xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ดับฝันก้าวไกล โหวตหนุนเพื่อไทย!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ - อนุทิน ชาญวีรกูล
เมืองไทย 360 องศา

นาทีนี้สำหรับการเมืองแล้วเหมือนกับกำลังเล่นเกม “วัดใจ” ซึ่งกันและกัน ระหว่างพรรคที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลจำนวน 8 พรรค โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่มีจำนวนเสียงมากที่สุด กับพรรคเพื่อไทยพรรคอันดับสอง อย่างไรก็ดีด้วยสภาพที่แปลกประหลาดก็คือ เป็นการจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคอันดับหนึ่ง กับพรรคอันดับสอง แทนที่จะแย่งกันจัดตั้งรัฐบาล ขณะเดียวกันด้วยภาวะที่พรรคอันดับหนึ่งคือ ก้าวไกล ตั้งข้อจำกัดให้ตัวเอง ทั้งในเรื่องนโยบายสุดโต่ง เงื่อนไข “ไม่เอาบางพรรค” ทำให้ตัวเองติดล็อก

ส่วนอีกด้านหนึ่งทำให้พรรคเพื่อไทยมีอำนาจต่อรองสูงมาก เนื่องจากมีข้อจำกัดน้อยกว่า สามารถเปิดดีลได้เกือบทุกพรรค และด้วยอำนาจต่อรองที่พรรคก้าวไกลขาดเพื่อไทยไม่ได้นั้น ทำให้ตำแหน่งประธานรัฐสภาตกเป็นของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ซึ่งถือว่าเป็น “คนกลาง แต่ว่าค่อนมาทางพรรคเพื่อไทย” แต่อย่างน้อยในความเป็นจริงก็คือ พรรคก้าวไกล แพ้ยกแรก นั่นคือไม่ได้เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯไปครองตามที่เคยเสนอชื่อ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก มาก่อนหน้านี้ ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ไม่ยอมถอย จนต้องมาลงเอยที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ดังกล่าว

นั่นเป็นเกมแรกที่พรรคก้าวไกลพ่ายแพ้ และถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ เป็นตำแหน่งที่คงอยู่ตลอดอายุของสภา แม้ว่าอาจจะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้มาก เนื่องจากต้องมีระเบียบข้อบังคับสภากำหนดเอาไว้ และที่สำคัญคือ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ “เป็นกลาง” ก็จริงอยู่ แต่ก็สามารถเปิดโอกาส หรืออำนวนความสะดวกในการเสนอกฎหมาย รวมไปถึงการเปิดช่องให้มีการอภิปรายในกฎหมาย รวมไปถึงญัตติสำคัญของสมาชิกสภาได้เหมือนกัน เพราะบางอย่างมันก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประธานสภา และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ก้าวไกล ต้องยืนยันว่าต้องได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ

อย่างไรก็ดีขั้นตอนนั้นได้ผ่านไปแล้ว จากนี้ไปก็มาถึงเรื่องสำคัญ นั่นคือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ทางนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กำหนดวันประชุมนัดโหวต วันที่ 13 กรกฎาคม โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล ต้องได้คะแนนเสียง 376 เสียง โดยเวลานี้มีเสียงส.ส.ในมือจาก 8 พรรค จำนวน 311(ลบ1) ดังนั้นต้องมีเสียงสนับสนุนจากส.ว.อีก 65 เสียง หลังจากนายวันนอร์ ต้องงดออกเสียงในฐานะประธานสภา

แต่เมื่อหยั่งทิศทางชัดเจนแล้ว เชื่อว่ามีจำนวน ส.ว.ที่ให้การสนับสนุนไม่พอ 65 เสียงค่อนข้างแน่ ส่วนหนึ่งที่ไม่มั่นใจก็มาจากการเคลื่อนไหวในลักษณะ “ปลุกม็อบ” ของนายพิธา และพรรคก้าวไกลเอง ที่เวลานี้หากสังเกตจะเห็นว่าการเดินสายไปตามจังหวัดต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ในกรุงเทพฯ ล้วนเป็นลักษณะสร้างกระแสจากประชาชน เพื่อให้เกิดการกดดันส.ว.ให้โหวตหนุนตัวเอง

“เรามาไกลเกินกว่าจะแพ้แล้ว เหลืออีกนิดเดียวพวกเราจะถึงเส้นชัยไปด้วยกัน เหลือเวลาอีกเพียง 4 วันเท่านั้นที่จะเป็นเวลาประวัติศาสตร์ที่ทั่วโลกกำลังจับตาดูว่า สังคมไทยคุณค่าความเป็นไทยแบบไหน เชื่อว่ากับเวลาที่เหลือ รอ 4 วัน เราถึงเส้นชัยแน่นอน และเส้นชัยนั้นจะเป็นของใครไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ของประชาชนทุกคน 4 วันที่เหลือ 13 ก.ค.นี้ จะเป็นการตัดสินใจของพรรคการเมืองทั้งสภาล่าง และสภาสูง ที่จะต้องตัดสินใจร่วมกันในรัฐสภาว่า อีก 1 ทศวรรษของประเทศไทย หน้าตาจะเป็นแบบไหน ถ้าตัดสินใจถูกต้อง ให้โอกาสประเทศไทย เลือกประเทศไทย และอยู่กับอนาคตประเทศไทยจะเจริญไม่เป็น 2 รองใครแน่นอน

