xs
xsm
sm
md
lg

คริปโตทองดอลลาร์หยวน CBDC เงินสกุลร่วมของบริกส์ : ตัวไหนจะเข้าวิน? (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทนง ขันทอง

วันนี้เรามาดูแนวโน้มของทรัพย์สินที่สำคัญของโลกท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเงินเฟ้อที่สูงดอกเบี้ยอยู่ในวงจรขาขึ้นความผันผวนของตลาดและสงครามยูเครนที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติได้ง่ายๆ โดยเราจะเปรียบเทียบคริปโตทองคำเงินดอลลาร์ CBDC เงินหยวนและเงินสกุลร่วมของบริกส์ที่เตรียมเปิดตัวในเดือนสิงหาคมปีนี้ว่าทรัพย์สินตัวใดจะมาแรงหรือจะเข้าวินในที่สุด

1. คริปโตระส่ำระสาย

สภาพของตลาดคริปโตตอนนี้เรียกได้ว่าดูน่าหดหู่และสิ้นหวังอย่างสุดขีด หลังจากที่กลต.ของสหรัฐฯ ได้ออกมาเล่นงานในแง่กฎหมายต่อทางเว็บเทรดผู้ให้บริการเทรดคริปโตยักษ์ใหญ่ 2 เจ้าได้แก่ Binance ยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 ของโลก และ Coinbase เว็บเทรดยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เหมือนกับว่าต้องการตัดตอนการพัฒนาหรือการขยายตัวของตลาดคริปโตทำให้นักลงทุนต้องเสียหายอย่างหนัก

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ ได้ปิดกิจการของธนาคาร Silicon Valley Bank ธนาคาร Silvergate และธนาคาร Signature ทำให้หลายคนมองว่าเป็นการเปิดฉากการสกัดตลาดคริปโตอย่างมีเงื่อนงำ เพราะว่าธนาคารเหล่านี้มีการทำธุรกิจทางการเงินเชื่อมโยงกับตลาดคริปโต และรัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมออกเงินดิจิทัลดอลลาร์และไม่ต้องการให้คริปโตมาแข่งกับเงินดิจิตอลดอลลาร์

ในขณะที่อุตสาหกรรมคริปโตกำลังระส่ำระสายกับมาตรการคุมเข้มของกลต.สหรัฐฯ นายแกรี เกนสเลอร์ ประธานของกลต. ได้ออกมาประกาศว่า “สหรัฐฯ ไม่ต้องการสินทรัพย์คริปโตไปมากกว่านี้” โดยกล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Squawk on the Street ของสื่อข่าว CNBC เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา

“พวกเรามีสกุลเงินดิจิทัลอยู่แล้วมันเรียกว่าดอลลาร์สหรัฐ เรียกว่ายูโรหรือเรียกว่าเยนตอนนี้พวกมันเป็นดิจิทัลแล้ว พวกเรามีการลงทุนดิจิทัลแล้วเหมือนกัน” เขากล่าว

คำพูดของนายเกนสเลอร์เหมือนกับคำประกาศิตว่ายุคของตลาดคริปโตกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว

นายสกอตต์ เมลเกอร์เจ้าของบัญชีทวิทเตอร์ ‘Wolf of All Street’ ที่มีคนติดตามหลายแสนคนเชื่อด้วยว่าหลังจากที่เล่นงานคริปโตตัวรองต่างๆ แล้ว กลต.จะหันมาจัดการกับบิตคอยน์ในวาระต่อไป

เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้สร้างบิตคอยน์คือ Satoshi Nakamoto ซึ่งเป็นชื่อคนญี่ปุ่นแต่มีความเป็นไปได้มากกว่าที่ผู้สร้างบิตคอยน์จะไม่ใช่คนญี่ปุ่นหรือเป็นบุคคลเพียงคนเดียวมีการคาดคะเนว่าผู้สร้างบิตคอยน์น่าจะทีมงานหลายคนของความมั่นคงของซีไอเอหรือสภาความมั่นคงของสหรัฐฯ รวมทั้ง MI5 ของอังกฤษโดยน่าจะมีการดึงพวกเฮดจ์ฟันด์และแบงก์ยักษ์เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง “ดอลลาร์ 2.0”


Satoshi หมายถึง intelligence หรือฉลาดส่วน Nakamoto หมายถึง central หรือกลางหรือผู้ที่อยู่ภาคกลางส่วนมากบนเกาะ Ryukyu ของญี่ปุ่นเอา 2 คำมารวมกันเราจะได้ Central Intelligence ถ้าเติมคำว่าหน่วยงาน Agency จะได้คำว่า CIA พอดี

โครงการบิตคอยน์เริ่มต้นในห้องแล็บของฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐฯ ก่อนที่จะปล่อยเสือเข้าป่าเพื่อให้คนคุ้นเคยกับคำจำกัดความใหม่ของเงินที่มีส่วนประกอบของเทคโนโลยีต่างจากคำจำกัดความเดิมของเงินที่เป็น commodities เช่นทองคำหรือเงินที่ต่อมาพัฒนาเป็นเงินกระดาษล้วนๆ ก่อนที่พัฒนาการของเงินในขั้นตอนต่อไปคือ การเปิดตัวเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency) มาใช้เพื่อควบคุมระบบการเงินแบบเบ็ดเสร็จ

บิตคอยน์คือเงินคริปโตที่มีการกระจายอำนาจการถือครองออกจากธนาคารกลางหรือผู้บริหารเจ้าเดียวบิตคอยน์สามารถส่งจากผู้ใช้หนึ่งคนไปยังอีกหนึ่งคนบนเครือข่ายเพื่อนรักหักเหลี่ยมเพียร์ทูเพียร์ โดยไม่ต้องมีคนกลางเช่นธนาคาร

คำว่าคริปโตในความหมายของตัวมันเองคือสิ่งที่คลุมเครือหรือมีการสร้างรหัสลับเพื่อปกปิดตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ Satoshi Nakamoto จึงเป็นชื่อที่อำพราง (cryptic) เพื่อไม่ให้คนทั่วไปรู้ว่ามีแหล่งกำเนิดที่แท้จริงมาจากที่ใดหรือวาระแอบแผงของบิตคอยน์

