ชวนคุณมาทำความรู้จักประวัติความเป็นมาของ “สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย)” องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จังหวัดลำปาง สถานที่ที่จะเป็นบ้านหลังใหม่ของ “พลายศักดิ์สุรินทร์”
ย้อนอดีตกลับไปยังปีที่ 5 แห่งการเสวยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สหราชอาณาจักรได้เข้ามาเปิดบริษัทประกอบธุรกิจการทำไม้ในนามของบริษัทบอร์เนียว ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทย ต่อมามีการนำเครื่องจักรกลเข้ามาเพื่อตั้งโรงเลื่อย และใช้ช้างนับร้อยเชือกในการชักลากไม้
กระทั่งในปี พ.ศ. 2455 กรมป่าไม้ได้ดำริให้มีการฝึกพนักงานป่าไม้ ให้มีความชำนาญในการนำไม้สักออกจากป่า เพื่อจะได้ลดข้อบกพร่องต่างๆ ในขั้นตอนการทำไม้ ตลอดจนการวางมาตรการควบคุมผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบได้ถูกต้อง ในปี พ.ศ. 2476 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดจัดตั้งกองทำไม้ มีหน้าที่ดำเนินการนำไม้สักออกมาจำหน่ายในลักษณะรัฐพาณิชย์ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้ยุบกองทำไม้ และตั้งเป็น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) โดยกำหนดเอาวันที่ 1 มกราคม 2490 เป็นวันก่อตั้ง ล่วงมาจนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2499 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จึงปรับเป็นนิติบุคคล สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ในอดีตนั้น อ.อ.ป. มีช้างงานมากกว่า 150 เชือกกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ เพื่อช่วยในการชักลากไม้ตามป่าสัมปทานต่าง ๆ ซึ่งในการชักลากไม้ต้องใช้ช้างทั้งเพศผู้และเพศเมียทำงานร่วมกัน โดยมีอัตราส่วนของทั้งสองเพศเท่าๆ กัน และจากการที่มีช้างงานจำนวนมากเช่นนี้ จึงมีลูกช้างเล็กๆ เกิดขึ้นทุกปี ลูกช้างนั้นจะต้องอยู่กับแม่ช้างและกินนมแม่อยู่นาน 3 – 4 ปี จึงจะสามารถแยกออกไปฝึกได้ ทำให้เป็นภาระต่อหน่วยช้างที่มีช้างแม่ลูกอ่อน และลูกช้างมากกว่าครึ่งต้องล้มตายลงจากอุบัติเหตุ เช่น สัตว์มีพิษและสัตว์ร้ายในป่าทำร้าย
ในปี พ.ศ. 2512 ศ.ดร.อำนวย คอวนิช อดีดผู้อำนวยการ อ.อ.ป. ซึ่งในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองทำไม้ภาคเหนือ ได้มองเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้ตั้ง “ศูนย์ฝึกลูกช้าง” ขึ้นที่บ้านปางหละ ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง
ศูนย์ฝึกลูกช้างแห่งนี้เป็นศูนย์ฝึกลูกช้างทำไม้แห่งแรกและแห่งเดียวในโลก มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าการใช้ช้างในอุตสาหกรรมป่าไม้นั้นดำเนินมานานนับร้อยปี และสืบเนื่องเรื่อยมาโดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นหลัก
จนกระทั่งทางรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศลง ในวันที่ 17 มกราคม 2532 ทำให้ช้างเอกชนจำนวนมากและช้างขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ไม่มีงานทำ ช้างขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้รวบรวมนำมาไว้ที่ศูนย์ฝึกลูกช้างบ้านปางหละ บางส่วนกระจายอยู่ตามสวนป่าของ อ.อ.ป. แต่ยังพบว่ามีช้างของเอกชนบางส่วน มีการลักลอบทำไม้ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นทุกปี โดยกลุ่มช้างทำไม้ผิดกฎหมายเหล่านี้มีจำนวนประมาณ 2,000 – 2,500 เชือก ซึ่งแต่ละเชือกสามารถทำรายได้ประมาณ 50,000 – 100,000 บาท ต่อเดือน ช้างกลุ่มนี้จะถูกใช้งานอย่างหนัก เนื่องจากเป็นงานที่ผิดกฎหมาย บางครั้งต้องทำงานในตอนกลางคืน บางครั้งเจ้าของให้กินยาบ้า ใช้ไฟเผากัน ใช้มีดหรือหอกแทง มีการลงโทษอย่างรุนแรง เพื่อบังคับให้ช้างทำงานได้มาก ๆ
เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุมผู้กระทำผิดและจับช้างได้ ก็จะส่งช้างของกลางดังกล่าวมาให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นผู้ดูแลเพื่อรอศาลตัดสิน ซึ่งสภาพช้างของกลางที่อยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มักมีสภาพทรุดโทรม บางเชือกก็พิการ หลังหัก ขาหัก ตาบอดหรือมีบาดแผลทั่วทั้งตัว นับว่าศูนย์ฝึกลูกช้างบ้านปางหละเป็นแหล่งรวมช้างที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น
ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) เจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ ในวันที่ 2 เมษายน 2534 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จึงถือเป็นนิมิตหมายที่จะได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสอันเป็นมงคลนี้ด้วยการย้ายศูนย์ฝึกลูกช้าง ซึ่งมีเนื้อที่จำกัดไม่เหมาะกับสภาพการณ์ ที่มีช้างฝึก ช้างแก่ ช้างเจ็บป่วยและช้างของกลางรวมอยู่เป็นจำนวนมาก
