xs
xsm
sm
md
lg

เก้าอี้ ปธ.สภา ไม่นิ่ง ก้าวไกล-เพื่อไทย คุกรุ่น!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว - สุชาติ ตันเจริญ
เมืองไทย 360 องศา

แม้ว่าที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ถือว่าเป็น “สายตรง” มีอาวุโสระดับต้นๆ ของพรรค จะออกมาพูดแบบวกไปวนมา แต่สรุปในตอนนั้น ก็คือ พรรคที่มี ส.ส.อันดับหนึ่ง จะได้เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่พรรคอันดับสอง จะได้เก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนฯ ทั้งสองเก้าอี้ ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีทั้งสองพรรคจะได้จำนวนเท่ากันคือ 14 เก้าอี้ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากมีเสียงไล่เลี่ยกัน

ต่อมามีแกนนำพรรคหลายคนก็พูดในทำนองนี้ ทั้ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค และนายสุทิน คลังแสง เป็นต้น ทำให้หลายคนมองว่าสำหรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯนั้น จบไปแล้ว

แต่อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น ไม่นานก็เริ่มมี “เสียงแปร่งๆ” ออกมาอีกจากแกนนำพรรคเพื่อไทย ย้ำว่า การหารือยังไม่ได้ข้อยุติ โดยทั้งสองพรรคจะหารือกัน ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ ท่ามกลางแรงกดดันจากฝ่ายสนับสนุน และ “กองเชียร์” ประเภท “ด้อม” ทั้งสองฝ่าย ที่นับวันจะออกความเห็นในลักษณะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อาการแบบนี้บางทีมันก็ทำให้การเจรจายุ่งยากมากขึ้นไปอีกเหมือนกัน เพราะอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เข้มข้นขึ้นทุกที

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาตาม “ไทม์ไลน์” ก็กระชั้นเข้ามาทุกขณะ หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรอง ส.ส.ทั้ง 500 คนไปแล้ว เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทำให้ทุกอย่างเดินหน้าได้รวดเร็ว ทั้งในเรื่องขั้นตอนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และตามมาด้วยการโหวตนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่การตรวจสอบการ “ถือหุ้นสื่อ” ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค อีกด้วย

เพราะตามความเห็นทางกฎหมายของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า หลังจากที่ ส.ส.มีการกล่าวปฏิญาณตนก่อนทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบได้ทันที

นั่นหมายความว่า ทั้ง ส.ส.- ส.ว. และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถตรวจสอบและส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 และมาตรา 170 เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติ ส.ส. หากมาถึงตรงนี้ ก็จะส่งผลไปถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ทั้งระหว่างการโหวต หรือหลังโหวตเป็นนายกฯไปแล้ว เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ก็อาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ รวมไปถึงการชะลอการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องมาลุ้นกันอีก

วกกลับมาที่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ ที่ต้องทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ซึ่งล่าสุดดูเหมือนว่าจะยังไม่ลงตัวขึ้นมาอีก และมี “ตัวแปร” จากภายนอกมาสนับสนุนอีก นั่นคือ มีรายงานว่า จะมีเสียงสนับสนุนจากขั้วพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันสนับสนุนนายสุชาติ ตันเจริญ อดีต รองประธานสภา จากพรรคเพื่อไทย ขึ้นเป็นประธานสภา แข่งกับคนของพรรคก้าวไกล อีกทั้งเมื่อสังเกตจากการให้สัมภาษณ์ของแกนนำพรรคก้าวไกล อย่าง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ที่กล่าวยอมรับว่า เป็นสิทธิ์ของพรรคอื่น ที่จะเสนอชื่อคนของพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาแข่งขัน

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าจะมีการเสนอชื่อ นายสุชาติ ตันเจริญ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานสภานั้น มองว่าเป็นสิทธิที่จะเสนอชื่อแข่งได้ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะเสนอใคร ซึ่งหากอ้างอิงตามข่าวเห็นว่าจะเสนอชื่อ ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย หรือไม่ โดยหากมีการโหวตแข่งกัน จะมี 2 ตัวเลือกในสภา พร้อมยกเหตุการณ์โหวตประธานสภา เมื่อปี 2562 ระหว่าง นายชวน หลีกภัย และ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หากใครได้คะแนนสูงสุดก็ชนะไป แต่มองว่าครั้งนี้จะพิเศษกว่าครั้งอื่น โดยเชื่อว่าหากมีการตกลงกันได้ของคณะเจรจา ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล สถานการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นจริง ก็ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ในสภา

ขณะที่ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมว่า มีการหารือกันใน 8 พรรค ซึ่งหากมีประเด็นที่นอกเหนือข้อหารือ 8 พรรค ยอมรับว่า เป็นสิทธิ พร้อมย้ำว่า 8 พรรคมีการพูดคุยกันในรูปแบบคณะเจรจาข้อตกลง ซึ่งเป็นคนละหน้าที่กับคณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน และชี้ว่าเป็นประเด็นที่พรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2 ต้องหารือกันนอกรอบ

ทั้งนี้ นายเผ่าภูมิ ชี้ว่า กระแสข่าวว่า ปัญหาภายในพรรคที่เกิดความไม่พอใจของ ส.ส.ในพรรคว่าผู้ใหญ่ของพรรคไปยกเก้าอี้ประธานสภาให้กับพรรคก้าวไกล เป็นการนำเสนอที่คลาดเคลื่อน พร้อมชี้แจงว่า ผู้ใหญ่ของพรรคออกมาพูดถึงหลักการ และการเจรจา จะเจรจาในคณะ 8 พรรคร่วม เป็นการเจรจากันระหว่าง 2 พรรคเพื่อหาข้อสรุป โดยจะมีความชัดเจนในวันที่ 22 มิ.ย.

นอกจากนี้ นางสาวศิริกัญญา ยังได้พูดถึงการรวบรวมเสียง ส.ว.ว่า มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจที่เดินหน้าพูดคุยกับส.ว.และได้เสียงส.ว.เพิ่มมาเรื่อยๆ อีกนิดเดียวจะถึงเป้าที่ต้องการแล้ว 376 เสียง ทั้งนี้ อาจจะต้องมีการทำเป้าเพิ่ม หากประธานสภา ต้องงดออกเสียง และหาเสียงสำรองไว้ เพื่อป้องกัน ส.ว.บางคนเปลี่ยนใจในอนาคต จึงต้องป้องกันไว้ก่อน และยืนยันต้องทำให้เสียงสนับสนุนในอนาคตเกินเป้า

จากคำถามและคำตอบดังกล่าว มันย่อมมีที่มาที่ไปกันอยู่แล้ว เนื่องจากในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีเกมความเคลื่อนไหวกันหลายชั้น เริ่มจากข้อสงสัยที่ว่าอยู่ดีๆ พรรคเพื่อไทยจะยกเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ ให้กับพรรคก้าวไกล ทั้งที่ก่อนหน้านี้หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอม อ้างว่าก้าวไกลได้ผู้นำฝ่ายบริหารไปแล้ว ทางด้านผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ต้องเป็นของเพื่อไทย

ดังนั้น การเปลี่ยนท่าทีแบบนี้ มันย่อมต้องเกิดคำถามแน่นอน ซึ่งเมื่อมีการวิเคราะห์กัน ก็มีการมองว่านี่คือ “เกมไหลตามน้ำ” ของพรรคเพื่อไทยหรือเปล่า เพราะรู้ว่าหนทางข้างหน้าของนายพิธา ล้วนมีแต่ขวากหนาม ผ่านไปยาก ทั้งด่าน ส.ว. และ “ปมถือหุ้นสื่อ” ที่ขั้นตอนร่นเวลาเข้ามาเร็วขึ้น หลังจาก กกต.รับรอง ส.ส. ครบทั้ง 500 คน

ขณะเดียวกัน ก็มีคอการเมืองเตือนให้จับตาช่วงโหวตตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีการเสนอชื่อคนของพรรคเพื่อไทย จากบางพรรค ไม่ว่าจะมาจากการเสนอชื่อของพรรคฝ่ายขั้วรัฐบาลปัจจุบัน รวมไปถึงพรรคเล็กบางพรรค โดยคาดว่าจะเสนอชื่อ นายสุชาติ ตันเจริญ ขึ้นมาแข่งกับคนของพรรคก้าวไกล และจะให้ “โหวตลับ” หากเป็นแบบนี้ ก็จะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นมาทันที ส่วนจะเข้าทางใครหรือไม่ ค่อยมาว่ากัน แต่เอาเป็นว่าเวลานี้เก้าอี้ประธานสภาฯ ยังไม่นิ่ง บรรยากาศทั้งสองพรรคยังคุกรุ่น ยังสบตากันไม่สนิทก็แล้วกัน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น