ถ้าเราเลือกผิด ฝืนมติประชาชน ทำให้ความไม่ปกติของการเมืองไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังไม่ปกติต่อ ไม่รู้ว่า โอกาสทองแบบวันที่ 13 ก.ค. จะมาอีกเมื่อไหร่ การคืนความปกติให้กับการเมือง เริ่มต้นมาได้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ทั่วประเทศ ให้คะแนนตนมา 14 ล้านเสียง ให้พรรคเพื่อไทยมาอีก 10 ล้านเสียง รวมทั้งหมดได้เสียงข้างมากกว่า 25 ล้านเสียง แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยต้องไม่เหมือนเดิม

นายพิธา กล่าวว่า 2 เดือนผ่านมา เหมือนเลือกตั้งจะเสร็จแล้วแต่ยังไม่เสร็จ เป็นเพราะความไม่ปกติของการเมืองไทยที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ล้มล้างอำนาจประชาชนตลอด เดี๋ยวก็ยึดอำนาจ นิติสงคราม และยุบพรรค โอกาสนี้คือโอกาสประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่จะคืนความปกติให้สังคมไทย ทุกคนทั้ง 750 คน มีโอกาสจะคืนความปกติให้กับการเมืองไทย ให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้า ให้เราเท่าเทียมกัน ให้เราเท่าทันโลกกับเขาสักที ฉะนั้นขอส่งข้อความนี้ไปยังพี่น้องประชาชน ถ้าพวกคุณไม่ถอย ผมก็ไม่ถอยเช่นกัน เราพิสูจน์แล้วว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าพวกเราร่วมมือกัน และวันที่ 13 ก.ค. นี้ ตนพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรีของทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นใหญ่ จะอยู่ที่รหัสไปรษณีย์ไหนในประเทศไทย เลือกหรือไม่เลือก ขออนุญาตให้นายกรัฐมนตรีชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รับใช้พวกคุณ”

นั่นคือคำพูดของ นายพิธา ระหว่างปราศรัยกับประชาชนที่แยกราชประสงค์ เมื่อเย็นวันที่ 10 กรกฎาคม หนึ่งในเวลาที่เขาเดินสายมาอย่างต่อเนื่องหลายจังหวัด ซึ่งความหมายในคำพูดก็คือ ท่าที คำพูด และการเคลื่อนไหวล้วนเป็นลักษณะที่เข้าใจได้ทันทีว่านี่คือการ "ปลุกม็อบ” ใช้กระแสสังคมเพื่อมาบีบให้หนุน ซึ่งในที่นี้ก็มีเป้าหมายพุ่งไปที่ส.ว.นั่นเอง โดยส่วนใหญ่ พวก ส.ว.ย้ำว่าจะไม่โหวตให้ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับนโยบายที่อ่อนไหว เช่น การแก้ไข มาตรา 112 รวมไปถึงนโยบายที่ไม่น่าไว้วางใจเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาท่าทีของ ส.ว.ก่อนหน้านี้ ที่หลายคนเริ่มออกมาพูดในลักษณะที่ว่าจะโหวตหนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย แม้ว่าในตอนนั้นยังไม่มีความชัดเจนว่าการโหวตดังกล่าวหมายถึงว่า ยังมีพรรคก้าวไกล ร่วมอยู่ในรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำหรือไม่ หรือว่าเป็นการ “พลิกขั้ว”ไปแล้ว หรือเปล่า แต่อย่างน้อยมันก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ท่าทีแบบนี้มันเป็นผลบวกกับเพื่อไทย

ขณะเดียวกันหากเป็นแบบนั้นจริง มันยังเป็นการทำลายน้ำหนักจากคำพูดที่ว่าพวกเขาได้ “ฉันทามติ”จากประชาชนจะไปขัดขวางไม่ได้ แต่คราวนี้เป็นการโหวตให้อีกพรรค คือพรรคเพื่อไทย กลายเป็นว่าเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับ ก้าวไกล ซึ่งต้องใช้วิธีปลุกม็อบมากดดัน และสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีความมั่นใจ หรือเหมือนกับรับรู้ชะตากรรมล่วงหน้าแล้วว่า “ไม่ผ่าน”แน่นอนแล้ว

นอกเหนือจากนี้ยังมีคำพูดจากหัวหน้าพรรคภภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคอันดับสามที่มีเสียง ส.ส.71 คน กล่าวยืนยันว่า สมควรโหวตเลือกนายกฯเพียงครั้งเดียวเท่านั้น มันก็เหมือนกับการ “ดับฝัน” นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ที่มีความพยายามจะยื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะการโหวตอย่างน้อยสอง หรือสามครั้ง รวมไปถึงลากยาวไปเรื่อยๆ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น