xs
xsm
sm
md
lg

“พิธา” จบเห่ เร็วเกินคาดหมาย!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์  - ปิยบุตร แสงกนกกุล
เมืองไทย 360 องศา

แม้ว่าอาจจะไม่ใช่เป็นประเด็นใหม่อะไรนัก เนื่องจากสังคมรับรู้มาสักระยะหนึ่งแล้ว กับการที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล จะไม่ได้รับเสียงโหวตจากสมาชิกรัฐสภาได้ครบจำนวน 376 เสียง หลังจากที่เวลานี้ทั้ง 8 พรรคที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำมีเสียงจำนวน 312 เสียง (ลบออกหนึ่งเสียง) กรณีประธานรัฐสภาต้องงดออกเสียง และยังขาดอีกจำนวน 65 เสียง ดังนั้น ต้องพึ่งพาเสียง ส.ว.เป็นหลัก

แต่ล่าสุด มีการประเมินเสียงชัดเจนแล้วว่า มีประมาณไม่เกิน 10 เสียงของ ส.ว.เท่านั้น ที่จะโหวตสนับสนุน นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่จะ “งดออกเสียง” ซึ่งเป็นลักษณะแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองในแบบ “ปิดสวิตช์ตัวเอง” มีเจตนาย้อนศรพรรคก้าวไกลก่อนหน้านี้ที่เคยเสนอแก้กฎหมายให้ปิดสวิตช์มาแล้ว ขณะเดียวกัน ก็มี ส.ว.อีกกลุ่มหนึ่งจะ “โหวตสวน” คือ ไม่เอา นั่นเอง

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดก่อนหน้านั้น หลังการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลก็ได้มีการสอบถามถึงจำนวนเสียงสนับสนุนของ ส.ว.ว่ามีเสียงสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ ซึ่งฝ่ายพรรคก้าวไกล โดยเลขาธิการพรรคคือ นายชัยธวัช ตุลาธน กล่าวยอมรับเป็นนัยแล้วว่ายังไม่พอ โดยย้ำว่ากำลังพยายาม

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงผลการประชุมแปดพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ว่าทั้ง 8 พรรคยืนยันชัดเจนให้ความเห็นชอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชุมมอบหมายให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอชื่อ ดังนั้น ตนจะเป็นคนเสนอชื่อนายพิธาต่อที่ประชุมเอง โดยที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะเปิดให้สมาชิกที่มีข้อซักถามสามารถซักถามคนที่มีชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ถามว่า ที่ประชุมได้พูดคุยถึงวิธีการโหวตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยอมรับว่า ในที่ประชุมมีการหารือกันวิธีการโหวตนายกรัฐมนตรีโดยให้ ส.ส. 500 คนโหวตก่อน และให้ 250 ส.ว.โหวตต่อ แต่เห็นว่าหากเสนอเป็นญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเรื่องนี้ ที่ประชุมเห็นว่าอาจจะทำให้บรรยากาศของการประชุมในวันดังกล่าวสร้างบรรยากาศที่ติดขัด สร้างความระแวงสงสัย จึงสรุปว่าอะไรที่จะทำให้บรรยากาศที่ประชุมไม่ดี เราจะหลีกเลี่ยง และยืนยันที่จะทำตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในการโหวตโดยให้สมาชิกรัฐสภาโหวตเรียงตามอักษร

ถามว่า ที่ประชุมมีการสอบถามเรื่องเสียง ส.ว.ที่จะสนับสนุนนายพิธาหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มีการสอบถามกัน ซึ่งทางนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ตอบในมุมที่อยู่บนพื้นฐานความพยายามที่จะประสานและหาเสียงสนับสนุนให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้ระบุว่ามีจำนวนเท่าใด

ซักว่า หากฟังจากสิ่งที่ นายชัยธวัช ชี้แจง แสดงว่ายังได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ไม่ครบเท่าจำนวนที่ต้องการใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่ได้รับคำตอบจากนายชัยธวัช ซึ่งเราได้ถามในที่ประชุมไป นายชัยธวัชก็บอกว่าพยายาม ส่วนจะครบหรือไม่ครบนั้น นายชัยธวัชไม่ได้ยืนยันเป็นตัวเลข

ถามย้ำว่า มีการคุยกันหรือไม่ว่าจะเสนอชื่อนายพิธากี่รอบ ถ้าไม่ได้แล้วจึงจะเปลี่ยนให้ทางพรรค พท. ขึ้นมาเป็นแกนนำ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย เหตุการณ์นั้นยังไม่เกิดขึ้น เอาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม เป็นตัวหลักก่อน
 
ความหมายคำพูดของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็สื่อชัดเจนแล้วว่า นายพิธา หรือพรรคก้าวไกล ยังไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ได้ครบจำนวน เพราะการใช้คำว่า “พยายาม” ก็คือยังได้ไม่ครบนั่นเอง ซึ่งก็ไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะท่าทีของบรรดา ส.ว.ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดยืนยันไม่โหวตให้กับแคนดิเดตนายกฯและพรรคที่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 รวมไปถึงนโยบายที่เกี่ยวกับความมั่นคง เป็นต้น

ทำให้ค่อนข้างแน่ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ “ไม่ผ่าน” ซึ่งจะว่าไปแล้ว เจ้าตัวและพรรคก้าวไกลก็รับรู้ถึงบรรยากาศดังกล่าวอยู่แล้ว ถึงได้ใช้วิธีเดินสายปลุกเร้ามวลชนสร้างกระแสกดดันมาอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันโหวต คือ วันที่ 13 กรกฎาคม

แต่ล่าสุดสถานการณ์สำหรับ นายพิธา ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องกรณีถือหุ้นสื่อ (ไอทีวี) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยในคำร้องดังกล่าว กกต.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อและแคนดิเนตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ประกอบมาตรา 101(6) หรือไม่จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย หลังใช้เวลากว่า 3 วัน รับฟังและพิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขอสำนักงาน กกต.แล้วเห็นว่ามีข้อมูลพยานหลักฐานเพียงพอให้เชื่อว่ามีเหตุตามที่มีการยื่นคำร้องจริง โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ได้ลงนามในคำร้องและมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานฯ นำไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญทันที

แน่นอนว่า เมื่อเป็นแบบนี้มันก็มีลักษณะซ้ำรอยกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีถือหุ้นบริษัท วีลัค มีเดีย ที่ในขั้นต้นถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่และตามมาด้วยการพ้นสภาพ ส.ส. สำหรับ นายพิธา จะว่าไปแล้วมันก็น่าจะชัดเจนกว่าด้วยซ้ำกรณีถือหุ้นไอทีวี ว่าเป็นการ “ถือหุ้นสื่อ” หรือไม่ และคงไม่ใช่นิติสงคราม หรือการ “เตะตัดขาสกัดดาวรุ่ง” อะไรไม่ เพราะถือว่ามีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้ว ไม่มีการแก้ไข ปล่อยล่วงเลยมานับสิบปี และเจ้าตัวก็เคยยอมรับเองเมื่อก่อนการเลือกตั้งว่า “เคยปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้วว่าไม่เป็นไร” ก็ไม่รู้ว่าที่ปรึกษาคนนั้นเป็นใคร รายเดียวกับ ดร.กฎหมาย นายปิยบุตร แสงกนกกุล หรือไม่ ผลถึงได้ออกมาอย่างที่เห็น

อย่างไรก็ดี งานนี้มันก็คงเป็นเงื่อนไขให้เกิดม็อบบรรดา “ด้อมส้ม” ที่รับไม่ได้ และต้องเข้าใจว่าถูกกลั่นแกล้ง ก็ว่ากันไป แต่เมื่อทุกอย่างต้องว่ากันตามกฎหมาย อีกทั้งทุกอย่างก็ต้อง “ว่ากันไปตามกรรม” ส่วนจะรับได้แค่ไหนนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง

ขณะเดียวกัน เมื่อคดีถือหุ้นสื่อไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว มันก็ทำให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่าจะมีความชอบธรรมในการโหวตหรือไม่ เพราะเหมือนกับมีความ “ด่างพร้อย” มีตำหนิไปแล้ว ต้องรอให้เคลียร์ก่อนหรือไม่ เป็นคำถามที่ตามมาในวันที่ 13 กรกฎาคมที่เป็นวันกำหนดการประชุมรัฐสภา

เอาเป็นว่านาทีนี้สำหรับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ “จบเห่” เร็วกว่าที่คาด เพราะนอกจากแนวโน้มเห็นชัดแล้วว่าไม่มีทางได้รับเสียงโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ก่อนมีคำวินิจฉัยคดี และเมื่อย้อนดูอดีตกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่โดนเรื่องถือหุ้นสื่อมันก็กลับมาซ้ำร้อยเดิม นั่นคือ ไม่ได้เป็น ส.ส.และอดเป็นนายกฯ ถือว่า “แรง” ไม่น้อยเลย!!


กำลังโหลดความคิดเห็น