เมืองไทย 360 องศา
แม้ว่าหลายคนยังรู้สึกงงๆ กับท่าทีล่าสุดของพรรคเพื่อไทย กับการ “ยอมถอย” เปิดทางให้พรรคก้าวไกล ได้เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปครอง โดยพรรคเพื่อไทยขอเพียงแค่ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนฯ ไปทั้งสองตำแหน่ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ยังยืนยันอย่างแข็งกร้าวว่ายังไงก็ต้องได้ เนื่องจากพรรคที่ได้ ส.ส.อันดับหนึ่ง ชนะกันไม่ขาด เมื่อได้เก้าอี้นายกฯไปแล้วพรรคอันดับสอง ก็ต้องได้ตำแหน่งประธานสภา พร้อมกับยืนยันว่า หากตกลงกันไม่ได้ ก็ให้ไปโหวตแข่งกันในสภา ว่ากันถึงขนาดนั้น
ทั้งที่ท่าทีดังกล่าวที่พลิกกลับมาเป็นแบบยอมถอยชนิดที่เรียกว่า “สุดซอย” แบบนี้ มาจากคนพูดคนเดียวกัน นั่นคือ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้านี้ยังแข็งกร้าวมาตลอด สำหรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ ที่ย้ำว่า ต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย แต่ล่าสุดในวันรุ่งขึ้นเขาก็เปลี่ยนมาเป็นตรงกันข้าม
แม้ว่าจากคำพูดของ นายภูมิธรรม ฟังดูแล้วอาจน่าเวียนหัวไปบ้าง แต่เอาเป็นว่าสรุปได้ความ ก็คือ พรรคอันดับหนึ่งสมควรได้เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ ส่วนพรรคอันดับสอง ก็ได้ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนฯ ไปทั้งสองคน ขณะที่ตำแหน่งรัฐมนตรี ก็สมควรได้จำนวนเท่าๆ กันคือ 14 คน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ถึงกรณีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีการตีความพรรค พท. ยอมถอยให้พรรคก้าวไกล ว่า ตำแหน่งประธานสภา ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เพราะเพิ่งจะมีการพูดคุยไปเพียง 1-2 ครั้ง ตั้งแต่เกิดข้อถกเถียงกัน ซึ่งความแตกต่างของทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคพท. มี ส.ส. ต่างกันไม่มาก ในเบื้องต้นได้มีการตกลงกันตามที่ตนเสนอว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีควรจะได้ในจำนวนที่เท่าๆ กัน 14 คน โดยพรรคก้าวไกล เป็นประมุขฝ่ายบริหาร เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพรรค พท. ที่เป็นพรรคอันดับ 2 ในขณะนั้น ก็ควรจะได้ตำแหน่งประธานสภา ถือว่ามีความเท่าเทียมกัน
ทำให้ผู้สนับสนุนสามารถมองได้ว่า เป็นความร่วมมือกันระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และไม่มีความคืบหน้าใดๆ อีก จนนายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความคิดเห็น และจองตำแหน่งประธานสภา จะต้องเป็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น ตนเองจึงได้ตำหนิไปว่า เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว แต่ความเป็นจริง จะต้องรอให้ตัวแทนทั้ง 2 ฝ่าย พูดคุยกันได้ชัดเจนก่อน ดังนั้นเมื่อยังไม่มีความชัดเจน การออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ ขณะนี้ โดยมารยาททางการเมืองนั้น ไม่มีผู้ใดจะกระทำกัน และเมื่อเป็นข้อพิพาทระหว่าง 2 พรรคการเมือง จึงควรยุติเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เรื่องอื่นๆ ที่สำคัญกว่า โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาล สามารถดำเนินการต่อไปได้
