เมืองไทย 360 องศา
พิจารณาจากท่าทีล่าสุดของพรรคก้าวไกล ยังไม่ยอมถอยเรื่อง มาตรา 112 ที่เป็นเรื่องอ่อนไหว โดยก่อนหน้า นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ยังย้ำว่า ทุกอย่างหากยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ก็ให้ไปหาข้อยุติกันในสภา
เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ ส.ว.ขอให้พรรคก้าวไกลลดเพดาน มาตรา 112 นั้น คิดว่า ทางด้านนโยบายและความเหมาะสมของแคนดิเดตนายกฯ แต่ละพรรค ทุกคนที่เป็นคนไทยได้แสดงออก ตัดสินใจไปแล้ว พร้อมกันผ่านการเลือกตั้ง ในฐานะประชาชนที่มี 1 สิทธิ 1 เสียง เพราะฉะนั้นขั้นตอนการเลือกนายกฯในสภา เรายังหวังว่า ทุกฝ่ายที่ปรารถนาดีกับบ้านเมืองจะยึดมั่นว่า ถ้าพรรคการเมืองไหนรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ได้ ก็ควรเป็นนายกฯ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ควรจะเป็นในระบบรัฐสภา
“ผมหวังว่า ส.ว.จำนวนมากจะยึดตามหลักการนี้เช่นกัน ส่วนข้อกังวลในอนาคต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมตรี รวมถึงพรรคก้าวไกล จะไปสร้างปัญหาอะไรหรือไม่ในอนาคต เรื่องนี้ผมคิดว่า ไม่ว่าใครจะเป็นนายกฯ ใครเป็นรัฐบาล ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรที่ฝืนความเห็นชอบของสังคมส่วนใหญ่ได้ หากไปสร้างความขัดแย้งในสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ก็อยู่ไม่ได้ มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารเอง หรือในสภาผู้แทนราษฎร ก็มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลอยู่แล้ว ร่างกฎหมายต่างๆ แม้จะมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่กระบวนการหาข้อยุติในสภาผู้แทนราษฎร เป็นทางออกที่ดีที่สุด ให้กระบวนการทางประชาธิปไตยหาข้อยุติ”
ความหมายก็คือ จนถึงตอนนี้พรรคก้าวไกล มีท่าทีชัดเจนว่า “ยังไม่ถอย” เรื่องมาตรา 112 โดยให้เป็นข้อยุติในสภา
ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ ขณะที่นำทีม ส.ส.ของพรรคมารายงานตัวที่สภาวันที่ 27 มิถุนายน ก็มีท่าทีไม่ต่างกัน พร้อมทั้งย้ำว่า ส.ว.ไม่ควรฝืนมติของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง และไม่ควรนำเรื่อง มาตรา 112 มาเป็นข้ออ้างในการขัดขวาง
นายพิธา กล่าวว่า ตัวเลข ส.ส.ไม่สำคัญเท่ากับการตั้งใจเข้ามาเป็น ส.ส.ให้สมกับที่ได้รับเลือกมา โดยพรรคมีกฎหมายก้าวหน้าที่สำคัญเพื่อประชาชน เช่น กฎหมายเพื่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ, กฎหมายเพื่อกลุ่มผู้ใช้แรงงาน, กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ เป็นต้น และมีอีกหลายเรื่องที่จะพยายามทำในสภาชุดที่แล้ว แต่ถูกปัดตกไป
ถามว่า เป็นกังวลหรือไม่ที่มี ส.ว.หลายคนออกมาแสดงจุดยืนไม่โหวตให้เป็นนายกฯ นายพิธา กล่าวว่า ไม่กังวล และเท่าที่คุยหลายคนมีหลักและดุลพินิจในการโหวตเลือกตามบรรทัดฐานที่ ส.ว.ที่ทำไว้ปี 2562 ว่า หากสภาล่าง ฝ่ายใดรวมกันได้ 251 เสียง ก็ไม่ต้องการฝืนมติของสภาล่าง เพราะเป็นมติที่มาจากประชาชน ดังนั้น จึงเชื่อว่า ภาพรวม 250 ส.ว. จะเป็นไปตามหลักการและขอให้ ส.ว. ยึดหลักการดังกล่าวให้มั่นมากกว่ามองเรื่องตัวบุคคลว่าจะโหวตให้ตนหรือไม่
เมื่อถามย้ำถึงจำนวนเสียง ส.ว.ที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ นายพิธา กล่าวว่า “เพียงพอที่จะทำให้ผมเป็นนายกฯ”
