่คนละฝ่าย ไม่ใช่มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลที่ฝืนธรรมชาติแบบนี้
แต่ที่ต้องจับตา ก็คือ การกำเนิดของ “ขั้วใหม่” ที่พอเริ่มมองเห็นแล้วว่า พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำที่จะชนกับพรรคก้าวไกล เต็มตัว แม้ว่าในตอนนี้อาจจะยังมองเห็นภาพยังไม่ชัด แต่มันก็พอเห็นแนวโน้มแล้วว่าพรรคเพื่อไทย จะเป็นแกนนำ โดยมีพรรคอื่นๆ เช่น ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ อยู่ตรงกลางแต่ค่อนไปทางเพื่อไทย มากกว่าที่จะไปทางก้าวไกล
นั่นคือ ภาพการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น เพียงแต่ว่าอาจจะยังไม่ชัดนัก และอาจจะเหมือนกับว่ามองข้ามไปไกล แต่ก็เริ่มมองเห็นกันแล้ว อย่างน้อยก็ได้เห็นท่าทีของหลายพรรคการเมือง ที่ถูกเรียกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยม มีข่าว “ดีล” ร่วมกับเพื่อไทย และปฏิเสธก้าวไกลอย่างชัดเจน รวมไปถึงส.ว.ที่ประกาศยอมรับได้กับแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยไม่ว่าจะเป็น “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ นายเศรษฐา ทวีสิน มันก็พอเห็นภาพการเมืองในวันข้างหน้าได้แล้ว !!