โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน
จากราชวงศ์หลิวซ่งจนถึงราชวงศ์ถังตอนต้นในช่วงการก่อตั้งสมาพันธรัฐศรีวิชัยในปีพ.ศ.1226 เอกสารจีนหลายฉบับเช่น ซ่งชู้ หนานฉีชู้ เฉินชู้ เหลียงชู้ สุยชู้ จิ่วถังชู้ ซินถังชู้ ถังฮุ่ยเย่า ไท่ผิงหวนหยู่จี๊ ไท่ผิงยู่หลัน ท๊งเตี๋ยน และบันทึกต่างๆของท่านอี้จิง กล่าวถึงรัฐต่างๆในทะเลใต้ ปัน-ปันเป็นรัฐแรกจากทะเลใต้ที่ส่งทูตไปจีนประมาณปี พ.ศ.967-996 ในสมัยราชวงศ์หลิวซ่ง และกา-หล่า-ตัน ส่งทูตคณะแรกไปจีนในปีพ.ศ.973 ตามที่บันทึกในพงศาวดารซ่งชู้ (宋书) หลังจากนั้นรัฐต่างๆในทะเลใต้ก็ส่งทูตไปจีนอย่างต่อเนื่องดังนี้
กา-หล่า-ตัน (訶罗旦เหอ-หลัว-ตัน) ส่งทูตไปจีนตามบันทึกในพงศาวดารซ่งชู้ เหลียงชู้ และหนานฉีชู้ ซ่งชู้บันทึกว่ากา-หล่า-ตันปกครองเกาะชวา แต่เหลียงชู้บันทึกว่ากา-หล่า-ตันตั้งอยู่บนเกาะชวา สุยชู้ระบุว่า กา-หล่า-ตันอยู่ทางใต้ของรักตมฤติกา (เซี๊ยก-ทั่ว) ซูซูกิ เชื่อว่า กา-หล่า-ตัน อาจจะเป็นกลันตันเพราะในยุคนั้นไม่มีพุทธศาสนาในเกาะชวาและสุมาตรา นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า กา-หล่า-ตัน เป็นรัฐพุทธที่เป็นส่วนหนึ่งของเกาะชวา ในปีพ.ศ.977 ผู้ปกครองกา-หล่า-ตันชื่อศรีวิชัย และบรรณาการไปจีนจากเมืองนี้สิ้นสุดลงในปีพ.ศ.995 มาชุมดาร์เชื่อว่ากา-หล่า-ตันคือทะรุมะนคร แต่เมืองนี้อาจจะเป็นสลักขนครที่มีมาก่อนหน้าทะรุมะนครหรือโกตา เกลังงีในรัฐยะโฮร์บนแหลมมลายู ไท่ผิงยู่หลัน เล่มที่ 788 บันทึกเป็น กา-หล่า-ตัน และ กา-หล่า-ต้า
ประดัดหรือ บัว-ดัท (婆达โผ-ต้า) (พ.ศ.978-994) อาจตั้งอยู่ที่โบราณสถานบาตูจายาหรือสลักขนคร (พ.ศ.673-905) หรือสุนทรากะหล๋าป๋า ซูซูกิเชื่อว่าคือปัตตานีแต่เป็นไปไม่ได้เพราะปัตตานีสืบทอดมาจากลังกาสุกะ ราชสำนักหลิวซ่งปฏิบัติต่อกา-หล่า-ตัน ประวังและประดัดเท่าเทียมกันในพุทธศตวรรษที่ 10 ประดัทส่งทูตไปจีนในปีพ.ศ.992 และ 994 ตามที่บันทึกในซ่งชู้ เจีย-บัว-ปา-ตา (闍婆婆达เช-โผ-โผ-ต้า) ซึ่งมีกษัตริย์ปกครองส่งทูตไปจีนในปีพ.ศ.978 ตามที่บันทึกในหนานฉีชู้ มีกษัตริย์ปกครองตามที่บันทึกในไท่ผิงยู่หลัน เล่มที่ 787 ประดัดและกา-หล่า-ตัน อาจจะเป็นเมืองที่มีอยู่ก่อนตัน-ตัน
ตัน-ตัน (丹丹) ถูกบันทึกในพงศาวดารเหลียงชู้ สุยชู้ ไท่ผิงยู่หลัน เล่มที่ 788 ไท่ผิงหวนหยู่จี๊ เล่มที่ 176-179 ท๊งเตี๋ยน เล่มที่ 188 และซินถังซู้ เล่มที่ 222 อาจจะเป็นทะรุมะนครหรือจาการ์ต้าในปัจจุบัน ตัน-ตันปรากฏขึ้นในปีพ.ศ.1078 โดยผลิตทองและโลหะชนิดอื่นขายให้กับปัน-ปัน ตัน-ตัน (พ.ศ.1074-1159) อาจเป็นเมืองที่สืบทอดมาจากประดัท เพราะทูตจากทั้ง 2 เมืองนี้ไม่เคยไปจีนในเวลาเดียวกัน ตัน-ตันและปัน-ปันอาจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเพราะส่งทูตไปราชสำนักสุยพร้อมกันในปีพ.ศ.1159 เพราะมีประเพณีที่คล้ายๆกัน ท๊งเตี๋ยนบทที่ 188 กล่าวถึงทา-ลา-มาหรือทะรุมะนครในหัวข้อตัน-ตันว่าตัน-ตันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทะรุมะนครในเกาะชวาตะวันตก แต่ซินถังชู้บอกว่าตัน-ตัน อาจอยู่ในแหลมมลายูหรือเกาะสุมาตราเพราะปาหังและกลันตันมีเหมืองทอง ซูซูกิเชื่อว่าตัน-ตันอยู่บนแหลมมลายู วอลเตอร์เชื่อว่าตัน-ตันและโผ-ลี่อยู่ทางตะวันออกของบารุสในเกาะสุมาตราบนเกาะชวา นักวิชาการจีน เช่น สวีหยุนเฉียวและหันเจิ้นหัว ก็ศึกษาเกี่ยวกับตัน-ตัน เนื่องจากทะรุมะนครในนาม ทา-ลา-มา ไม่เคยมีบันทึกอยู่ในพงศาวดารจีนว่าส่งทูตไปจีนจึงเป็นไปได้ว่าอาจส่งทูตในชื่ออื่นเช่น กา-หล่า-ตัน ประดัดหรือตัน-ตัน เพราะทูตจาก 3 เมืองนี้ไม่เคยไปจีนพร้อมกันและเอกสารจีนกล่าวว่า 3 เมืองนี้ตั้งอยู่ใกล้ๆกัน