นายภูมิธรรม ย้ำหลักการตำแหน่งประธานสภา ว่า พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 ควรครองตำแหน่งประธานสภา และพรรคอันดับ 2 หากคะแนนเสียง ส.ส. ห่างกันไม่มาก ก็ควรได้ครองตำแหน่งรองประธานสภา ทั้ง 2 ตำแหน่ง ซึ่งตนเองไม่ได้ระบุว่า จะมอบตำแหน่งประธานสภาฯให้กับพรรคการเมืองใด หรือ ส.ส. คนใด เพราะในทางปฏิบัติ จะต้องพูดคุยในรายละเอียดร่วมกันก่อน แต่ขณะนี้พรรค พท. เป็นพรรคอันดับ 2 ซึ่งการเป็นพรรคการเมืองอันดับ 2 ที่ผ่านมา มักจะมีการตั้งรัฐบาลแข่ง แต่พรรค พท. ก็ไม่ได้กระทำ เพราะคำนึงว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการความเปลี่ยนแปลง และเมื่อพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมารวมกันได้ 312 เสียง โดยที่พรรคก้าวไกล มีประมาณ 150 เสียง ดังนั้น จงต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย และรอการรับรองผลการเลือกตั้งจาก กกต. ก่อน เพื่อให้ทราบว่าพรรคการเมืองใด จะชนะการเลือกตั้งลำดับที่ 1 ที่ชัดเจน กระบวนการพูดคุยระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จึงจะเริ่มต้น ซึ่งหลังกกต.รับรองการเลือกตั้งแล้ว ก็ยังมีเวลาอีก 15 วัน ก่อนจะมีรัฐพิธี และขั้นตอนการเลือกประธานสภา
เมื่อถามว่า ได้มีการต่อสายพูดคุยกับ นายอดิศร เพียงเกษ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แล้วหรือไม่ เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน นายภูมิธรรม กล่าวว่า ยังไม่มีเรื่องใดเลยเถิด และจะต้องรอให้เจ้าตัวมาชี้แจงหลังจากนี้ เพราะตนได้ย้ำเพียงหลักการ จึงขออย่าเพิ่งมีการตีความใดๆ
เมื่อถามถึงสาเหตุที่ พรรค พท. ออกมาชี้แจงหลักการดังกล่าวทั้งที่ก่อนหน้านี้ พรรค พท. ก็ย้ำถึงตำแหน่งประธานสภาฯ จะต้องเป็นของพรรคพท. นั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า เดิมเป็นเพียงการพูดคุย เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจกันได้ เบื้องต้นจำนวนเสียงส.ส. ระหว่าง 2 พรรค ไม่แตกต่างกันมาก แต่เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ก็ไม่ต้องการให้เกิดข้อถกเถียงกัน จึงได้ออกมายืนยันหลักการ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาล สามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะประชาชนรอคอยความเปลี่ยนแปลง มากกว่าการช่วงชิงตำแหน่ง
ส่วนที่มีรายงานว่าพรรคก้าวไกล จะเปิดชื่อบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งประธานสภา นั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลคิด แต่ยังไม่ใช่ข้อตกลงร่วมของทั้ง 2 พรรคการเมือง ซึ่งพรรคพท. เอง ก็ยังไม่ได้เตรียมบุคคล เพราะยังไม่มีความชัดเจนใดๆ และการเตรียมวางตัวบุคคลนั้น จะต้องให้ได้ข้อสรุปจากทั้ง 2 พรรคก่อน ย้ำว่า 3 รายชื่อที่มีการเปิดเผยไปก่อนหน้านี้ ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ของสื่อมวลชน ที่วิเคราะห์ตามประสบการณ์ หรือความเหมาะสม และการจัดสรรบุคคลไปดำรงตำแหน่งใด จะต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบหลายปัจจัย ยืนยันว่าพรรคพท. ยังไม่มีการกำหนดตัวบุคคลดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ หรือรัฐมนตรี และเห็นว่าควรจะเร่งพูดคุยถึงการจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จมากกว่า