ซักว่า เวลาโทรศัพท์ไปยัง ส.ว.พูดคุยเพื่อขอเสียงเป็นนายกฯ หรือชี้แจงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แคนดิเดตนายกฯ ผู้นี้ ตอบว่า หลายเรื่องที่เป็นข้อกังวลใจของ ส.ว. แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของหลักการ ให้เป็นไปตามปี 2562 ที่เมื่อสภาล่างรวมเสียงได้มาก ไม่ควรมีใครมาขืน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ ส.ว.ยังคาใจกับการแก้ไขมาตรา 112 พรรคก้าวไกลจะถอดสลักดังกล่าวเพื่อบรรลุเป้าหมายของการได้ตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ นายพิธา แจงว่า การแก้ไขมาตราดังกล่าวเป็นสิ่งที่พรรคได้พูดก่อนการเลือกตั้งที่ชัดเจนว่าจะเป็นการทางออกให้กับสังคมไทย เพราะช่วงที่ผ่านมา มีการใช้มาตราดังกล่าว เป็นเครื่องมือทางการเมืองรังแกคนเห็นต่าง จึงไม่เป็นผลดีกับสถาบันใดเลย อย่างไรก็ดี ตนเชื่อว่า ประเด็นดังกล่าวจะไม่เป็นเหตุให้เส้นทางการจัดตั้งรัฐบาลสะดุด
“มีข้อมูลมีหลายฝ่ายที่ยังเข้าใจผิด เพราะการแก้ไข คือ การแก้ไข ไม่ใช่การยกเลิก เท่าที่ได้คุยกับวุฒิสภา ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น ว่า การรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่าน” นายพิธา กล่าว
แน่นอนว่า ทั้งท่าทีและคำพูดล้วนแสดงออกชัดเจนว่า พวกเขายังไม่ถอย แถมยังข่มขู่ ส.ว. ด้วยว่าต้องโหวตตามมติมหาชน โดยอ้างถึงผลการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลชนะมาเป็นอันดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากอาการแล้ว นาทีนี้ถือว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ “หมดลุ้น” ที่จะได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เพราะคำพูดที่ข่มขู่ ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. มากจนครบ 64 เสียง จึงต้องอ้างกระแสสังคมกดดัน
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงความเคลื่อนไหวของกระบวนการตรวจสอบ นายพิธา ในเวลานี้ก็ถือว่าดำเนินการไปอย่างเข้มข้น เริ่มจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญ ส่งหนังสือไปถึงสำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งกลับมาภายใน 15 วัน ว่า จะรับหรือไม่รับคำร้องของผู้ร้องว่า นายพิธา และพรรคก้าวไกล เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียง และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผ่านมาทางอัยการสูงไม่ได้ดำเนินการภายใน 15 วันหลังจากได้รับคำร้อง
ในประเด็นนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า อาจจะไม่ได้กระทบโดยตรง ทั้งต่อตัวบุคคลและพรรค แต่อาจกระทบต่อความรู้สึก เปรียบเทียบว่าเหมือนกับเป็น “สารตั้งต้น” ที่อาจเกี่ยวพันไปถึงการยุบพรรค และคดีอาญา หากมีความผิด
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ ส.ว.นั้น นายเสรี สุวรรณภานนท์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา จะเข้าพบ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 28 มิถุนายน เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าในกรณีการไต่สวน นายพิธา ในกรณีที่รู้ตัวว่าขาดคุณสมบัติ แต่ยังยินยอมให้ให้พรรคส่งสมัครรับเลือกตั้ง ส่อขัดกับ มาตรา 151 หรือไม่
รวมไปถึงเรื่องที่มีผู้ร้องให้มีการเข้าชื่อกันทั้ง ส.ส.และ ส.ว. รีบส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในกรณี นายพิธา “ถือหุ้นสื่อ” ก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะมีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ
กลายเป็นว่า ประเด็น “ของมีตำหนิ” กำลังถูกจะกระแสแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขของ ส.ว.ที่จะไม่โหวตให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่พรรคก้าวไกล ต้องชวดเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้กับพรรคเพื่อไทย ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว!!