เมืองไทย 360 องศา
ในที่สุดก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เรียกประชุมรัฐสภาในวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป หลังจากเสร็จสิ้นรัฐพิธีแล้ว คาดหมายกันว่า จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก วันที่ 4 กรกฎาคม เอาเป็นว่ากำลังเข้าใกล้การโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ รวมไปถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วยเช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกัน ก็ถึงเวลาที่ต้องมาพิจารณา “ขบเหลี่ยมเฉือนคม” กันระหว่างสองพรรคหลักในพรรคร่วมรัฐบาล คือ ก้าวไกล กับเพื่อไทย ที่แย่งชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตอนแรกต่างฝ่ายก็ไม่ยอมถอย เพราะถือว่ามีความสำคัญต่ออนาคตทางการเมืองของพรรคตัวเอง แต่ล่าสุด สำหรับเฉพาะหน้าถือว่า พรรคเพื่อไทย กำลังได้เปรียบทุกทาง จนทำให้พรรคก้าวไกล เริ่มแสดง “ท่าทีถอย” แล้ว
หลังจากก่อนหน้านี้ คนที่มีท่าทีแข็งกร้าวและล่าสุดก็ได้อ่อนลงเป็นคนเดียวกันจากพรรคก้าวไกล นั่นคือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่แม้ว่าเวลานี้เป็นแค่เลขาธิการกลุ่มก้าวหน้า แต่ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญอยู่ในพรรค โดยเขาเคยยืนกรานว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ ต้องเป็นของพรรคก้าวไกล โดยอ้างเหตุผลมีเสียงมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง และมีเป้าหมายว่าจะได้เสนอวาระสำคัญของพรรคเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายสำคัญจำนวนมากเข้าสภาได้
แต่ล่าสุด เขาก็ได้มีท่าทีเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้ามอย่างเห็นได้ชัด!!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์กรณีการเจรจาระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เรื่องตำแหน่งประธานสภา ว่า ตามที่เห็นในข่าว นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า จะมีการพูดคุยกันระหว่างคณะเจรจาของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ก็คิดว่า ให้คณะเจรจาทั้งสองชุดนี้ไปคุยตกลงกันให้รู้เรื่อง ส่วนตนก็จะรอดูว่าท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร
ถามว่า หากตำแหน่งประธานสภา ตกเป็นของเพื่อไทย จะยอมรับได้หรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า จุดยืนที่ผ่านมา ยืนยันมาตลอดว่า ตำแหน่งประธานสภาจะต้องเป็นของพรรคที่มี ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 แต่ก็สุดแล้วแต่ว่าทั้ง 2 พรรคจะตกลงกันอย่างไร การแสดงความคิดเห็นในเวลานี้ อาจจะกระทบกระทั่งกับการเจรจาของทั้งสองพรรคได้
เมื่อถามต่อว่า หากพรรคก้าวไกล ไม่ได้ตำแหน่งประธานสภา ก็อาจจะทำให้การเสนอกฎหมายมีปัญหาใช่หรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ตามข้อบังคับ ตำแหน่งประธานสภา เขียนไว้ว่า จะต้องมีความเป็นกลาง และเชื่อว่า พรรคจะคัดสรรเช่นนั้น ส่วนที่มีข่าวว่า พรรคก้าวไกลเตรียมจะเสนอกฎหมาย 40 ฉบับนั้น ขึ้นอยู่กับฉันทามติของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้เกี่ยวกับตัวประธานสภา เพราะตำแหน่งนี้ทำหน้าที่เพียงจัดวาระ จัดการประชุมเท่านั้น
