xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณแยกขั้วเริ่มชัด เพื่อไทย-ภูมิใจไทย!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ - อนุทิน ชาญวีรกูล  - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เมืองไทย 360 องศา

บางครั้งมองการเมือง ก็เหมือนกับละคร หรือ “การแสดง” ที่ต้องแสดงให้สมบทบาท เพื่อให้คนดูได้ “อิน” ไปกับบทบาทของตัวละครแต่ละตัว เหมือนกับเวลานี้ที่การแสดงกำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หลังจากได้เห็นบทบาทในช่วงการโหวตเลือกประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ในวันดังกล่าว ได้เห็นความเคลื่อนไหวบางอย่างที่น่าจับตา ก็คือ การงดออกเสียงของพรรคภูมิใจไทย ระหว่างการโหวตเลือกรองประธานสภาคนที่ 1

โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงผลการลงมติเลือกประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา ว่า ภาพวันนี้ (4 กรกฎาคม) จะสะท้อนถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ว่า อย่าเอาไปผูกกัน การเลือกประธานสภา เป็นเรื่องของการเลือกประธานสภา การเลือกนายกฯ ก็เป็นเรื่องของการเลือกนายกฯ

เมื่อถามถึงแนวทางการโหวต รองประธานสภา คนที่ 1 ให้แนวทางกับสมาชิกพรรคอย่างไรบ้าง นายอนุทิน กล่าวว่า เราก็บอกลูกพรรคว่าฟรีโหวต ซึ่งเราไม่ได้เสนอ แต่ให้ลูกพรรคได้ตัดสินใจเอง เมื่อถามว่า วันนี้ การโหวตประธานสภา และรองประธานสภา ถือว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรียบร้อยมาก และนานกว่าที่ควรจะเป็น เพราะต้องมีการเขียนชื่อและนามสกุล เลยเสียเวลาเรื่องนี้ไป 2 ชม.

เมื่อถามว่า การโหวตนายกฯ จะดุเดือดหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีอะไรดุเดือด วันนี้ก็เริ่มต้นด้วยดี บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เมื่อถามว่า วันนี้ได้ประธานสภาฯแล้ว อนาคตทางการเมืองพรรคภูมิใจไทย จะวางแผนอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า Have a good evening เมื่อถามว่า เตรียมความพร้อมจะเป็นผู้นำฝ่ายค้านอย่างไร นายอนุทิน หัวเราะ ก่อนกล่าวว่า เอาให้ถึงวันนั้นก่อน

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากสัญญาณการโหวตเลือกรองประธานสภาผู้แทนฯ ที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อมีการเสนอชื่อบุคคลจากพรรคก้าวไกล ก็จะมีฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเสนอชื่อเข้ามาแข่งขัน เหมือนกับกรณีของ นายวิทยา แก้วภราดัย จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการมีท่าทีเป็นฝ่ายตรงข้ามชัดเจน และในการโหวตพรรคร่วมรัฐบาลเดิมยกเว้นพรรคภูมิใจไทย ที่งดออกเสียง ส่วนพรรคอื่นล้วนแท็กทีมหนุนนายวิทยา จากพรรครวมไทยสร้างชาติทั้งหมด

แต่ก่อนหน้าการโหวต ปรากฏความเคลื่อนไหวให้เห็นภาพของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และ นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เข้าหารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเพิ่งเข้ามาในฐานะส.ส.เป็นครั้งแรก เหมือนกับเป็นการสื่อสารบางอย่างให้เห็น

เมื่อวกกลับมาที่การโหวตนายกรัฐมนตรี ล่าสุด นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ได้เดินทางเข้ามาร่วมประชุมกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ชั้น 10 ห้องประชุมประธานสภา เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานสภา จากนั้นเขาได้เปิดเผยถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี จะมีขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม เวลา 09.30 น. ซึ่งได้หารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว โดยทางสำนักงานเลขาธิการสภาจะออกหนังสือเชิญสมาชิกทั้งสองสภามาประชุมร่วมกัน

เมื่อถามว่า การโหวตนายกรัฐมนตรี ในส่วนของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและเคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่มีแนวโน้มว่าจะโหวตไม่ผ่าน ประธานจะให้โหวตกี่ครั้ง นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จำนวนครั้งคงพูดไม่ได้ เพราะครั้งเดียวอาจผ่านก็ได้ คือได้ 376 เสียง แต่ถ้าไม่ครบ ก็ต้องพิจารณาการประชุมในรอบต่อไป และต้องวิเคราะห์ดูว่าคะแนนที่ได้มีจำนวนเท่าไหร่ ถึงจะครบ 376 เสียง และหากฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะขอเวลาในการประชุมกี่ครั้ง แต่โดยสรุป คือ รัฐสภาต้องประชุมให้ได้นายกฯ ไม่ใช่นายพิธาคนเดียว หากนายพิธาได้ ก็ถือว่าได้ไป แต่ถ้าไม่ได้ ก็ต้องหาจนกว่าจะได้นายกฯ เพราะรัฐสภามีหน้าที่เลือกนายกฯตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไปบริหารประเทศ เราจะขาดนายกรัฐมนตรีไม่ได้

