เมืองไทย 360 องศา
เวลานี้คงไม่ต้องคิดอะไรกันเยอะแล้วหลังจากที่ พรรคก้าวไกลได้เสนอชื่อ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนใหม่ นั่นก็แสดงว่าพวกเขาก็ไม่ยอมถอยให้กับพรรคเพื่อไทย ที่แม้ว่ายังไม่ชัดเจนว่าจะเสนอชื่อใคร แต่รายงานข่าวทุกทางมีชื่อตรงกันก็คือ นายสุชาติ ตันเจริญ ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาแบบข้ามช็อตก็คือ แบบนี้ก็ต้องโหวตแข่งกันในสภา แบบที่ว่า “ฟรีโหวต” ซึ่งก็รู้ถึงผลสรุปล่วงหน้าได้เลยว่าฝ่ายไหนจะชนะ และได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไปครอง
สำหรับการประชุมรัฐสภาที่เป็นรัฐพิธี กำหนดขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม อย่างไรก็ดี ในส่วนของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตำแหน่งประธานสภานั้น ล่าสุดมีรายงานว่าอาจต้องเลื่อนออกไป อาจจะไม่ใช่เป็นวันที่ 4 กรกฎาคมตามที่มีการกำหนดกันคร่าวๆ ก่อนหน้านี้ เพราะจนถึงขณะนี้ (วันที่ 29 มิ.ย.) นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามในหนังสือ แจ้งสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. และส.ว. ขอเชิญเข้าร่วมพิธีเปิดประชุมรัฐสภาวันที่ 3 กรกฎาคม เวลา 17.00 น
ส่วนวันที่ 4 กรกฎาคม เดิมที่วางไว้เป็นกำหนดวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาฯ ทั้ง 2 คน จนถึงขณะนี้ทางสำนักงานเลขาฯ ยังไม่มีการทำหนังสือเชิญสมาชิกเข้าร่วมประชุม โดยมีรายงานว่า สภาฯ จะขอประเมินสถานการณ์ความพร้อมในการเลือกประธานสภาฯ อีกครั้งก่อน เนื่องจากขณะนี้ทั้ง 2 พรรค ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ยังไม่ลงตัวในตำแหน่งนี้ คาดว่าต้องรอการหารือของ 8 พรรคการเมือง ในวันที่ 2 ก.ค.นี้ และตามขั้นตอนสภาฯ จะต้องทำหนังสือแจ้งสมาชิกให้รับทราบล่วงหน้า 3 วัน ก่อนที่จะมีการประชุม และตามกรอบเวลาตามระเบียบ วันประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก จะต้องเปิดประชุมภายใน 10 วัน นับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ซึ่งจะตรงกับวันที่ 12 กรกฎาคม
สอดคล้องกับคำพูดของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรอบเวลาการเลือกประธานสภา ว่า การเลือกประธานสภา ต้องประชุมให้มีการเลือกให้ได้ภายใน 10 วัน นับแต่วันเสด็จเปิดรัฐสภา ในวันที่ 3 กรกฎาคม หรือไม่เกินวันที่ 13 กรกฎาคม และไม่มีเหตุที่จะเลือกกันไม่ได้ เพราะไม่เหมือนการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องใช้คะแนนเสียงเกิน 376 ของ 2 สภา แต่การเลือกประธานสภา ใช้สภาเดียว และใช้เสียงข้างมากของส.ส.ก็สามารถทำได้แล้ว
เมื่อถามว่า การเสนอชื่อประธานสภา สามารถเสนอชื่อแข่งขันมากกว่า 2 คนได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า จะเสนอแข่ง 5 คนก็ได้ และใช้เสียงข้างมากของส.ส.ในการตัดสิน ตนจึงขอย้ำว่าโอกาสที่จะเลือกไม่ได้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น หาก 2 พรรคคะแนนเสียงต่างกัน ใครชนะก็ได้
เมื่อถามว่า หากพรรคอันดับหนึ่ง และอันดับสองเสนอชื่อแข่งกัน และหากมีกลุ่มพรรคขั้วที่สาม ที่มี 188 เสียง เสนอแข่ง มีโอกาสส้มหล่นได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่เห็นเหตุที่จะเกิดขึ้น เพราะตอนนั้นต้องเสนอไปพร้อมกัน พรรคหนึ่งก็เสนอ พรรคสองก็เสนอ และกลุ่มพรรคขั้วที่สามอยากจะเสนอก็เสนอไป 3 คน แล้วก็โหวตแข่งกัน เพราะอาจต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ หรือไม่ต้องก็ได้ขึ้นอยู่กับมติสภา แต่หากมีแล้วฟังไม่หมด ก็เลื่อนไปโหวตต่อในวันถัดไปก็ได้