แน่นอนว่า สำหรับ นายภูมิธรรม ในพรรคเพื่อไทย ถือว่า “มีน้ำหนัก” อาจจะมีมากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำไป เพราะรับรู้กันว่าเขาเป็น “สายตรง” ของนายทักษิณ ชินวัตร ขณะเดียวกัน การออกมาแสดงท่าทีล่าสุดแบบนี้ มันย่อมทำให้คิดไปได้หลายแง่หลายมุมเหมือนกัน อีกทั้งช่วงจังหวะเวลา ล้วนประจวบเหมาะกันพอดี นั่นคือ ทั้งเรื่องที่ล่าสุด กกต.ได้ “ปล่อยผี” โดยประกาศรับรอง ส.ส.ครบทั้ง 500 คนไปแล้ว โดยอ้างว่า ตรวจสอบข้อร้องเรียนการทุจริตเลือกตั้งไม่ทัน ความหมายก็คือ ปล่อยไปก่อนแล้วค่อย “สอย” ทีหลัง โดยใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อมีการรายงานตัว ส.ส.เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีเวลาอีกราว 15 วัน เพื่อะมีการประชุมสภาและเลือกประธานสภาผู้แทนฯ กันต่อไป และเมื่อพิจารณาจากการรับรอง ส.ส.ของ กกต.ทั้ง 500 คนไปแล้ว นั่นหมายความว่า พรรคอันดับหนึ่ง ก็ยังเป็นพรรคก้าวไกล ส่วนเพื่อไทย ก็เป็นพรรคอันดับสอง เมื่อเป็นแบบนี้ตามคำพูดข้างต้นของ นายภูมิธรรมตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ ก็เป็นของก้าวไกล ส่วนรองประธานสภาทั้งสองคน ก็เป็นของ เพื่อไทย
คำถามก็คือ ทำไมพรรคเพื่อไทย “ถอยสุดซอย” แบบนี้ หรือว่า “มองข้ามช็อต” ไปไกลขั้นที่สอง ขั้นที่สามแล้ว เพราะหากมองตามความเป็นจริง
แม้ว่าจะยอมถอยเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ แต่เชื่อว่า ในจำนวนเก้าอี้รัฐมนตรี 14 ที่นั่ง เท่ากับก้าวไกลนั้น พรรคเพื่อไทยก็ยังต่อรองในกระทรวง และตำแหน่งสำคัญ อย่างไรก็ดีก่อนจะไปถึงตรงนั้น ก็ต้องผ่านการโหวตนายกรัฐมนตรีก่อน ซึ่งยังต้องผ่านด่านหินของ ส.ว.อีกจำนวน 64 เสียง เพื่อให้ครบ 376 เสียง นาทีนี้ยังถือว่ายากมาก หากโหวตกันสองสามรอบแล้วยังไม่ผ่าน มันก็ต้องมาคิดกันใหม่ว่า จะเอาอย่างไรกันต่อ
หรือหากผ่านไปแล้ว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล ยังต้องเจอกับ “ปมถือหุ้นสื่อ” ที่อาจถูกสอยในวันหน้าอีก แม้ว่าต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน แต่ก็ถือว่า“เสี่ยงสูงมาก” และที่สำคัญก้าวไกลไม่มีแคนดิเดตนายกฯ คนอื่นแล้ว หรือหากเลวร้ายกว่านั้นอาจถูก “สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่” มันก็เป็นไปได้อีก
มาถึงนาทีนี้ ไม่อยากนึกว่านี่คือเกม “รอส้มหล่น” แบบเนียนๆ ของพรรคเพื่อไทย เหมือนกับว่าปล่อยให้ “เดินไปสุดทาง” โดยที่รู้อนาคตล่วงหน้าอยู่แล้ว ในทางตรงกันข้าม หากไปขัดขวางกันตอนนี้ มันก็จะไปขัดใจ “ด้อมส้ม” และกระแสสังคมที่อ้างเสียงส่วนใหญ่อยากให้ก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ก็ว่ากันตามน้ำ และ “รอจังหวะ” ในอนาคต เพราะในใจลึกๆแล้วคิดว่าคงใช้เวลาไม่นานนักเพื่อกลับมา อะไรประมาณนั้นหรือเปล่า แต่ถึงอย่างไรไม่ว่าตอนนี้หรือในวันหน้า พรรคเพื่อไทยก็ยัง “ขี่คอ” ก้าวไกลอยู่ดี !!