ปัน-ปัน (盘盘) เป็นเพื่อนบ้านทางเหนือของลังกาสุกะ แม้ว่าเซเดซ์และวีทลีย์บอกว่าอยู่แถวอ่าวบ้านดอนแต่ควอริทซ์ เวลส์ เชื่อว่าโบราณสถานที่อ.เวียงสระ จ.สุราษฏร์ธานีคือเมืองหลวงของปัน-ปันและเขาศรีวิชัยเป็นเมืองบริวาร เอกสารจีนระบุว่าปัน-ปันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจามปา ทางใต้ของทวารวดีและอยู่ติดกับลังกาสุกะ พราหมณ์โกณทัญญะเดินทางจากอินเดียมาแวะปัน-ปันก่อนเดินทางไปเป็นกษัตริย์พนม (ฟูนันหรือปิวนาม) ดังนั้นปัน-ปันจึงส่งบรรณาการให้พนม วีทลีย์และฌัคส์ เอกวลเชื่อว่าปัน-ปันเก่ากว่ากัน-ดา-ริและค้าขายกับจามปาปัน-ปัน ถูกบันทึกใน ไท่ผิงยู่หลัน เล่มที่ 787 ไท่ผิงหวนหยูจี๊ เล่มที่ 176-179 และจิ่วถังชู้ เล่มที่ 197
ประวังหรือบัว-วัง (婆皇โผ-หวง) อาจจะเป็นปาหังตามที่มาชุมดาร์และซูซูกิสันนิษฐาน และถูกบันทึกในไท่ผิงยู่หลัน เล่มที่ 787
บัว-ลี่ (婆利โผ-ลี่) ถูกบันทึกในพงศาวดาร สุยชู้ ไท่ผิงยู่หลัน เล่มที่ 787 ไทผิงหวนหยู่จี๊ เล่มที่ 176-179 จิ่วถังชู้ เล่มที่ 197 ถังฮุ่ยเย่าเล่มที่ 94-100 และซินถังชู้เล่มที่ 222 ควรจะอยู่ที่เกาะบอร์เนียวและลาหิรี เชื่อว่าปูเรินคือบันจามาซิน บัว-ลี่แยกจากวิชัยปุระ (佛逝補罗พุท-ชัย-บัว-ลาหรือโฝ-ฉี-โผ-หลัว) โผ-นี่หรือบรูไน เป็นศูนย์กลางทางการค้ามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 ท่านอี้จิงบอกว่าใช้เวลา 4 เดือนในการเดินทางจากทิศตะวันออกไปตะวันตกและ 45 วันจากทิศเหนือไปทิศใต้ดังนั้นจึงมีพื้นที่ใหญ่มาก บัว-ลี่น่าจะเป็นเกาะบอร์เนียวทั้งเกาะมากกว่าจะเป็นนครรัฐ นักวิชาการหลายท่านมีความเห็นเกี่ยวกับที่ตั้งของบัว-ลี่แตกต่างกัน คูรซ์เชื่อว่าบัว-ลี่ถูกบันทึกในสุยชู้เมื่อสุยหยังตี้ส่งฉางจุ้นและหวังจุ้นเฉิงมาเป็นทูตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบัว-ลี่ไม่ควรอยู่บนเกาะบอร์เนียว แต่ระยะทางในเอกสารจีนชี้ให้เห็นว่าเป็นพื้นที่ใหญ่ บัว-ลี่อาจจะรวมโบราณสถานกูไตในกาลิมันตันตะวันออก (เกาะบอร์เนียวตะวันออก) ซึ่งอยู่ไกลออกไปและค้าขายกับชวาเป็นหลัก
บัว-ลา (婆羅โผ-หลัว) ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตราส่งทูตไปจีนในปีพ.ศ.1185 และ พ.ศ.1232 อาจจะเป็นบารุสตามที่วอลเตอร์เชื่อ บารุสอาจเป็นบัว-ลาตามสำเนียงจีนยุคกลางที่บันทึกในซินถังชู้ เล่มที่ 222 หรือบัว-ลา-เจี่ยในบันทึกหนานไห่ของท่านอี้จิงแต่ชาวอาหรับเรียกเมืองนี้ว่าบาลุส ซึ่งอาจจะตั้งอยู่ที่เดอลีกับอาฮาซาฮานทางใต้ของอ่าวอารุและค้าขายกับอินเดียโดยถูกรบกวนจากโจรสลัด อัล-อาดริสีบอกว่าบาลุสคือฟันซูร์ ส่วนกา-ลิง (訶陵) จะกล่าวถึงในเรื่องราชวงศ์ไศเลนทร์
ตามพรลิงค์หรือตัว-บัว-ติง (堕婆澄ตั่ว-โผ-เฉิง) ถูกบันทึกในไท่ผิงยู่หลัน เล่มที่ 787 จิ่วถังชู้ เล่มที่ 197 และซินถังชู้ เล่มที่ 222 ตามพรลิงค์ส่งทูตไปจีนในปีพ.ศ.1190 และเป็นเมืองบริวารของรักตมฤติกา ซึ่งค่อยๆย้ายจาก อ.สิชลไปทางใต้จนถึง อ.เมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากมีการค้นพบวัตถุโบราณมอญก่อนยุคศรีวิชัยและพระพุทธรูปศิลปทวารวดีในวัดหลายแห่งในนครศรีธรรมราชและจารึกศาสนาพราหมณ์ในหุบเขาช่องคอยซึ่งเป็นร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานก่อนยุคศรีวิชัย ตัว-บัว-ติงอาจจะเป็นชื่อตามพรลิงค์ในเอกสารจีนก่อนที่ศรีวิชัยจะเข้ายึดเมืองนี้ในปีพ.ศ.1318 และเปลี่ยนเป็นทัน-มี-ลิว (丹眉流ตั๊น-เหมย-หลิว) ในเอกสารราชวงศ์ซ่ง
เอกสารอ้างอิง
Cœdès, Georges. 1968. The Indianized States of Southeast Asia. Edited by Walter F. Vella. Translated by Susan Brown Cowing. Honolulu, Hawaii: University of Hawaii Press.
Han Zhenhua 韩振华. 1954. "Gongyuan liuqishiji zhongyin guanxishiliao kaoshisanze: Poliguokao, Chituguokao Dandanguokao 公元六七世纪中印关系史料考释三则:婆利国考,赤土国考,丹丹国考." Xiamen Daxue Xuepao 夏门大学学报 (Journal of Xiamen University) 94-114.
Hsu Yun Tsiao, (Xu Yunqiao 许云樵). 1941. "A Study on Ch'ih-t'u or the Red Land." Nanyang Xuebao 南洋学报 (Journal of the South Seas Society) 2/3 (5): 1.
Jacq-Hergoualc'h, Michel. 2001. "A propos de Transferts de Formes communns au Campa et au Panpan (Pénisule malaise au IXe siècle." Art-Asiatique 56: 45-60.
Kurz, Johannes L. 2013. "Pre-modern Chinese Sources in the National History of Brunei: The Case of Poli." Bijdragen tot de Taal-, Land-en Volkenkunde 169 (2/3): 213-243.
Majumdar, Ramesh Chandra. 2004 (1938). Suvarnadvipa: Hindu Colony of the Far East. Vol. 24. New Delhi: Cosmo Publication.
Munro-Hay, Stuart. 2001. Nakhon Sri Thammarat: The Archeology, History and Legends of a Southern Thai Town. Banglok: White Lotus.
Suzuki Takashi 铃木峻. 2012. The History of Srivijaya under the Tributary Trade System of China. Tokyo: Mekong.
Wang Gongwu (Wang Gengwu 王賡武). 1998. The Nanhai Trade: The Early History of Chinese Trade in South China Ocean. Singapore: Time Academic Research.
Wheatley, Paul. 1961. The Golden Khersonese: Studies in the Historical Geography of Malay Peninsula before AD1500. Kuala Lampur: University of Malaya Press.
Wolters, Oliver Williams. 1967. Early Indonesian Commerce: A Study of the Origins of Srivijaya. Ithaca, NY: Cornell University Press.
Wolters, Oliver Williams. 1970. The Fall of Srivijaya in Malay History. Ithaca, NY: Cornell University Press.
Yijing 义净 1995 (1986). Chinese Monks in India: Biography of Eminent Monks Who Went to the Western World in Search of the Law during the Great Tang Dynasty Entitled Datang xiyu qiufa gaosengzhuan 大唐西域求法高僧传. Translated by Latika Lahiri. Delhi: Motilal Banasidass.