ถามอีกว่า พรรคก้าวไกลอาจมีความรู้ความสามารถ แต่ความเก๋าเกมในสภายังไม่ได้ ดังนั้น จึงยังไม่เหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่งประธานสภา นายปิยบุตร กล่าวว่า การเมืองถึงเวลายุคใหม่ ก็ไม่แน่เสมอไป ถ้าประเมินจากอายุว่า คนอายุน้อยจะไม่เก๋า คนอายุมากจะเก๋า หรือประเมินจากความรู้ความสามารถ ความเฉียบแหลมจากการศึกษาข้อบังคับ การทันเกมการประชุมต่างๆ ส่วนตัวคิดว่าตัวอายุไม่ใช่ปัจจัยในการชี้วัด เพราะหากเป็นเช่นนั้น รัฐธรรมนูญต้องกำหนดไปเลยว่า ส.ส.สมัยแรก สมัยสอง ห้ามเป็น และอาจกำหนดว่าคนเป็นประธานสภาต้องมีอายุมาก เมื่อทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมตามรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า ส.ส.ทุกคนมีโอกาสเป็นประธานสภาทั้งสิ้น ถ้าสภาให้ความเห็นชอบ
ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่มีการเตรียมมวลชนมากดดัน ในการโหวตเลือกประธานสภา และนายกรัฐมนตรี ถือเป็นความกดดันทั้งใน และนอกสภา หรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ไม่ทราบว่ามีการเตรียมมวลชนอย่างไร เราต้องยืนพื้นตามรัฐธรรมนูญ คือ รับรองเสรีภาพการแสดงออกการชุมนุมโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ และการออกแบบสถาบันการเมือง คือ นำเจตจำนงของประชาชนที่อยู่ภายนอกมาทำให้เกิดผล แต่ถ้าสถาบันการเมืองไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ โดยเฉพาะที่เพิ่งเลือกตั้งเสร็จแล้วมีการขัดขวางเจตนารมณ์ ของประชาชน ก็เป็นธรรมดาที่ประชาชนจะเห็นความผิดปกติ ความไม่ยุติธรรม
เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่เตรียมจะโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกล เป็นฝ่ายค้าน นายปิยบุตร กล่าวว่า ได้ยินเช่นนี้ตั้งแต่หาเสียง และนับตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ ถึงก้าวไกล เห็นว่า พร้อมทำหน้าที่ทั้งสองแบบ แต่ในรอบนี้เขาตั้งใจจะเป็นรัฐบาลและนายกฯ ซึ่งประชาชนก็ให้ความไว้วางใจด้วย จึงคิดว่าแม้จะมีความคิดในกลุ่มนักการเมืองและกลุ่มการเมืองที่ต้องการโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกล แต่ตนเชื่อว่า พรรคจะไม่มีวันโดดเดี่ยวเพราะคะแนนเสียงที่ประชาชนให้มาจำนวนมาก และยังมีความพร้อมที่จะเป็นรัฐบาล
จากคำพูดดังกล่าวของนายปิยบุตร ถือว่า อ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นเพราะว่าหากยังแข็งขืนต่อไป ก็อาจจะเสียการใหญ่ข้างหน้า ที่สำคัญ อาจต้อง “เสียทุกอย่าง” ก็เป็นไปได้สูงมาก เพราะการเป็นรัฐบาลผสมที่มีอีกพรรคหนึ่งเป็น “ตัวแปร” ที่ขาดไม่ได้ เพราะหากขาดพรรคเพื่อไทย รัฐบาลผสมที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำก็ “จบเห่” ทันที อีกทั้งด้วยข้อจำกัดของตัวเองที่ “บล็อก” เอาไว้ทุกด้าน มันก็ยิ่งบีบรัดเข้ามาทุกทาง
หากโฟกัสกันเฉพาะพรรคก้าวไกล นาทีนี้เหมือนกับว่าต้องเรียงลำดับก่อนหลัง นั่นคือ เป้าหมายหลักยังต้องผลักดันให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้ได้ แม้ว่าจะต้องเสียตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้กับพรรคเพื่อไทย ในขั้นตอนแรกก็ตาม เพราะถือว่าเพื่อไทยถือไพ่เหนือกว่าทุกทางแล้ว ทั้งที่ในที่สุดแล้วรู้ดีว่า เส้นทางข้างหน้าล้วนไร้ความหวัง เพราะ “ด่าน ส.ว.” ไม่มีทางให้ผ่านไปได้
ดังนั้น หากให้สรุปสถานการณ์ ณ เวลานี้สำหรับพรรคก้าวไกลถือว่า “ประตูปิดทุกบาน” ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ในที่สุดแล้วก็ต้องตกเป็นของเพื่อไทย ขณะที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะมี “หลายตัวเลือก” แต่คงไม่ใช่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ค่อนข้างแน่ เพราะอุปสรรคขวากหนามมากมายและผ่านยากทั้งสิ้น และไม่ว่าจะยอมถอยร่นแค่ไหนก็ตาม แต่สำหรับเก้าอี้นายกฯนั้น ดีที่สุดก็ได้แค่ “ลุ้น” เท่านั้น !!