หลังบิตคอยน์เปิดตัวในปี 2010 และมีคริปโตตัวอื่นๆ (Alternative coins) ที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีคลอดตามออกมามากมากมาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับการเงินของสหรัฐฯ ยุโรปและประเทศต่างๆ เพ่งเล็งตลาดคริปโตว่าอาจจะเป็นแหล่งฟอกเงินหรือถูกใช้เพื่อการก่ออาชญากรรมหรือการก่อการร้ายเพราะว่าตรวจสอบที่มาที่ไปไม่ได้ จึงมีการข่มขู่ผู้เล่นในตลาดคริปโตเป็นระยะๆ ว่าอาจจะถูกมาตรการจำกัดตัดตอนหรือการออกกฎหมายแบนไปเลยก็ได้ แต่ก็ยังปล่อยให้ตลาดคริปโตเติบโตอย่างมีนัยสำคัญเพราะว่าผู้ดูแลระบบการเงินโลกในปัจจุบันต้องการให้คริปโตเป็นใบเบิกทางให้ CBDC นั่นเอง

เมื่อได้เวลาเปิดตัว CBDC ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลออกโดยธนาคารกลางคริปโต ซึ่งเป็นนวัตกรรมของเอกชนล้วนๆ จะหมดประโยชน์และจะถูกแบนเพื่อไม่ให้มาแข่งกับ CBDC
ถ้าจะว่าไปแล้วการลงทุนในคริปโตเป็นการลงทุนในลักษณะการเก็งกำไรล้วนๆ โดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานอะไรมารองรับเพราะว่าคริปโตเป็นเงินอากาศดีๆ นี่เอง

ตลาดคริปโตเริ่มตั้งลำและกลายเป็นกระแสฮิตไปทั่วโลกอย่างเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่ปี 2017 โดยที่ราคาหรือมูลค่าของคริปโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก่อนที่ตลาดรวมของตลาดคริปโตไปพีคที่ระดับ $3 ล้านล้านและบิตคอยน์ทำราคาสูงสุดที่ $68,991 ในเดือนพฤศจิกายนปี 2021

การเติบโตของตลาดคริปโตไปเคียงคู่ขนานกับสภาพคล่องของดอลลาร์ที่ล้นจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำ และการเพิ่มปริมาณเงินผ่านการทำคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ทรัพย์สินทางการเงินต่างๆ บูมไปหมด บิตคอยน์และเงินคริปโตตัวอื่นๆ ได้รับอานิสงส์จากนโยบายการเงินที่ผ่านคลายนี้เริ่มมีการยอมรับในทรัพย์สินคริปโตที่ถือว่าเป็นการลงทุนทางเลือก (alternative investment) มากขึ้นจากสถาบันการเงินและกองทุนต่างๆ แม้ว่าจะมีราคาผันผวนขึ้นลงหวือหวาเป็นอย่างมากนักลงทุนหน้าใหม่หรือนักลงทุนยุคมิลเลนเนียลต่างก็กลายเป็นมหาเศรษฐีร่ำรวยขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากการแห่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดคริปโต

แต่หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มขึ้นดอกเบี้ยในช่วงต้นปี 2022 อย่างรุนแรงและรวดเร็วเพื่อสกัดเงินเฟ้อโดยดึงดอกเบี้ยจาก 0-0.25% จนถึง 5.0-5.25% ในปัจจุบันปรากฏว่าทรัพย์สินทางการเงินต่างๆ มีการปรับตัวลงมาอย่างแรงฟองสบู่ของคริปโตก็แตกตามไปด้วย เพราะว่าไม่มีสภาพคล่องหล่อเลี้ยงเหมือนเดิมมูลค่าตลาดรวมของคริปโตลดลงจาก $3 ล้านล้านเหลือเพียง $1 ล้านล้านในเวลานี้ทำให้นักลงทุนคริปโตที่เข้ามาทีหลังขาดทุนมหาศาล

จีนไหวตัวทันในเรื่องคริปโตเพราะไม่ไว้ใจกับเงินอากาศที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อล่อแมงเม่าให้เข้ากองไฟจอร์จ โซรอส เป็นผู้เล่นเงินคริปโตรายใหญ่ ถ้าหากจีนปล่อยเสรีให้นักลงทุนจีนหรือสถาบันการเงินจีนเข้าไปลงทุนหรือเกี่ยวข้องกับคริปโตจะเกิดหายนะอย่างใหญ่หลวงต่อนักลงทุนและระบบการเงินที่เชื่อมโยงกันอาจทำให้ระบบการเงินจีนพินาศได้เพราะว่าในท้ายที่สุดจีนจะถือคริปโตที่ไร้ค่าส่วนเงินหยวนที่มีค่าจะไหลไปอยู่ในมือต่างชาติ


ดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นสูงอย่างรวดเร็วมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของระบบธนาคารของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวไม่ทันถูกผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินจนรับมือแทบไม่ไหว ทำให้ธนาคารหลายแห่งถูกทางการเข้าไปแทรกแซงยึดกิจการขายให้ผู้ถือหุ้นใหม่ที่มีกำลังซื้อและรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องออกมาประกาศว่าจะค้ำประกันเงินฝากทุกเม็ดคาดกันว่ากว่าครึ่งของธนาคารในสหรัฐฯ ที่มีอยู่ทั้งหมด 4,500 กว่าแห่งล้มละลายทางบัญชีไปแล้วรอวันที่จะถูกเช็กบิลด้วยการถูกสั่งให้ปิดกิจการหรือถูกบังคับขายทอดตลาด

เงินฝากในระบบธนาคารสหรัฐฯ มีอยู่ประมาณ $17 ล้านล้านไม่มีทางที่ธนาคารกลางหรือกระทรวงการคลังจะแบกรับภาระได้ในกรณีที่ถูกถอนเงินทั้งระบบหรือมีการล้มละลายที่ส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ จึงทำให้มีหลายคนเชื่อว่าต่อไประบบธนาคารของสหรัฐฯ จะมีธนาคารเหลืออยู่เพียง 5-6 แห่งเท่านั้น เพื่อเป็นการง่ายในการควบคุมดูแลโดยรัฐบาลจะยกเงินดอลลาร์กระดาษและนำเอาเงินดิจิทัลดอลลาร์ที่ไม่มีกายภาพมาใช้ซึ่งจะช่วยสกัดการแห่ถอนเงินเพราะว่าไม่สามารถจะถอนเงินดิจิทัลที่ไม่มีรูปร่างไปเก็บที่บ้านได้

นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังมีปัญหาหนี้สินที่พะรุงพะรังแม้ว่าจะมีการผ่านกฎหมายเพื่อเพิ่มเพดานหนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว ทำให้หนี้สาธารณะ $31.4 ล้านล้านจะพุ่งต่อไปแตะระดับ $35 ล้านล้านในปี 2025 ก่อนไปถึง $50 ล้านล้านในปี 2030 หนี้ที่พุ่งอย่างรวดเร็วจากการไร้วินัยทางการคลังแบบนี้ทำให้ความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์จะหมดไป เพราะทุกคนรู้ดีว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ไม่มีความตั้งใจที่จะใช้หนี้มีแต่จะพิมพ์เงินเพิ่มในการก่อหนี้ใหม่และจ่ายหนี้เก่าเนื่องจากต้องใช้จ่ายเงินมากในงบประมาณกลาโหมและงบประมาณผูกพัน

ยิ่งรัสเซียจีนและกลุ่มประเทศ BRICS รวมทั้งประเทศผู้ผลิตน้ำมันกำลังทิ้งดอลลาร์เพื่อสร้างระบบการเงินโลกใหม่ที่ไม่ใช้ดอลลาร์ แต่จะใช้เงินหยวนหรือเงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างกันและจะตั้งเงินสกุลร่วมบริกส์แรงกดดันของดอลลาร์ในทิศทางขาลงยิ่งจะเพิ่มไปเรื่อยๆ ในอนาคต

วิธีทางแก้หนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และแก้ปัญหาในระบบธนาคารสหรัฐฯ คือการเอา CBDC มาแทนดอลลาร์ในปัจจุบันเพื่อลดหนี้ปรับโครงสร้างหนี้หรือเบี้ยวหนี้ และเพื่อควบคุมการถอนเงินจากธนาคารของผู้ฝากเงิน คาดกันว่าเมื่อระบบการเงินสหรัฐฯ ไปต่อไม่ไหวจากการที่ดอลลาร์ถูกนักลงทุนและธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ดัมป์ทิ้งรัฐบาลสหรัฐฯ จะนำเอา CBDC หรือดิจิทัลดอลลาร์มาใช้

เมื่อถึงเวลานั้นบิตคอยน์หรือเงินคริปโตทั้งหลายที่ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นมาเป็นเป็นใบเบิกทางให้ CBDC จะหมดประโยชน์และจะถูกกวาดล้างหรือถูกแบนเพราะว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ย่อมไม่ต้องการให้คริปโตมาแข่งกับการผูกขาดของ CBDC

ด้วยเหตุนี้อนาคตของเงินคริปโตต่างๆ รวมทั้งบิตคอยน์จึงเปรียบเหมือนกำลังถูกแขวนบนเส้นด้ายไม่รู้ว่าจะถูกควบคุมเพิ่มจาก กลต.สหรัฐฯ หรืออาจจะถูกแบนไปเลยผ่านการออกกฎหมายโดยสภาของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดคริปโตที่ได้กระจายไปทั่วโลกหลังจากที่คริปโตถูกสร้างให้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเงินกระดาษและเงิน CBDC และกำลังจะหมดประโยชน์

Zoltan Pozsar อดีตนักวิเคราะห์การเงินของเครดิตซูอิสบอกว่า เขาไม่ได้ลงทุนในบิตคอยน์หรือเงินคริปโตเพราะว่าเขาไม่ต้องการลงทุนอะไรที่เขาไม่เข้าใจเขามองว่าบิตคอยน์ไม่น่าที่จะทำหน้าที่เป็นเงินได้ เพราะว่าจากการศึกษาตามประวัติศาสตร์เงินต้องมีส่วนเชื่อมโยงกับรัฐบาลเพื่อที่จะมีความยั่งยืน แต่บิตคอยน์เป็นนวัตกรรมของเอกชนและไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับรัฐบาลเลย

Nassim Taleb ผู้แต่งหนังสือBlack Swan บอกว่าอนาคตของคริปโตค่อนข้างจะง่อนแง่นเพราะว่ามันใช้การไม่ได้สำหรับการฟอกเงินเพราะว่าสามารถจะตรวจสอบได้ ในขณะที่ทองคำสามารถเอาไปหลอมแปลงโฉมได้แต่บิตคอยน์เป็นเหมือนการลงบัญชีBook Entry ที่มีหลักฐานทิ้งไว้

เขาเปรียบบิตคอยน์เหมือนกับเป็นการผสมเงินกับลัทธิของความเชื่อ (cult) เข้าด้วยกันซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่มีการทำเช่นนี้ เขาบอกว่าเราอาจผสมผสานลัทธิ Cult กับโยคะหรือกับดนตรีได้ แต่จะไปทำกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินไม่ได้

เขาเชื่อว่าเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ เปิดตัว FedNow หรือระบบชำระเงินในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้เพื่อรองรับเงินดิจิทัลของรัฐบาลตลาดคริปโตอาจจะหมดอนาคตไปเลย

2. ทองคำ

ในรอบเดือนที่ผ่านมานักลงทุนได้เทขายทองออกไปทำให้ราคาร่วง 3.40% หรือ $68 ไปอยู่ที่ $1947 ต่อออนซ์ในวันนี้ หลังจากที่ทำแรลลีก่อนหน้านั้นราคาทองยังคงมีปัญหาในการขึ้นไปทดสอบระดับ $2,000 ต่อออนซ์

ในระยะสั้นนักลงทุนกำลังจับตาดูว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินระหว่างวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้ จะคงดอกเบี้ยที่ระดับ5.0-5.25% หรือจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปซึ่งจะมีผลกระทบต่อราคาทองคำ

ตามกลไกของตลาดที่ผ่านมา ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะกดราคาทองคำลงมาเนื่องจากมันจะทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและทำให้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีความน่าดึงดูดมากขึ้น

ล่าสุดเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อยู่ที่ 4% ในเดือนพฤษภาคมซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมสินค้าหมวดอาหารและพลังงานซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้น้ำหนักมากกว่าในการดำเนินนโยบายทางการเงินยังคงอยู่ระดับสูงอยู่ที่ 5.3% โดยเทียบกับ 5.5% ในเดือนก่อนหน้านี้ แต่ยังถือว่ายังคงมีความร้อนแรงอยู่เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2.0%