จัดตั้งเป็น “ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย” แทนศูนย์ฝึกลูกช้างเดิม โดยได้รับการอนุมัติจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ใช้พื้นที่จำนวน 383 ไร่ ติดต่อกับสวนป่าทุ่งเกวียนบริเวณทางหลวงสายลำปาง – เชียงใหม่ (ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 28 หมู่ 6 ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง) ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จมาเปิดศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2535 เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะและเอกลักษณ์การทำไม้ด้วยช้างของไทยไว้ และยังจะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับเรื่องช้าง เพื่อการศึกษาค้นคว้า หรือทำงานวิจัยอันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งองค์การสากลเพื่ออนุรักษ์ช้างในประเทศไทย ซึ่งในเบื้องต้นศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยมีช้างอยู่ในครอบครองมากที่สุดประมาณ 117 เชือก
ในวันที่ 13 มกราคม 2545 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จเยี่ยมช้างในพระอุปถัมภ์ฯ ช้างพังพระธิดาและช้างพังวนาลี ตลอดจนทรงเสด็จเยี่ยมกิจกรรมของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้กราบทูลถวายรายงานความตั้งใจที่จะยกฐานะของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยขึ้นเป็นสถาบันคชบาลแห่งชาติ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายขอบเขตของการบริบาลช้างไทยให้ครอบคลุมทุกแง่ทุกมุมในการบรรเทาปัญหาที่เกิดกับช้าง เพื่อให้เกิดแนวทางในการอนุรักษ์ช้างอย่างยั่งยืนพร้อมกับอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างไว้เป็นมรดก ให้สามารถสืบทอดต่อชนรุ่นหลังต่อไป จากนั้นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสถาบันคชบาลแห่งชาติ ไว้ในพระอุปถัมภ์ ซึ่งนับว่าเป็นสิริมงคลและเป็นมิ่งขวัญในการพัฒนาสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ให้เจริญต่อไป
ที่มา: https://thailandelephant.org/
ปัจจุบัน นอกจาก สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ เป็นสถานที่ดูแลช้างที่สำคัญแล้ว ยังเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการเรียนรู้ การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง มีกิจกรรมต่างๆ เช่น ชมโขลงช้าง เรียนรู้เป็นควาญช้าง ให้อาหารช้าง เป็นต้น
สำหรับการเดินทางกลับสู่ประเทศไทยของพลายศักดิ์สุรินทร์ จะมาถึงสนามบินเชียงใหม่ ในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 2 ก.ค. 66 จากนั้นจะมีการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ไปดูแลรักษาอาการป่วยที่ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ในวันเดียวกัน
ปัจจุบัน นอกจาก สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ เป็นสถานที่ดูแลช้างที่สำคัญแล้ว ยังเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการเรียนรู้ การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง มีกิจกรรมต่างๆ เช่น ชมโขลงช้าง เรียนรู้เป็นควาญช้าง ให้อาหารช้าง เป็นต้น
สำหรับการเดินทางกลับสู่ประเทศไทยของพลายศักดิ์สุรินทร์ จะมาถึงสนามบินเชียงใหม่ ในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 2 ก.ค. 66 จากนั้นจะมีการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ไปดูแลรักษาอาการป่วยที่ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ในวันเดียวกัน
โดยเบื้องต้นทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ ได้ประกาศงดเยี่ยมพลายศักดิ์สุรินทร์อย่างน้อยเป็นเวลา 30 วัน เพื่อเฝ้าระวังและสังเกตอาการ รวมถึงให้ช้างได้พักผ่อนฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงสร้างความคุ้นเคยกับควาญช้างไทย และปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่หลังจากห่างหายไปนานนับสิบปี
เมื่อพลายศักดิ์สุรินทร์ทำความคุ้นเคยกับที่อยู่ใหม่ และได้รับการดูแลรักษาจนมีสุขภาพแข็งแรงทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจะประกาศเชิญชวนให้คนรักช้างและผู้สนใจได้เข้าเยี่ยมพลายศักดิ์สุรินทร์อีกครั้งหนึ่ง
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline