เมืองไทย 360 องศา
อาจเป็นครั้งแรกก็ได้ สำหรับพรรคเพื่อไทย ที่มีบรรยากาศของความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในพรรค แบบเอาจริงเอาจังกว่าทุกครั้งที่ผ่านๆ มา ซึ่งมันสะท้อนปรากฏการณ์บางอย่างออกมาให้เห็น แบบน่าสนใจทีเดียว แม้ว่านาทีนี้ภาพความขัดแย้งอาจยังไม่ชัดนัก เพียงแต่ว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นแบบนี้ก็แล้วกัน
หากตั้งข้อสังเกต อาจเป็นเพราะว่า “มนต์ขลัง” ของ “โทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร กำลังเสื่อมลงไปมากแล้ว หลังจากพรรคเพื่อไทย พ่ายแพ้ให้กับพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดแบบยับเยิน ทบทวนให้เห็นภาพอีกครั้งก็ได้ ในกรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้เกือบสูญพันธุ์ ได้มาแค่ที่นั่งเดียว ชนะก้าวไกลที่มาเป็นอันดับสอง เพียงแค่ 4 คะแนน ภาคเหนือถูกตีแตกพ่ายยับ โดยเฉพาะบ้านเกิดของนายทักษิณ อย่างที่ จ.เชียงใหม่ ถือว่าเสียหายหน้าแตกยับเยิน มีเพียงภาคอีสานเท่านั้นที่พรรคเพื่อไทย ยังสามารถตรึงพื้นที่เอาไว้เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็สูญเสียไปไม่น้อย
นั่นเป็นภาพปูพื้นคร่าวๆ ออกมาให้เห็น เพื่อที่จะเชื่อมโยงต่อเนื่องมาถึงเรื่องความ “ระอุ” ภายในพรรคเพื่อไทย ในเวลานี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากผลการเลือกตั้งที่เพิ่งเกิดขึ้น และผลจาก “มนต์ทักษิณ” ได้เสื่อมลงแล้วหรือเปล่า เพราะที่ผ่านมา ไม่ว่า นายทักษิณ ชินวัตร จะชี้นกให้เป็นไม้ก็ได้ แต่ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ทำให้ยอมรับกันว่าทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว อิทธิพลของเขาได้เสื่อมถอยลงอย่างเห็นได้ชัด สภาพไม่ต่างจาก “คุณตา” คนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่า ถึงเวลาที่ต้องปล่อยให้คนรุ่นใหม่บริหารจัดการกันไป
ขณะเดียวกัน เมื่อวกกลับมาพิจารณาเรื่องราวภายในพรรคเพื่อไทยเวลานี้ตามรายงานข่าวฝ่ายที่ก่อหวอด คัดค้านไม่ให้ยกเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปให้กับพรรคก้าวไกลอย่างแข็งกร้าว ส่วนใหญ่มาจาก “กลุ่ม ส.ส.อีสาน” เป็นหลัก และเป็นกลุ่มเดียวที่ยังรักษาพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยเอาไว้ได้มากที่สุด และด้วยเหตุนี้หรือเปล่า ที่ทำให้เกิดมีเสียงที่ดังออกมามากที่สุด
ภาพที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมสัมมนา ส.ส.ใหม่ของพรรคเพื่อไทย ที่มี ผู้บริหารพรรคเข้าร่วมอย่างครบครัน ยกเว้น “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แคนดิเดตนายกฯ ที่ติดโควิดไม่ได้เข้าร่วม ส่วนคนอื่นๆ เช่น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค เป็นต้น โดยมี นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวในที่ประชุมอย่างแข็งกร้าว ยืนกรานไม่ยกเก้าอี้ประธานสภาฯ ให้กับพรรคก้าวไกลเป็นอันขาด พร้อมกับยืนยันหลักการที่ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดต้องแบ่งกัน หากตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องโหวตแข่งขันกัน
นายอดิศร ซึ่งเป็นคนแรกที่แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องประธานสภา ไม่เห็นด้วยที่เรา 141 เสียง เขา 151 เสียง แต่เราไปยอมเขาทุกเรื่องราว พรรคก้าวไกลเขาควรได้เป็นฝ่ายบริหาร แต่จะหาวเอาเดือน เอาดาว เอาประธานสภาฯ ไปด้วย มันจะง่ายเกินไปหน่อย ไม่เห็นเพื่อนฝูงอยู่ในสายตา