เมื่อถามว่า ตามหลักการประธานสภาในฐานะประธานรัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการเลือกนายกฯ หรือ เป็นเรื่องของมติที่ประชุมรัฐสภา นายวิษณุ กล่าวว่า ประธานสภามีหน้าที่กำหนดวันโหวตนายกฯ ถึงเวลาจะเลือกกันอย่างไร มีกี่ชื่อก็เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา
นั่นเป็นขั้นตอนของการเลือกประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งจะรู้ผลว่าจะเป็นใครไม่เกินวันที่ 13 กรกฎาคม ตามที่นายวิษณุ เครืองาม ระบุเอาไว้ และก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เมื่อพรรคก้าวไกลเสนอชื่อ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ขึ้นมา เมื่อฝ่ายพรรคเพื่อไทยไม่ยอมถอย ก็ต้องโหวตแข่ง ซึ่งก็อย่างที่รู้กันก็คือ มีพรรคฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเดิมบางพรรคจะโหวตให้พรรคเพื่อไทย เช่น ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หากมีการโหวตแข่งขันกันเมื่อใด เมื่อนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสองพรรค ก็จะมาถึงจุดวิกฤต หรืออาจถึงขั้น “แตกหัก” ในตอนนั้นเลยก็ได้ เนื่องจากตอนนี้ถือว่าบรรยากาศคุกรุ่น และเปราะบางอย่างยิ่ง ทั้งในระดับแกนนำพรรคและบรรดา “กองเชียร์” ทั้งหลายที่ต่างออกมา “ก่นด่า” อีกฝ่ายอย่างดุเดือด และจะกระทบไปถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อีกด้วย
เพราะเมื่อฟังจากคำพูดของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมพรรคสรุปความว่า พรรคเสนอสูตร 14+1 ต่อพรรคก้าวไกล นั่นคือ โควต้ารัฐมนตรี 14 เก้าอี้ และหนึ่งประธานสภาฯ ความหมายก็ยังยืนกรานแบบเดิม ขณะที่พรรคก้าวไกล ก็มีการปิดห้องประชุมลับ เช่นกัน แต่ตราบใดที่ยังไม่ถอนชื่อนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ออกไป นั่นก็เท่ากับว่าเดินหน้าชนกันแล้ว
แต่ผลของการเดินแบบนี้ทางฝั่งก้าวไกลถือว่าเสียเปรียบทุกประตู เพราะอย่างที่รู้กันก็คือ ก้าวไกลไม่มีทางเลือก มีทางเดียวคือ “เดินหน้าไปสู่ความพ่ายแพ้” เท่านั้น ขณะที่เพื่อไทยออกได้ทุกทาง แต่ผลออกมาก็คือ “โหวตชนะ” แน่นอน อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องมาพิจารณากันต่อไปหลังจากนั้นก็คือ ความสัมพันธ์ที่กำลังนับถอยหลัง “แตกหัก” ก่อนถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และรับรู้กันเลยว่า เมื่อพรรคก้าวไกลสูญเสียเก้าอี้ประธานสภาไปแล้ว ก็จะไม่ได้อะไรเลย เพราะถึงอย่างไร นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. คือได้เสียงหนุนไม่ครบ 376 เสียง แม้ว่าจะเสนอไปกี่รอบก็คงผ่านยาก หรือบางทีอาจจะไปไม่ถึงการโหวตด้วยซ้ำไปก็เป็นไปได้ หากมีการเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่อง “ปมถือหุ้นสื่อ” หากศาลฯ รับคำร้องก็อาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ก่อนก็ได้
หากพิจารณากันตามเส้นทางข้างหน้าแล้วถือว่า พรรคก้าวไกลและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังมองไม่เห็นทางที่จะเดินไปถึงเป้าหมายทั้งการเป็นนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาล และยังต้องเสียเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ ให้กับพรรคเพื่อไทย ดังนั้นหากมองกันตามจริงแล้ว ในที่สุดก้าวไกลก็ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน และนายพิธา ก็จะได้เป็น“ผู้นำฝ่ายค้าน” โดยมี “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนรออยู่แล้ว
นี่คือคำพูดที่มักมีคนนำมาใช้ให้สวยหรูว่า นี่คือ “ฉากทัศน์” การเมือง ซึ่งมันก็วนกลับมาถึงจุดที่เคยประเมินกันตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ !!