xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทย-ก้าวไกล ฝืนธรรมชาติจบไม่สวย !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ - นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
เมืองไทย 360 องศา

นาทีนี้ไม่ว่าใครก็มองออกแล้วว่า เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร กำลังตกเป็นของพรรคเพื่อไทยแบบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสองพรรคหลักในขั้วรัฐบาลใหม่ คือ ก้าวไกล กับเพื่อไทยกำลังสั่นคลอนมากขึ้นเรื่อยๆ และเสี่ยงต่อการ “แตกหัก” หลังจากการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนฯ 

ความคุกรุ่นเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่ พรรคเพื่อไทยยังยืนกรานต้องการเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่พรรคก้าวไกล ก็เสนอชื่อ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เป็นแคนดิเดตประธานสภา ความหมายก็คือ จะมีการโหวตแข่งขันกันในที่ประชุมสภา

เมื่อค่ำวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้แจ้งต่อสื่อมวลชน กรณีการนัดหารือกันระหว่างแกนนำพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย (พท.) เกี่ยวกับข้อสรุปประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 มิ.ย. ขอเลื่อนออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด หากมีกำหนดการใหม่จะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบภายหลังโดย การยกเลิกการประชุม 2 พรรคดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังพรรค พท. แถลงไม่ยอมถอยกรณีเก้าอี้ประธานสภา

ขณะเดียวกัน ยังรายงานถึงความเป็นไปได้ว่ากำหนดการประชุมพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรค จากเดิมที่กำหนดไว้คือ วันที่ 29 มิถุนายนนี้ อาจยกเลิกเช่นเดียวกัน

ขณะที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลบางพรรค ได้ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ ย้ำว่า ไม่เคยติดขัด หากจะเป็นบุคคลใดจากกพรรคการเมืองใดจะมาเป็นประธานสภา ยินดีพร้อมสนับสนุนทุกคน เพียงแต่ขอเป็นคนจากฝ่ายประชาธิปไตย จึงอยากขอให้ทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เร่งจบปัญหานี้โดยเร็ว เนื่องจากใกล้จะเปิดประชุมสภานัดแรกแล้ว อีกทั้งยังถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนด้วย

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แคนดิเดตประธานสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคก้าวไกล กล่าวถึง กรณีตำแหน่ง ประธานสภา ที่ถูกเลื่อนการเจรจาระหว่าง พรรคเพื่อไทย (พท.) กับ พรรคก้าวไกล ออกไปว่า เป็นการเลื่อนเพื่อรอจนกว่าคณะเจรจาจะได้ข้อยุติ ซึ่งในขณะนี้ ทางคณะเจรจาได้รับฟีดแบ็ก จากส.ส.แต่ละพรรคและสังคม ตอนนี้รอให้มีการเดินหน้าเจรจา ยอมรับว่าเรื่องการการเจรจาของคณะดังกล่าวถูกเลื่อน ทำให้การหารือของ 8 หัวหน้าพรรค ถูกเลื่อนออกไปด้วย

นายปดิพัทธ์ ยังกล่าวถึงหลักการที่ยึดว่า พรรคอันดับ 1 ต้องได้ตำแหน่งประธานสภา เช่นเดียวกับพรรคอันดับ 1 ที่ต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยยังคงเดินหน้าตามหลักการนี้ และต้องชี้แจงสังคมให้ได้ว่าทำไมพรรคก้าวไกล ถึงพร้อม จึงเตรียมแผนในทิศทางที่ควรจะเป็นไว้ หากแผนเปลี่ยนแปลงก็ค่อยว่ากัน

เมื่อถามว่า ประเด็นนี้จะทำให้พรรค พท.และพรรคก้าวไกล แตกกันหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ในฝั่งของพรรคก้าวไกล คิดว่าเรื่องนี้เป้าหมายใหญ่ คือ การฟอร์มรัฐบาล และคิดว่า จะไม่ยอมให้ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งมาทำให้เป้าหมายนี้เสียไป

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ยังมีความมั่นใจว่า หากได้ดำรงตำแหน่งประธานสภา จะสามารถทำหน้าที่ได้ เพราะเชื่อว่า ส.ส.ทุกคนมีวุฒิภาวะ และอาจไม่ต้องให้ความเคารพที่ตัวของตนเอง แต่ต้องเชื่อและปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมสภาที่ถือเป็นกฎหมาย และเคารพรัฐธรรมนูญ หากทุกคนอยู่ในกติกาได้ เชื่อว่า การทำตามกติกาสามารถทำให้เอาอยู่ได้ และยืนยันว่า จะเปิดกว้างในการผลักดันกฎหมายของทุกพรรค โดยจะลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค และไม่ร่วมประขุม ส.ส.ของพรรคเพื่อรักษาความเป็นกลาง พร้อมเปิดรับการเสนอกฎหมายจากทุกพรรคและประชาชน

สำหรับในทางการเมืองแล้วถือว่าพรรคเพื่อไทยมีความ “เก๋าเกม” มากกว่าพรรคก้าวไกลหลายขุม ทางหนึ่งเป็นเพราะเพื่อไทยอ่านขาดแล้วว่า ก้าวไกล ไม่มีทางจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค แคนดิเดตนายกฯไม่มีทางได้รับเสียงโหวตจากส.ว.ได้ครบจำนวน 64 เสียง ตามจำนวนสมาชิกรัฐสภา สำหรับเสียงสนับสนุน 376 คน อย่างแน่นอน ซึ่งส่วนสำคัญมาจากข้ออ้างในเรื่อง มาตรา 112 รวมถึงอีกหลายนโยบายที่อ่อนไหว โดยที่ผ่านมาเพื่อไทยจะเล่นบทเนียนๆ ยืนยันหลักการ และหนุนนายพิธา เป็นนายกฯ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางไปถึงฝันอย่างแน่นอน

แต่ขณะเดียวกัน เพื่อไทยจะไม่ยอมปล่อยมือจากเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งมีส่วนสำคัญสำหรับการเสนอทูลเกล้าฯรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อีกทั้งยังคงรักษาสถานะของ “พรรคตัวแปร” เอาอย่างอย่างหนักแน่น เพราะรับรู้กันว่าพรรคก้าวไกล จะขาดเพื่อไทยไม่ได้ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่อีกด้านหนึ่ง พรรคเพื่อไทยขาดพรรคก้าวไกลได้ และสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ หากก้าวไกลทำไม่สำเร็จ และในที่สุดแล้วก็เชื่อว่าไม่มีทางสำเร็จ เนื่องจากได้ “ปิดล็อกตัวเอง” เอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณากันตามสภาพความเป็นจริงแล้ว ระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยเวลานี้ต่อเนื่องไปจนถึงอนาคตข้างหน้า ทั้งสองพรรคมีสภาพเป็น “คู่แข่ง” กันอย่างชัดเจน และจะดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ “ไม่ใช่เป็นพันธมิตร” อย่างที่พยายามสร้างภาพให้เห็น รวมไปถึงข้ออ้างในเรื่อง “ฝ่ายประชาธิปไตย” ก็แค่เป็นนิยามคำพูดปรุงแต่งให้สวยหรูที่ต่อเนื่องมานานเท่านั้น

ที่ต้องย้ำว่าลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างสองพรรคนี้ในปัจจุบันถือว่า “ผิดธรรมชาติ” เป็นอย่างยิ่ง เพราะระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง และชัดเจนมาจนถึงทราบผลเลือกตั้งที่ออกมาพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งแรก และ “แพ้ให้กับพรรคก้าวไกล” ส่วน “สองลุง” รวมถึงพรรคอื่น ไม่ว่าภูมิใจไทยนั้น นาทีนี้เลิกพูดถึงได้แล้ว ไม่ใช่เป็นคู่แข่งของพรรคเพื่อไทย ในวันนี้มีแต่ก้าวไกลเท่านั้น ที่เป็นคู่แข่งไปจนถึงการเลือกตั้งคราวหน้า

ตรงกันข้ามมีแนวโน้มสูงมากที่พรรคขั้วรัฐบาลเดิมจะกลายเป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทยเสียอีก อย่างน้อยก็จะได้เห็นพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ในอีกไม่นานข้างหน้านี้

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาผลการเลือกตั้ง รับรู้ความจริงกันแล้วว่าพรรคก้าวไกลมาเป็นที่หนึ่งได้ 151 เสียง พรรคเพื่อไทยมาเป็นอันดับสอง ได้ 141 เสียง ซึ่งในทางการเมืองถือว่าเป็นการ “ฝืนธรรมชาติ” อย่างยิ่งที่พรรคอันดับหนึ่งกับอันดับสองจะมาจับมือกันตั้งรัฐบาล โดยที่ยังมีสภาพเป็น “พรรคคู่แข่ง” กันอย่างชัดเจน เพียงแค่ว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” มาหลอกตัวเอง และหลอกแฟนคลับบางกลุ่มที่ยังงงๆ หรือยังทำใจไม่ได้กับผลที่ปรากฏออกมา หลังจากทราบกันดีว่าเคยมี “ฐานเดียวกัน” มาก่อน เคยเป็นพรรคพี่พรรคน้อง เท่านั้น แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่า “น้องทุบพี่เละเทะ” และใกล้ถึงเวลา “แตกหัก” เต็มทนแล้ว

เมื่อวกมาที่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เวลานี้หัวเด็ดตีนขาดอย่างไร พรรคเพื่อไทย ก็ไม่ยอมปล่อยให้พรรคก้าวไกลแน่นอน และเมื่อก้าวไกลเสนอชื่อ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เป็นแคนดิเดต เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ถอยก็จำเป็นต้องโหวตในสภา ดังนั้น ก็ลองหลับตานึกภาพแล้วกันว่า คนของพรรคไหนจะชนะ แน่นอนว่า ชื่อของ นายสุชาติ ตันเจริญ ของเพื่อไทยลอยมาทันที

แต่คำถามก็คือ หลังจากนั้น ความบาดหมาง ความขัดแข้งระหว่างสองพรรค จะปะทุรุนแรงขึ้นมาทันที และจะระเบิดก่อนไปถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรี ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ได้รับเสียงสนับสนุนไม่พอ ไม่ว่าจะเสนอกี่ครั้งก็ตาม เพราะส.ว.ไม่เอาด้วย ถึงตอนนั้นก็จะเป็นทีของพรรคเพื่อไทย ที่จะต้องเป็นฝ่ายได้รับโอกาสตั้งรัฐบาลบ้าง และมีอิสระในการดึงพรรคการเมืองอื่นมาเพิ่ม และเพื่อได้รับการสนับสนุนจากส.ว. ให้ครบจำนวน ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่ง มันก็ได้เวลาแตกหัก จบไม่สวยแน่นอน !!



กำลังโหลดความคิดเห็น