“ผมตรงไปตรงมา ผมสู้ให้พรรคเพื่อไทยยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ลูกน้องของพรรคการเมืองใด ผมเห็นใจในการเจรจา ไม่ทราบว่าเจรจาอย่างไร ถ้าเขาได้นายกฯ เราได้ประธานสภา มันจะสง่างาม และจะได้ถ่วงดุลการทำงานด้วยกัน ถึงอย่างไร เราก็ไม่สามารถให้ประธานสภา กับพรรคก้าวไกลได้ เมื่อเกิดความขัดแย้ง ก็โหวตกันในสภา ผมยืนยันว่าศักยภาพของเรา เรามีบุคลากรที่เหมาะสม ผมไม่อยากเห็นพระบวชใหม่มาเป็นเจ้าอาวาส เรามีบุคลากรเยอะ อย่าไปยอมให้เขาง่าย เราอย่าไปห่วงความรู้สึกเขา คุณจะเป็นพรรคก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทย เรื่องประธานสภา ถึงอย่างไร ผมคิดว่าต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย เพื่อให้รัฐบาลผสมเดินทางไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม”
นายอดิศร ย้ำว่า ไม่รู้จะงดออกเสียงหรือไม่ เพราะไม่สามารถยกมือให้พระบวชใหม่ได้ พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่สาขาของพรรคก้าวไกล เราเหนื่อยยาก เพราะต้องสู้กับพรรคก้าวไกล ฉะนั้นการทำงานในทางการเมืองอย่าอ่อน แข็งต้องแข็ง พรรคเพื่อไทย มีประสบการณ์มา 22 ปี เราต้องสรุปบทเรียน และพรรคเพื่อไทย จะกลับมายิ่งใหญ่กว่าทุกพรรคในประเทศนี้
ทั้งนี้มีรายงานว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ก็อภิปรายสนับสนุน นายอดิศร ในเรื่องตำแหน่งประธานสภา ว่าต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย จะไม่ยอมถอยอย่างแน่นอน
หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในพรรคเพื่อไทยเวลานี้ ก็ต้องบอกว่า ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับท่าทีพรรคแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของผู้บริหารพรรค หรือ หากมองว่ามี “เจ้าของพรรค” เมื่อสั่งการลงมา ก็ถือว่าจบ เหมือนกับคราวนี้ที่มีการมอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งถือว่าเป็น “สายตรง” เมื่อมีท่าทีแบบไหน ก็ต้องเป็นแบบนั้น
แต่คราวนี้สำหรับตำแหน่งประธานสภา น่าจะยังไม่จบง่ายๆแน่นอน และเป็นไปได้เหมือนกันที่เรื่องดังกล่าวจะ “เขย่า” พรรคเพื่อไทย จนสะเทือนได้เหมือนกัน ในบรรยากาศที่ “โทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ไม่อาจชี้นิ้วสั่งการได้เหมือนก่อนแล้ว
ขณะเดียวกัน มองในมุมการเมืองในภาพรวมแล้ว การที่พรรคเพื่อไทยยอมถอยเก้าอี้ประธานสภา ให้กับพรรคก้าวไกลจริงๆ นั่นก็เท่ากับว่า “เสียความสมดุล” สูญเสียอำนาจต่อรอง ทั้งในระดับรัฐบาล และในสภา
อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาพที่ปรากฏในพรรคเพื่อไทยเวลานี้เหมือนกับขัดแย้ง แต่มองให้ลึกลงไปแล้วอาจยังไม่ชัดนัก อาจเป็นภาพในเชิง “ละครตบตา” ที่แบ่งบทกันเล่นหรือเปล่า เหมือนกับเล่นไปตามเกม “ไปให้สุดทาง” ก่อน เพราะไม่ว่าเป็นภาพความขัดแย้งในพรรคเพื่อไทย จนหาข้อยุติไม่ได้จนต้องไป “โหวต” ในสภาแข่งกัน ซึ่งแน่นอนว่าพรรคเพื่อไทย ย่อมได้เปรียบอยู่แล้ว หลังจากนั้นก็ข้ามไปช็อตที่สอง นั่นคือ รู้ล่วงหน้าอยู่แล้ว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล ไปไม่รอดอยู่แล้ว ทั้งด่าน ส.ว.และปมถือหุ้นสื่อ ทุกอย่างก็จะกลับมาที่เพื่อไทยอยู่ดี !!