นักวิเคราะห์มองกันว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ น่าที่จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.0-5.25% และจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียวคือในเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ไปพีคที่ระดับ 5.25-5.50% โดยที่ทั้งปี หลังจากนั้นจะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยลงเนื่องจากว่าจะเอาเงินเฟ้อให้ลงทุนระดับเป้าหมายจำต้องยอมเจ็บตัวในการคงดอกเบี้ยที่ระดับสูง

นักลงทุนในตลาดทองคำจึงมุ่งความสนใจไปที่การส่งสัญญาณของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะแถลงข่าวหลังการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ว่า มีความกังวลใจในเรื่องใดเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการจ้างงานการขยายตัวของเศรษฐกิจเงินเฟ้อรวมทั้งเสถียรภาพในระบบธนาคารที่ออกอาการเซตุปัดตุเป๋

ที่สำคัญนักลงทุนอยากจะรู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ เตรียมการรับมือการออกพันธบัตรของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่คาดกันว่าจะมีปริมาณมากถึง $1 ล้านล้านภายในไตรมาส 3 อย่างไรเพื่อเติมเงินเข้าเงินคงคลังซึ่งจะดูดสภาพคล่องมหาศาลออกจากระบบ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังทำ QT หรือการดูดสภาพคล่องออกจากระบบที่ระดับ $90,000 ล้านต่อเดือน

ราคาทองคำซึ่งทำแรลลีในช่วงที่ผ่านมาแล้วไปยืนเหนือระดับ $2,000 ในเดือนมีนาคมเป็นครั้งแรกในปีนี้ หลังจากนั้นมีการปรับตัวลงมาจากการทำกำไรในระยะสั้นต่อไปทองคำอาจจะขึ้นต่อไปได้อีกไม่มากเนื่องจากในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาทองให้ผลตอบแทนดีพอสมควรโดยทำราคาสูงขึ้นไปแล้ว 7.7% หรือ $139 ราคาทองคำพุ่งแตะระดับสูงสุดที่ $2,075 ในเดือนสิงหาคมปี 2020 และนักลงทุนส่วนมากเชื่อว่าราคาทองคำจะทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ในปี 2023 นี้

Jeffrey Gundlach ซีอีโอของ DoubleLine Capital เชื่อว่าสหรัฐฯ กำลังจะเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และเขาคิดว่าทองคำเป็นเงินที่แท้จริงแม้ว่าราคาทองคำจะมีปัญหาในการยืนเหนือระดับ $2,000 ในช่วงที่ผ่านมากุนแล็คบอกว่าพอร์ตการลงทุนของเขามีหุ้นอยู่ 30% มีพันธบัตร 60% และมีทรัพย์สินที่จับต้องได้อีก 10% ในส่วนของทรัพย์สินที่จับต้องได้มีทองคำอยู่ด้วย ซึ่งราคาได้สูงขึ้นในปีนี้แม้ว่าจะมีปัญหายืนอยู่เหนือระดับ $2,000 ต่อออนซ์ โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทองคำแตะระดับ $2,085 จากราคา $1,600 วิ่งไปที่ $2,000 ราคาทองคำอาจจะไม่บูลลิสเหมือนเดิมแต่กุนแล็คบอกว่าเขายังคงมีความสบายใจที่จะถือทองคำอยู่

ในขณะเดียวกัน BlackRock ซึ่งเป็นบริษัทบริหารกองทุนรวมที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ออกมาแสดงความเห็นในเชิงสนับสนุนการลงทุนในทองคำ แม้ว่าทองคำยังไม่สามารถรักษาระดับเหนือ $2,000 ต่อออนซ์ แต่ทองคำขึ้นไปแล้ว 8% ในปีนี้เนื่องจากปัจจัยบวกหลายอย่างราคาทองคำตกลงระดับ $2,050 ในช่วงต้นพฤษภาคมท่ามกลางความคาดหมายของตลาดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะเลี่ยงเส้นตายในการยกเพดานหนี้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าราคาทองจะปรับตัวลงแต่หากสามารถยืนเหนือระดับ $2067 หรือระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีมันอาจจะเริ่มออกตัวทำแรลลีในรอบใหม่ก็ได้


ที่กล่าวมาทั้งหมดคือมุมมองของตลาดทองคำในระยะสั้นแต่ในระยะยาวแล้วทองคำกำลังได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้นว่าเป็นทรัพย์สินที่มั่นคงหรือเป็น safe haven เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงของการถูกเบี้ยวจากคู่กรณี (counterparty risk) ท่ามกลางความตึงเครียดของการเผชิญหน้าของมหาอำนาจโลกตะวันตกและตะวันออกความกังวลใจของเงินเฟ้อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจความมั่นคงของสถาบันการเงินและหนี้ที่พุ่งสูงและกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสหรัฐฯ รวมทั้งความกังวลใจของสงครามยูเครนที่อาจจะขยายวง

ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะเปรียบเทียบบิตคอยน์กับทองคำโดยผู้ที่สนับสนุนคริปโตอ้างว่าบิตคอยน์เป็น Digital Gold ที่จะเป็นตัวแทนของอนาคตของระบบเงินตราที่มีเทคโนโลยีบล็อกเชนรองรับมีประโยชน์ใช้สอย และมีความคล่องตัวมากกว่าทองคำที่การเคลื่อนไหวของราคาค่อนข้างอืดอาดและไม่แน่นอน

แต่หลังจากที่ กลต.สหรัฐฯ มีการฟ้องร้อง Binance และ Coinbase แพล็ตฟอร์มที่ให้บริการเทรดเงินคริปโตรายใหญ่และมีการส่งสัญญาณจากประธาน กลต.นายแกรีเกนสเลอร์ ว่าเงินคริปโตไม่มีความจำเป็นเพราะว่าเรามีสกุลเงินดิจิทัลอยู่แล้วที่เรียกว่าดอลลาร์ยูโรหรือเยนทำให้นักลงทุนเริ่มเห็นความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดคริปโตมากขึ้นว่าอาจจะถูกเงินดิจิทัลของธนาคารกลางมาแทนที่ (Central Bank Digital Currency) ทำให้ตลาดคริปโตหดหู่และเซื่องซึมไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน

นอกจากนี้นักลงทุนในคริปโตมีความเสี่ยงว่าตลาดรองจะถูกปิดทรัพย์สินคริปโตอาจถูกอายัดหรือไม่สามารถถอนออกมาได้ด้วยเหตุผลนานาประการ แต่การลงทุนในทองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทองคำแท่งไม่มีความเสี่ยงของ counterparty risk เป็นที่ทราบกันดีว่าราคาทองมีทิศทางการเคลื่อนไหวที่ตรงข้ามกับเงินดอลลาร์ เมื่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นราคาทองจะอ่อนตัวลงในทางกลับกันเมื่อทองคำมีราคาสูงขึ้นดอลลาร์จะอ่อนตัวลง

แนวโน้มดอลลาร์จะอ่อนค่าลงเนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีปัญหาจากฟองสบู่ที่แตกและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับจีนซึ่งจะเป็นอานิสงส์ให้กับทองคำ

ยิ่งสหรัฐฯ ใช้มาตรการติดอาวุธดอลลาร์ด้วยการยึดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียไปกว่า $300,000 ล้านหลังจากรัสเซียโจมตียูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 ที่ผ่านมาทำให้รัสเซียจีนกลุ่มประเทศบริกส์ซาอุดีอาระเบียและประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ ต่างก็ไม่มั่นใจที่จะถือครองดอลลาร์ต่อไปทำให้ในขณะนี้กำลังเกิดกระแส de-dollarization หรือการไม่เอาดอลลาร์มากขึ้น โดยจะหันมาค้าขายกันผ่านการใช้เงินสกุลท้องถิ่นและจะลดหรือยกเลิกการใช้เงินดอลลาร์

จีนกำลังใช้หยวนซื้อน้ำมันแทนที่จะใช้ดอลลาร์การยอมรับหยวนแทนดอลลาร์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ต้องการออกจากระบบดอลลาร์และอิทธิพลของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลกได้ประกาศว่าจะค้าขายกับเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกาด้วยเงินหยวน

กลุ่มบริกส์ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้เตรียมเปิดตัวเงินสกุลร่วมในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ โดยจะเอาทองคำหรือสินค้าโภคภัณฑ์หนุนหลังและจะให้เงินสกุลร่วมบริกส์ทำหน้าที่เป็นเงินที่ใช้ค้าขายกันแทนเงินดอลลาร์นอกจากนี้เงินสกุลร่วมบริกส์ยังจะทำหน้าที่เป็นรีเสิร์ฟซึ่งประเทศต่างๆ สามารถเก็บในพอร์ตของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อเสริมความมั่นคงของเงินตราของประเทศตัวเองและใช้สำหรับชำระสินค้าและบริการที่มาจากต่างประเทศได้

การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างระบบการเงินโลกนี้จะมีนัยที่สำคัญต่ออนาคตของทองคำที่จะเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น เพราะว่าทองคำจะถูกใช้เป็นสินทรัพย์ไปหนุนค่าเงินสกุลร่วมของบริกส์ซึ่งกำลังผงาดขึ้นมาเป็นองค์กรที่จะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกแทนกลุ่ม G7 ในอนาคต

เมื่อมีดีมานด์ของทองคำเพิ่มราคาทองคำจะพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วยในขณะที่ดอลลาร์กำลังเข้าสู่ยุคเสื่อม

เมื่อประเทศต่างๆ ลดการพึ่งพาดอลลาร์รวมทั้งลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาถือกันว่าเป็นทรัพย์สินเกรด A ที่มั่นคงปลอดภัยที่สุดและน่าถือครองมากกว่าทองคำเพราะว่าให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ในขณะที่ทองคำไม่ให้ผลตอบแทนไม่ว่าจะในรูปดอกเบี้ยหรือเงินปันผลจะทำให้ทองคำกลับมาเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

กระแส de-dollarization จะทำให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนในสหรัฐฯ น้อยลงเพราะว่าเมื่อมีดอลลาร์ในมือน้อยลงจะทำให้ลดการลงทุนหรือถือครองทรัพย์สินดอลลาร์โดยปริยายซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของดอลลาร์ตลาดหุ้นตลาดพันธบัตรตลาดอสังหาฯ หรือเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยรวมรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ก่อหนี้ที่เกินตัวมาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษผ่านการออกพันธบัตรจะมีปัญหาในการไฟแนนซ์การทำสงครามซึ่งจะเป็นผลดีของสันติสุขของชาวโลก

อีกปัจจัยที่ทำให้ทองมีความน่าสนใจที่ควรจะลงทุนคือการที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังแห่ซื้อทองเข้าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงออกจากการถือครองดอลลาร์ที่มีแนวโน้มจะเสื่อมค่าจากการเพิ่มประมาณเงินหรือเพิ่มหนี้อย่างมหาศาลของรัฐบาลสหรัฐฯ ท่ามกลางโครงสร้างมหาอำนาจโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงในปีที่แล้วธนาคารกลางของประเทศต่างๆ มีการซื้อทองรวมกัน 1,136 ตันและในไตรมาสแรกของปีนี้ซื้อเพิ่มอีก 228 ตันโดยที่ทุกคนเริ่มมองเห็นว่าระบบการเงินโลกกำลังเปลี่ยนไปโลกจะกลับมาอิงทองคำมากขึ้นในระบบเงินตราเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของเงินตราหลังจากที่โลกอยู่ในระบบเงินกระดาษมาตั้งแต่ปี 1971

มีบางคนมองว่าถ้าหากสหรัฐฯ จนมุมในการบริหารเศรษฐกิจที่แนวโน้มมีแต่ทรงกับทรุดเนื่องจากมีหนี้มากไม่มีความสามารถในการแข่งขันและมีการบริโภคที่เกินตัวมาตลอดทองออกคือการลดค่าเงินดอลลาร์ด้วยการตีค่าราคาทองใหม่ (revaluation of the gold price) เพื่อทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีความสามารถในการแข่งขั้นมากยิ่งขึ้น

