ว่าที่ ปธ.สภา คาด โหวตนายกฯ 13 ก.ค. เปิดกว้างแคนดิเดตทุกพรรค ส่งชื่อเข้าชิง หาก “พิธา” เสียงไม่ถึง สมาชิก 2 ใน 3 เปิดทางนายกฯ คนนอกได้
วันนี้ (5 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานสภา ได้เดินทางเข้ามาร่วมประชุมกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ชั้น 10 ห้องประชุมประธานสภา เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนั้น ยังมี ส.ส.ของพรรคประชาชาติ ทั้งหมด เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย
จากนั้นเวลา 12.00 น. นายวันมูหะมัดนอร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ระหว่างที่ตนรอการโปรดเกล้าฯ เป็นประธานสภา ได้เชิญเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รองเลขาธิการสภา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการในเรื่องรับสนองพระบรมราชโองการฯ ซึ่งอาจจะเป็นช่วง 1-2 วันนี้ และเตรียมการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฏร และประชุมร่วมรัฐสภา โดยกำหนดว่าหากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว จะประชุมสภานัดแรกในวันที่ 12 ก.ค. โดยมีระเบียบวาระเพียงให้ ส.ส.ที่ยังไม่ได้ปฏิญาณตนได้ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งจะปรึกษาหารือกันว่าจะประชุมสภาผู้แทนราษฎรแต่ละสมัยจำนวนกี่วัน และวันไหนบ้าง แม้ที่ผ่านมา มีการจัดให้มีการประชุมในวันพุธ และวันพฤหัสบดี ก็ตาม ก็ต้องขอความเห็นในที่ประชุมอยู่ดี
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ส่วนการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี จะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค. เวลา 09.30 น. ซึ่งได้มีการหารือกับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เรียบร้อยแล้ว โดยทางสำนักงานเลขาธิการสภา จะออกหนังสือเชิญสมาชิกทั้งสองสภามาประชุมร่วมกัน
เมื่อถามว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีในส่วนของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และเคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล ที่มีแนวโน้มว่าจะโหวตไม่ผ่าน ประธานจะให้มีการโหวตกี่ครั้ง นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จำนวนครั้งคงพูดไม่ได้ เพราะครั้งเดียวอาจจะผ่านก็ได้ คือ ได้ 376 เสียง แต่ถ้าไม่ครบ ก็ต้องพิจารณาการประชุมในรอบต่อไป และต้องวิเคราะห์ดูว่าคะแนนทีไ่ด้มีจำนวนเท่าไหร่ถึงจะครบ 376 เสียง และหากฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะขอเวลาในการประชุมกี่ครั้ง แต่โดยสรุปคือ รัฐสภาต้องประชุมให้ได้นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่นายพิธาคนเดียว หาก นายพิธาได้ก็ถือว่าได้ไป แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรี เพราะรัฐสภามีหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญเพื่อไปบริหารประเทศ เราจะขาดนายกรัฐมนตรีไม่ได้
“แต่ในเบื้องต้น ผมพูดอย่างเป็นกลาง คือ ส.ส.ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการออกกฎหมายและพิจารณางบประมาณนั้น เขาได้ร่วมกันที่จะตั้งรัฐบาลแล้ว 312 เสียง ซึ่งเมื่อวาน (4 ก.ค.) ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการเลือกรองประธานคนที่ 1 ได้คะแนน 312 เสียง อันนี้ก็จะเป็นหลัก แต่การเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เสียงข้างมาก 312 เสียงแล้วจะได้เป็น เพราะต้องได้ 376 เสียง เป็นอย่างน้อย ซึ่งยังขาดอีก 64 คะแนน และหากไม่ได้ก็ต้องโหวตให้ได้ 376 เสียง และหากวันแรกไม่ผ่าน ถือว่าการประชุมวันนั้นต้องจบ และนัดโหวตนายกฯในนัดครั้งต่อไป โดยจะต้องคำนึงความพร้อมของสมาชิกในการเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อให้ทุกคนเข้าร่วมประชุมอย่างครบถ้วน ผมเชื่อมั่นว่า หากเราทำอะไรด้วยความเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสิ่งนั้นจะบรรลุเป้าหมาย”
เมื่อถามว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลยังยืนยันที่จะเสนอชื่อนายพิธา จะให้มีการประชุมอีกหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นคนเดิมหรือคนใหม่ แต่เบื้องต้นต้องเป็นคนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดคุณสมบัติว่าครบถ้วน แต่ถ้าหากว่ารายชื่อทั้งหมดที่ส่งไปยัง กกต.ยังไม่ผ่าน ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดว่าให้รัฐสภาเสนอคนนอกได้ แต่ก็เป็นขั้นตอนที่ยาว เพราะรัฐสภาต้องมีเสียงมากกว่า 2 ใน 3 ที่เห็นว่า ควรจะให้เสนอคนนอกเข้ามาโหวตในสภาได้ ซึ่งต้องได้เสียง 376 เสียง ก็ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ตนคิดว่า เราไม่สามารถที่จะไปคาดเดาได้ แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องมีนายกรัฐมนตรี และเป็นนายกฯที่บริหารประเทศต่อไปได้
เมื่อถามว่า ประธานจะดูปัจจัยคำมั่นสัญญาของ 8 พรรคร่วม ที่จะดันนายพิธาให้ถึงที่สุดหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลได้ตกลงใจร่วมกันว่าจะสนับสนุนหัวหน้าพรรคที่มีเสียงข้างมากที่ได้รับการเลือกตั้งมาเมื่อวันที่ 14 พ.ค. โดยเป็นข้อตกลงของ 8 พรรค แต่รัฐสภาก็ต้องทำหน้าที่ในการเลือกนายกฯ เพราะการโหวตเป็นเรื่องของรัฐสภาที่มี ส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้อง หากเฉพาะสภาผู้แทนฯอย่างเดียวก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะ 312 เสียงถือว่าเกินครึ่งไปเยอะแล้ว