ครป.เรียกร้อง ส.ว.โหวต 'พิธา' เป็นนายกฯ ตามเสียงข้างมากของประชาชน หวัง 'ก้าวไกล-เพื่อไทย' แน่นแฟ้นเหมือนกอไผ่ ปิดทางอำนาจเก่าตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย
วันนี้ (16 ก.ค.66) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และภาคประชาชน แถลงข่าววิพากษ์บทบาท ส.ว. และข้อเสนอการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 19 ก.ค.66 ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน
นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. เปิดเผยว่าสถานการณ์ทางการเมือง หลังจาก ส.ว.ส่วนใหญ่โหวตไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง ทำให้รัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมากได้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.5 ปีในการโหวตเลือกนายกฯ ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นไปเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้ง
เรารู้สึกผิดหวังกับ ส.ว. การงดออกเสียงเท่ากับเป็นเสียงไม่เห็นชอบ ตามรธน เป็นความไม่รับผิดชอบต่อสังคม ไม่รับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงตามระบอบประชาธิปไตย ไม่รับผิดชอบต่อระบอบรัฐสภา เราไม่อยากประณาม ส.ว.มาก เนื่องจากมีโอกาสโหวตนายกฯ อีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค.นี้ จึงขอเรียกร้องให้ ส.ว..โหวตเห็นชอบตามเสียงข้างมาก หากมติออกมาเป็นแบบเดิม อาจถูกตั้งคำถามว่าวุฒิสภาเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย
นายเมธา ขอโอกาสจากพรรคกลางเมือง เพื่อผ่าทางตันวงจรสืบทอดอำนาจ พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่ไม่ใช่พรรคจาก คสช. เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ที่งดออกเสียงอย่างมีนัยสำคัญโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ทั้งนี้ขอให้พรรคการเมืองสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยทันที ผลักดันให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิไตยโดยเร็ว พรรคการเมืองต้องผนึกกำลังให้แน่นเหมือนไผ่ร้อนกอ ภายใต้การยุแหย่ให้แตกแยก ปิดทางฟื้นอำนาจเก่าให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย นำไปสู่รัฐบาลเสียงข้างมากตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้
นายจำนงค์ หนูพันธุ์ ประธานขบวนการการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) กล่าวว่าเรารู้สึกผิดหวังที่มีเสียง ส.ว.โหวตนายกฯ เพียงแค่ 13 เสียง เราหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงดีขึ้น กลุ่ม P-Move ยืนยันว่าจะสนับสนุนนายพิธา เป็นนายกฯ หวัง ส.ว.ทั้ง 13 คนจะโหวตให้นายพิธาเช่นเดิม พร้อมกับหา ส.ว.มาโหวตให้นายพิธาเพิ่มเติมด้วย และขอให้เป็นพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยผูกมัดกัน เป็นรัฐบาลด้วยกัน หรือเป็นฝ่ายค้านก็เป็นด้วยกัน
นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะมีความพยายามที่จะไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน อยากเตือนทุกฝ่ายที่กำลังเล่นเกม กำลังทำให้ประเทศชาติถึงทางตัน บ้านเมืองไปต่อไม่ได้ พร้อมเรียกร้องให้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลยืนยันทำตามเสียงของประชาชน ส่วนพรรคการเมืองเสียงข้างน้อยกำลังถูกจังตาโดยประชาชน หากคิดจะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือเล่นเกมโดยไม่เคารพเสียงของประชาชนจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ของพรรคการเมือง ส.ว.ที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ให้อำนาจโหวตนายกฯ แต่ถ้า ส.ว.ที่ไม่เคารพเสียงประชาชน ประชาชนมีสิทธิที่จะบอยคอตต์ธุรกิจเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะตราบใดที่คุณเลือกอยู่ข้างประชาชน ประชาชนจะปกป้องคุณเอง
นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เหนือความคาดหมาย ปัญหา ส.ว.กับรัฐธรรมนูญแยกกันไม่ได้ นายพิธา กำลังเจอกับภูเขาสองลูกใหญ่ ได้แก่ ภูเขาอำนาจเหนือรัฐ และภูเขาอำนาจทุนนิยมผูกขาด ทางออกหากได้ร่วมรัฐบาลโดยให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ก็คงดี หากถูกผลักออกไปเป็นฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลต้องเตรียมแผนรับมือไว้ด้วย สิ่งที่ต้องทำคือการจับมือกันแก้รัฐธรรมนูญโดยมี สสร. ภายใน 2 ปี
นายอมร อมรรัตนานนท์ อดีตเลขาธิการเครือข่ายเดือนตุลา กล่าวว่าปรากฏการณ์วันนี้ บ้านเมืองยังถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุนและข้าราชการ ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญทุกฉบับถูกฉีกด้วยกระบวนการนิติสงคราม แต่วันนี้กลายเป็นนิติประหาร สะท้อนได้จากการทำงานของฝ่ายตุลาการ
"กลุ่มอำนาจควรใช้โอกาสนี้ผ่อนคลาย หยิบยื่นปชต แต่กลับเป็นต้นเหตุของความหายนะ ถ้ายังดึงดันไม่คลายอำนาจในมือ อย่าโทษเด็กที่แสดงออกว่าเป็นต้นเหตุ ขอให้ ส.ว.ที่เป็นผู้อาวุโส ตัดสินใจเดินหน้าเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ หรือตัดสินใจจะเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุน ซึ่งถือเป็นฟางสุดท้าย"
นายอมร กล่าวต่อว่าการเสนอแก้มาตรา 272 เป็นความชอบธรรม ส.ว.ต้องโหวตสนับสนุน เพราะหน้าที่ของ ส.ว.ในอารยะประเทศจะไม่โหวตเลือกนายกฯ สำหรับการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวที่ต้องต่อสู้กับอำนาจเก่าที่หยั่งรากลึก ต้องเคลื่อนไหวอย่างสุขุมรอบคอบ และมียุทธศาสตร์ชัดเจน