เรื่องนี้ไม่ไม่เรื่องแปลกเพราะว่าเคยทำมาแล้วในปี 1933 หลังเกิดเหตุการณ์ The Great Depression รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งให้ประชาชนคนอเมริกันทุกคนที่มีทองต้องเอามาขายให้กับกระทรวงการคลังในราคา $20 ต่อออนซ์ มิเช่นนั้นจะต้องโทษปรับและจำคุกหลังจากที่ได้ตุนทองแล้วรัฐบาลปรับราคาทองคำใหม่ที่ $35 ต่อออนซ์ซึ่งเป็นการลดค่าดอลลาร์ไปเลย 75%

ถ้าหากสหรัฐฯ ตัดสินใจปรับฐานราคาทองใหม่เพื่อรื้อฟื้นความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจเหมือนกับที่ไทยลดค่าเงินบาทในช่วงต้มยำกุ้งปี 1997 ราคาทองจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวหรือจะพุ่งกระฉูดจนหยุดไม่อยู่เลยทีเดียว


3 : ดอลลาร์

ในปี ค.ศ. 1786 จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาเขียนจดหมายถึงโทมัส เจฟเฟอร์สัน ว่า “เงินกระดาษได้มีผลกระทบต่อรัฐของคุณตามที่มันจะเป็นไป คือทำลายการค้า กดขี่ผู้ที่บริสุทธิ์ และเปิดประตูให้กับการคดโกง และความอยุติธรรมในทุกรูปแบบ”

จอร์จ วอชิงตันและผู้ร่วมปลดแอกอาณานิคมอเมริกาจากการปกครองของอังกฤษเพื่อก่อตั้งประเทศในโลกใหม่คนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโทมัส เจฟเฟอร์สัน เจมส์ เมดิสัน และอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตันต่างมองเห็นภัยอันตรายของเงินกระดาษ ที่ไม่มีทองคำ หรือทรัพย์สินหนุนหลัง ซึ่งพวกนายธนาคารที่มีเส้นสายจากยุโรปพยายามยัดเยียดให้กับประเทศอเมริกาที่เกิดใหม่ เพื่อควบคุมระบบธนาคารและระบบการเงินอย่างเบ็ดเสร็จ ผ่านธนาคารกลางที่พวกนายธนาคารเป็นเจ้าของ

เงินกระดาษทำลายเศรษฐกิจของยุโรปมาแล้ว เนื่องจากมันเป็นกระดาษเปล่าๆ ที่สามารถพิมพ์ออกมามากเท่าใดก็ได้ ให้ประโยชน์กับนายธนาคารที่ปล่อยกู้เพื่อเอากำไรจากดอกเบี้ย แต่ในที่สุดปริมาณเงินกระดาษที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีการควบคุมจะก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ทำลายระบบเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปจนลงอย่างทันทีจากเงินกระดาษที่มีค่าลดลงอย่างน่าใจหาย

ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา (Founding Fathers) จึงเขียนชัดในกฎหมายรัฐธรรมนูญว่า สภาคอนเกรสเท่านั้นที่ “มีอำนาจในการออกเงินตรา และควบคุมค่าของมัน”

มีความพยายามจากพวกนายธนาคารที่ได้รับการสนับสนุนการเงินจากเครือข่ายนายธนาคารยิวจากอังกฤษและยุโรปที่จะจัดตั้งธนาคารกลางที่เอกชนเป็นเจ้าของ และประสบความสำเร็จในการจัดตั้ง Bank of the United States (1791-1811) และ Bank of the United States (1816-1836) ก่อนที่จะถูกยกเลิกไป เพราะว่ามีแรงต่อต้านจากนักการเมืองอเมริกันที่รักชาติต่อสู้กับพวกนายธนาคารอย่างเอาเป็นเอาตาย

แต่หลังจากที่กลุ่มทุนอังกฤษและยุโรปเข้าไปครอบงำระบบเศรษฐกิจ ระบบธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐฯ และระบบการเมืองสหรัฐฯ ได้แล้ว จึงกลับมาพยายามจัดตั้งธนาคารกลางที่อยู่ในการควบคุมของพวกตัวเองอีกครั้งในสมัยของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน โดยในปี 1913 สภาคอนเกรสผ่านกฎหมายให้มีการตั้ง Federal Reserve เป็นธนาคารกลางที่พวกนายธนาคารเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นเจ้าของ ตั้งแต่นั้นมาเฟดเดอรัล รีเสิร์ฟทำหน้าที่ออกเงินตราดอลลาร์ให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ

เมื่อมีอำนาจในการออกเงินตรา เฟดเดอรัล รีเสิร์ฟจึงอยู่ในฐานะที่จะควบคุมการบริหารปริมาณเงินในระบบ (money supply) และดูแลระบบแบงกิ้งของสหรัฐฯ ทั้งหมดไปโดยปริยาย ทำให้อำนาจในประเทศสหรัฐฯ ตกอยู่ในมือของวอลล์สตรีท

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระบบการเงินที่มีทองคำหนุนหลังอยู่ ทำให้ค่าเงินมีเสถียรภาพโดยรวม ซึ่งเอื้อให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตกลายเป็นมหาอำนาจโลกเบอร์1ทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะต้องผ่านสงครามโลกถึง 2 ครั้งในศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกทางเศรษฐกิจ เพราะว่าเป็นผู้ชนะสงคราม เงินดอลลาร์กลายเป็นเงินสกุลหลักของโลก อิงกับทองคำที่อัตรา $35 ต่อออนซ์ และมีทองคำกว่า 20,000 ตันหนุนความเชื่อมั่นในดอลลาร์ ประเทศต่างๆ ต่างก็ผูกค่าเงินของตัวเองกับดอลลาร์ ซึ่งเท่ากับว่าผูกกับทองคำโดยปริยาย เพราะว่า Dollar is as good as gold.