“ในเบื้องต้นผมพูดอย่างเป็นกลาง คือ ส.ส.ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการออกกฎหมายและพิจารณางบประมาณนั้น เขาได้ร่วมกันที่จะตั้งรัฐบาลแล้ว 312 เสียง ซึ่งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า การเลือกรองประธานคนที่ 1 ได้คะแนน 312 เสียง อันนี้ก็จะเป็นหลัก แต่การเลือกนายกฯไม่ใช่เสียงข้างมาก 312 เสียงแล้วจะได้เป็น เพราะต้องได้ 376 เสียงเป็นอย่างน้อย ซึ่งยังขาดอีก 64 คะแนน และหากไม่ได้ ก็ต้องโหวตให้ได้ 376 เสียง และหากวันแรกไม่สามารถ ถือว่าการประชุมวันนั้นต้องจบ และนัดโหวตนายกฯในนัดครั้งต่อไป โดยจะต้องคำนึงความพร้อมของสมาชิก ในการเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อให้ทุกคนเข้าร่วมประชุมอย่างครบถ้วน ผมเชื่อมั่นว่าหากเราทำอะไรด้วยความเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน สิ่งนั้นจะบรรลุเป้าหมาย” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

ดังนั้น เมื่อจับความจากคำพูดดังกล่าวของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ทำให้ทราบกำหนดการวันโหวตนายกรัฐมนตรีคือ เช้าวันที่ 13 กรกฎาคม และสามารถเลือกได้หลายชื่อ หลายครั้ง หากครั้งแรกไม่ผ่าน ก็ต้องนัดประชุมเพื่อโหวตกันใหม่ โดยพิจารณาจากความพร้อมของสมาชิกรัฐสภาด้วย

แน่นอนว่า ในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค มีจำนวน 311 (-1 คือ นายวันนอร์ ) ที่มี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นแคนดิเดตนายกฯ ยังมีเสียงไม่พอ 376 เสียง ยังขาดอีก 64 เสียง นั่นคือต้องหวังพึ่งพา ส.ว. แต่ก็รับรู้กันอยู่แล้วว่า ไม่มีทางผ่านแน่นอน จากกรณีนโยบายที่อ่อนไหว คำถามก็คือ หากครั้งแรกไม่ผ่าน แล้วจะมีครั้งที่สองหรือไม่ หรือหากมีแล้วยังไม่ผ่านอีก

เมื่อเป็นแบบนี้มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่หรือไม่ นั่นคือ เปลี่ยนแคนดิเดตนายกฯ คนใหม่จากพรรคเพื่อไทย เนื่องจากพรรคก้าวไกล มีการเสนอชื่อนายพิธา เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียว แต่ก่อนจะไปถึงแคนดิเดตคนอื่น ยังเชื่อว่า พรรคเพื่อไทย ยังคงหนุนพรรคก้าวไกลไปจน “สุดทาง” แน่นอน เพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขว่า “ทรยศหักหลัง” เพื่อน หรือที่นิยามกันเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตย

แต่เมื่อไม่ต่อไม่ได้แล้ว เนื่องจากฝ่าย ส.ว.ไม่เอาด้วย มันก็ย่อมถึงทางตัน และขณะเดียวกัน ก็เป็นความชอบธรรมที่พรรคเพื่อไทย จะต้องกลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบ้าง ในฐานะพรรคอันดับสอง แต่เมื่อสูตรเดิมที่มีก้าวไกลอยู่ด้วยมันไปไม่ได้ ก็ต้อง “ปรับสูตรใหม่” นั่นคือ ต้องดึงบางพรรคมาเสริม ในที่นี้ก็จะถึงบางอ้อ ว่าต้องเป็นพรรคภูมิใจไทย ที่มี 71 เสียง แต่เมื่อมีภูมิใจไทย ก็ต้องไม่มีก้าวไกล ก็ต้องดึงมาเพิ่มอีก ก็ต้องมี พลังประชารัฐ ของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามาเพื่อการันตีเสียงของ ส.ว.ให้มาสนับสนุน

ดังนั้น การเมืองก็เหมือนการแสดง ต้องดูจนจบ เหมือนกับในตอนแรกทุกอย่างยังคลุมเครือ มองไม่ชัด แต่นานไปทุกอย่างมันก็ต้องเปิดเผยออกมาจนได้ ว่า เพื่อไทยหยิบชิ้นปลามันพร้อมกับภูมิใจไทย และนายกฯ อาจส้มหล่นไปที่ “ลุงป้อม” แลกกับ “เงื่อนไขบางอย่าง” ส่วนก้าวไกล ก็ไปเป็นฝ่ายค้าน รวมไปถึงนายพิธา ก็จะโดนตรวจสอบเรื่อง “หุ้นสื่อ” ซึ่งมองแล้วว่า รอดยากเสียด้วย!!


กำลังโหลดความคิดเห็น