แต่ในปี 1971 สหรัฐฯ ยกเลิกระบบมาตรฐานทองคำ เพราะว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณที่เกินตัว และจากการก่อสงครามเวียดนาม ทำให้ประเทศต่างๆ ที่ถือดอลลาร์ไม่มั่นใจ จึงเอาดอลลาร์ไปขึ้นทองคำกับเฟดเดอรัล รีเสิร์ฟ เหมือนกับการเกิดแบงก์รัน ทองคำสำรองของสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 9,000 ตัน ทำให้ประธานาธิบดีนิกสันยกเลิกการอิงดอลลาร์กับทองคำ และปิดหน้าต่างการแลกทองคำ ถือได้ว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ ตั้งแต่นั้นมาดอลลาร์กลายเป็นเงินกระดาษที่ผู้ถือจำยอมต้องถือต่อไป เพราะว่าสหรัฐฯ มีระเบิดนิวเคลียร์คอยข่มขู่ให้ทุกประเทศต้องอยู่ในกรอบของระเบียบการเงินดอลลาร์ ไม่ให้ใครแตกแถว ทุกประเทศไม่มีทางเลือกอื่น จำต้องอยู่ในระบบดอลลาร์ต่อไป

จอร์จ วอชิงตัน และโทมัส เจเฟอร์สันเตือนคนอเมริกันมาตลอดให้ระวังให้ดีว่า อย่าให้เอาเงินกระดาษที่ไม่มีทองคำหนุนหลังมาใช้ มิเช่นนั้นจะนำมาซึ่งหายนะให้กับประเทศ เพราะว่าจะทำให้ขาดวินัยการเงินการคลัง จะเพิ่มปริมาณเงินเท่าใดก็ได้ตามความโลภของนักการเมือง และนายธนาคาร ท้ายที่สุด เงินเฟ้อ หรือ hyperinflation จะถามหา ผิดจากระบบเงินตราที่มีทองคำค้ำประกันจะมีปริมาณที่ออกมาในระดับที่แน่นอน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือครองว่ารัฐบาลจะไม่ใช้จ่ายเกินตัว ที่จะก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ค่าเงินลดลง


ตั้งแต่ปี 1971 จนถึงวันนี้ สหรัฐฯ และโลกของเราอยู่ในระบบเงินกระดาษที่ไร้ค่า แม้ว่าดอลลาร์ยังคงสามารถรักษาการเป็นเงินรีเสิร์ฟของโลกได้อยู่ก็ตาม สหรัฐฯ ได้ทีเพิ่มการใช้จ่ายผ่านการก่อหนี้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อสนับสนุนนโยบายการทหารในเชิงรุกเป็นหลัก เพื่อความเป็นจ้าวโลก เมื่อไม่ต้องเอาทองคำไปค้ำดอลลาร์เฟดเดอรัล รีเสิร์ฟ และรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทีดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบอีลุ่ยฉุยแฉก ทำให้เกิดวงจรบูมกับพัง (Boom & Bust Cycle) ในตลาดการเงิน ตลาดหุ้น ตลาดอสังหาฯ ส่วนรัฐบาลก่อหนี้เหมือนไม่มีวันพรุ่งนี้ จนทำให้ค่าเงินดอลลาร์เสื่อมลงไปเรื่อยๆ

ล่าสุด หนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ที่ $32 ล้านล้าน และมีโอกาสพุ่งไปถึง $35 ล้านล้านในปี 2025 $50 ล้านล้านในปี 2030 โดยหนี้ส่วนใหญ่ก่อขึ้นมาเพื่อการทหาร ตั้งแต่911 เป็นต้นมา สหรัฐฯ ใช้งบทางทหารไปแล้วกว่า $8 ล้านล้าน โดยไฟแนนซ์จากการออกพันธบัตรเพื่อก่อหนี้ ที่สำคัญ รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่มีปัญญาใช้หนี้ และไม่มีความตั้งใจที่จะใช้หนี้ แต่จะเตะถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ ด้วยการพิมพ์เงินกระดาษเพิ่ม ออกพันธบัตรเพิ่มเพื่อจ่ายหนี้เก่า และใช้จ่ายในหนี้ใหม่ ทำให้แนวโน้มสหรัฐฯ มีโอกาสเจอ hyperinflation เพราะว่าถ้าหยุดพิมพ์เงิน หรือหันมาใช้งบประมาณสมดุล ระบบการเงินของสหรัฐฯ จะพัง

ในระหว่างทาง รัฐบาลสหรัฐฯ ติดอาวุธดอลลาร์ และระบบ SWIFT ด้วยการยึดทรัพย์สินดอลลาร์ของประเทศต่างๆ ที่ดำเนินนโยบายที่ขัดแย้งกับวอชิงตัน ดี.ซี. และแซงชั่นระบบธนาคารของประเทศเหล่านั้นไม่ให้ทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศได้ด้วยการปิดระบบ SWIFT

การดำเนินนโยบายต่างประเทศ การทหาร และการเงินในรูปแบบจักรวรรดินิยมของสหรัฐฯ เป็นไปอย่างราบรื่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่สหรัฐฯ เจอวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ส เพราะว่าไม่มีประเทศใดเข้มแข็งพอที่จะต้านทานอิทธิพลของสหรัฐฯ แต่หลังจากนั้น รัสเซีย จีน อิหร่าน เกาหลีเหนือ อินเดีย และประเทศต่างๆ เริ่มมีความเข้มแข็งขึ้น มีการรวมตัวกันอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อที่จะปลดแอกจากระบบดอลลาร์ ทำให้แนวโน้มของดอลลาร์มีความไม่แน่นอนสูงดังนี้คือ:


1. เกิดปรากฏการณ์ของการเลิกใช้ดอลลาร์ หรือ de-dollarization ขึ้นในหลายประเทศที่กำลังดิ้นรนออกจากระบบดอลลาร์ แทนที่จะซื้อขายกันโดยเอาดอลลาร์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ แต่กลับมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นของตัวเองค้ากันเอง เช่นรูเบิล/หยวน รูเบิล/รูปี หยวน/เรียล ซาอุดีอาระเบียและประเทศผู้ผลิตน้ำมันโอเปกขายน้ำมันเป็นเงินหยวน และไม่ได้รับเฉพาะดอลลาร์เหมือนอย่างในอดีต ในอาเซียนกำลังมีการส่งเสริมให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อค้าขายกันเอง โดยไม่ต้องใช้ดอลลาร์ ทวีปแอฟริกาก็กำลังออกจากระบบดอลลาร์เหมือนกัน ขบวนการ de-dollarizationนับวันจะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพราะว่าประเทศต่างๆ กลัวที่สหรัฐฯ ติดอาวุธดอลลาร์ ด้วยการยึดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียไปกว่า $300,000 ล้าน

2. การก่อหนี้ที่เกินตัวของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีหนี้ระดับสูง 120-130% ต่อจีดีพี ทำให้ความเชื่อมั่นในการถือครองดอลลาร์ของนักลงทุนหรือประเทศต่างๆ น้อยลง แนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไป เพราะว่ายังมองไม่เห็นว่าสหรัฐฯ จะลดการก่อหนี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 5.25% ในเวลานี้ ทำให้ภาระการใช้จ่ายกับภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องสูงขึ้นไปหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงที่ดอกเบี้ยเกือบแตะ 0%

3. รัสเซียกับซาอุดีอาระเบียร่วมมือกันออกจากระบบเปโตรดอลลาร์ โดยทั้งสองประเทศ ซึ่งส่งออกพลังงานรายใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลกจะชักชวนประเทศผู้ผลิตน้ำมันของโลก ให้ลดการขายน้ำมันเป็นดอลลาร์ หรือยกเลิกดอลลาร์ไปเลย แต่จะขายพลังงานเป็นเงินหยวน หรือเงินสกุลอื่น ทำให้แนวโน้มดอลลาร์จะเสื่อมความนิยมลงไปเรื่อยๆ หรือต้องอ่อนค่าลง

4. จีนกำลังผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ทำให้เงินหยวนจะเพิ่มบทบาทขึ้นในระบบการเงิน หรือระบบเศรษฐกิจของโลก ทำให้การใช้ดอลลาร์ลดลง เพราะว่าจะมีหยวนมาแทนที่ ในปี 2030 เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะทำให้หยวนยิ่งจะมีพลังมากกว่าดอลลาร์ ทั้งในอำนาจซื้อ และเสถียรภาพความมั่นคง

5. กลุ่มบริกส์ ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้กำลังการสร้างระเบียบการเงินโลกใหม่ที่ไม่ขึ้นอยู่กับระบบเงินดอลลาร์กระดาษอีกต่อไป แต่จะสร้างเงินสกุลร่วมที่จะเอาทองคำ หรือสินค้าโภคภัณฑ์มาหนุนค่าเงินแทน ต่อไปจะมีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อค้าขายระหว่างกันมากขึ้น และจะใช้เงินสกุลร่วมบริกส์เป็นสื่อกลาง และเป็นเงินรีเสิร์ฟมาแทนดอลลาร์ ขณะนี้มีมากกว่า 30 ประเทศที่แสดงเจตจำนงที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของบริกส์ ทำให้บริกส์มีโอกาสเติบโตกลายเป็นสถาบันการเงินที่จะแข่งกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลกที่ดูแลระบบดอลลาร์กระดาษในปัจจุบันได้

6. จีนได้พัฒนาระบบ CIPS (Cross Border Interbank Payment System) มาแข่งกับระบบ SWIFT ทำให้ประเทศต่างๆ มีทางเลือกในการทำธุรกรรมการเงิน หรือธุรกรรมแบงกิ้งระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบผูกขาดของ SWIFT อีกต่อไป ซึ่งมีความเสี่ยงว่าจะถูกแซงชั่นเหมือนกับที่อิหร่าน รัสเซีย ซีเรีย คิวบา และประเทศต่างๆโดนมาแล้ว ขณะนี้การทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบ CIPS กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เงินหยวนเป็นสื่อกลาง แต่สื่อตะวันตกแทบจะไม่มีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้

7. อำนาจการต่อรองในระบบการเงินโลกจะอยู่ที่บริกส์ เพราะว่าประเทศสมาชิกมีพลังงาน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าโภคภัณฑ์ และจีดีพีกำลังขยายตัว ในขณะที่สหรัฐและกลุ่ม G7 กำลังเผชิญกับวิกฤตหนี้ และเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ที่สำคัญ G7 ไม่มีทรัพยากรพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์

8. ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ มีการทิ้งดอลลาร์เพื่อไปซื้อทองคำถือครองแทนในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงออกจากดอลลาร์กระดาษที่จะต้องเจอเงินเฟ้อหนักในอนาคต

เมื่อขบวนการ de-dollarization ดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง การหันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นมาค้าขายกันมากขึ้น บทบาทของเงินหยวนจะมาแทนดอลลาร์เพิ่มมากขึ้น บทบาทของทองคำกำลังกลับมามีความสำคัญในระบบการเงินโลก ประเทศต่างๆ มีทางเลือกในการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบชำระเงิน CIPS ของจีน และจะมีเงินสกุลร่วมของบริกส์มาเป็นเงินรีเสิร์ฟแทนเงินดอลลาร์ จะมีผลทำให้ความต้องการดอลลาร์ในตลาดโลกลดลง ดอลลาร์ที่อยู่ต่างประเทศจะไหลกลับไปยังสหรัฐฯ ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ hyperinflation ได้

ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนอย่างอดีต เพราะว่าไม่มีการผลิต มีแต่การบริโภคและการก่อหนี้ ความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจลดลง สหรัฐฯ ไม่มีทางเลือกต้องทิ้งดอลลาร์กระดาษ แล้วเอาเงินดิจิทัลดอลลาร์มาแทน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ แต่ดิจิตอลไม่น่าจะมีทองคำหนุนหลัง และไม่มีความน่าเชื่อถือเหมือนเดิม ทำให้สหรัฐฯ อาจจะต้องก่อสงครามเพื่อล้างหนี้ ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษาอำนาจบนโลกใบนี้

สหรัฐฯ หรือโลกการเงินมาถึงจุดเปราะบางที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งในเวลานี้ เพราะว่าคนอเมริกันรุ่นต่อมาลืมคำสอนของจอร์จ วอชิงตัน โทมัส เจฟเฟอร์สัน และผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกาเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้วว่า ให้ระวังอย่านำเอาเงินกระดาษที่ไม่มีทองคำค้ำประกันมาใช้ และอย่าให้ระบบการเงินตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพวกนายธนาคารที่มีความโลภมีกิเลสหนา ต้องการเอากำไรอย่างเดียว โดยไม่สนใจว่าบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร เพราะว่าในที่สุดจะนำพาประเทศสู่ความหายนะ

(โปรดติดตามตอนที่ 4-6 เกี่ยวกับ CBDC หยวน เงินสกุลร่วมของ BRICS ได้บทความต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น