xs
xsm
sm
md
lg

สื่อมะกันโหมข่าว ‘รมว.บลิงเคน’ จะไปเยือนปักกิ่ง ขณะฝ่ายจีนจี้วอชิงตันให้เลิกเสียที ‘การพูดอย่างหนึ่งแต่กลับทำอีกอย่างหนึ่ง’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา ***



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China, US move closer to high-level official talks
By JEFF PAO
10/06/2023

สื่ออเมริกันออกข่าวรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ กำลังจะไปเยือนปักกิ่ง ซึ่งจะกลายเป็นเจ้าหน้าที่อเมริกันระดับสูงสุดที่เหยียบแผ่นดินแดนมังกรในรอบ 5 ปี ทางด้านจีนเองยังไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ ในเรื่องนี้ แต่มีการเน้นย้ำว่า วอชิงตันต้องแสดงออกให้เห็นถึงความจริงใจ และยุติพฤติการณ์แบบพูดอย่างหนึ่งทว่าทำอีกอย่างหนึ่ง

รัฐบาลจีน และรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเข้าใกล้ฟื้นชีพการสนทนากันในระดับสูงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่สื่อรายงานว่ารัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน จะเดินทางไปเยือนปักกิ่งภายในอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้า หรือกระทั่งอย่างเร็วที่สุดก็คือในสัปดาห์หน้า

โทรทัศน์ช่องข่าว “ซีเอ็นเอ็น” รายงานในวันอังคาร (6 มิ.ย.) ว่า บลิงเคนจะเดินทางไปจีนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ แต่เว็บไซต์สื่อด้านข่าว “โพลิติโค” (Politico) รายงานในวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) ว่า ทริปเดินทางของเขาอาจจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า
(ดูเพิ่มเติมข่าวของซีเอ็นเอ็นได้ที่ https://edition.cnn.com/2023/06/06/politics/blinken-china-trip-planning/index.html และข่าวของโพลิติโคได้ที่ https://www.politico.com/news/2023/06/08/blinken-beijing-trip-cuba-00101152)

สำหรับปักกิ่งนั้นจนถึงเวลานี้ยังคงปฏิเสธไม่แสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับกำหนดการของ บลิงเคน โดยถึงแม้ย้ำว่าสหรัฐฯ กับจีนควรที่จะประคับประคองกันไว้เพื่อให้มีการสนทนากันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ระบุด้วยว่า วอชิงตันต้องแสดงออกให้เห็นถึงความจริงใจ และยุติพฤติการณ์แบบ “พูดอย่างหนึ่งทว่าทำอีกอย่างหนึ่ง”

มีคอนเมนเตเตอร์ (นักให้ความเห็นผ่านสื่อ) ชาวจีนบางรายบอกว่า ไม่ควรประหลาดใจอะไรหรอกถ้า บลิงเคน เดินทางเยือนปักกิ่ง เมื่อพิจารณาจากการที่พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีนคนอื่นๆ มีการเจรจากันมาหลายรอบแล้วในช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็ชี้ด้วยว่าปักกิ่งจะตั้งความหวังอย่างจำกัดเท่านั้นสำหรับการพบปะหารือกับพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ

ถ้าหากเป็นที่ยืนยันกันแน่นอนแล้ว ทริปเดินทางไปปักกิ่งของ บลิงเคน ก็จะกลายเป็นการไปเยือนจีนของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ที่ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันในตอนนั้น เดินทางไปแดนมังกรเมื่อปี 2018 ขณะเดียวกัน มันก็น่าจะแสดงให้เห็นถึงความผ่อนคลายของความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งพุ่งปรี๊ดขึ้นมาจากเหตุการณ์บอลลูนจีนเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม

สืบเนื่องจากความหวังที่จะได้เห็น 2 ชาติเจ้าของระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกแสดงความมีมิตรไมตรีระหว่างกันมากขึ้น ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ได้ไต่สูงขึ้น 258 จุด หรือ 0.8% ไปที่ระดับ 33,833. 61 ในวันพุธ (7 มิ.ย.) และวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) ส่วนดัชนีหุ้นเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต ก็ดีดขึ้นไป 31 จุด หรือ 1% ยืนอยู่ที่ระดับ 3,231.41 ในวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) และวันศุกร์ (9 มิ.ย.)

การเลือกข้าง

เมื่อวันศุกร์ (9 มิ.ย.) ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศจีน ได้แถลงเรียกร้องให้นักการทูตสหรัฐฯ ทั้งหลาย ทุกๆ คน กระทำตามคำมั่นสัญญาของ บลิงเคน ที่ว่า วอชิงตันจะไม่เรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ ต้องเลือกข้างว่าจะอยู่กับสหรัฐฯ หรือจะอยู่ข้างจีน
(คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศจีน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1768209776178034610&wfr=spider&for=pc)

“เราคาดหวังว่าคณะทูตานุทูตของสหรัฐฯ ในตลอดทั่วโลกจะปฏิบัติต่อพัฒนาการของความสัมพันธ์ที่ประเทศอื่นๆ มีอยู่กับจีน ด้วยท่าทีที่เปิดเผยและมุ่งให้ฝ่ายต่างๆ มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ยุติการกำราบปราบปรามบริษัทจีนทั้งหลาย รวมทั้งบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลจีส์ ด้วยในที่ทุกหนทุกแห่ง ยุติการหลอกล่อประเทศอื่นๆ ให้ยกเลิกความร่วมมือที่พวกเขามีอยู่กับจีน และยุติการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ เป็นต้นว่า เรื่อง ‘กับดักหนี้สินของจีน’” หวัง เหวินปิน (Wang Wenbin) โฆษกผู้หนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในระหว่างการแถลงสรุปต่อสื่อมวลชนตามปกติเมื่อวันศุกร์ (9 มิ.ย.)

ในการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หวังได้อ้างอิงคำพูดของ จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่กล่าวว่า “สตรีเอวบางร่างน้อยผู้รู้จักคุ้นเคยกับโลก จักต้องกล่าวยืนยันกับชายทุกๆ คนว่า การกระทำต่างหาก ไม่ใช่คำพูดหรอกที่ถือเป็นหลักเกณฑ์อันแท้จริงสำหรับวัดความผูกพันกันของเพื่อนมิตร”

“เราย่อมใส่ใจเกี่ยวกับสิ่งที่สหรัฐฯ พูด แต่เราใส่ใจยิ่งกว่านั้นเสียอีกเกี่ยวกับสิ่งที่สหรัฐฯ กระทำ” เขากล่าว

ก่อนหน้านั้น หวังได้ออกมาแถลงในวันพุธ (7 มิ.ย.) ว่า จีนกับสหรัฐฯ ควรที่จะรักษาการติดต่อสื่อสารระหว่างกันที่มีความจำเป็นเอาไว้ ทว่าความรับผิดชอบสำหรับสิ่งที่กำลังท้าทายเผชิญหน้าความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ อยู่ในเวลานี้ ไม่ได้เป็นของฝ่ายจีน

“สหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องเคารพในผลประโยชน์แกนกลางตลอดจนความกังวลห่วงใยที่สำคัญๆ ของจีน ยุติการแทรกแซงเข้ามาในกิจการภายในของจีน ยุติการทำอันตรายต่อผลประโยชน์ของจีน และยุติพฤติการณ์ที่ด้านหนึ่งเรียกร้องขอให้มีการติดต่อสื่อสารกัน แต่อีกด้านหนึ่งกลับกำลังทำการยั่วยุ” เขาบอก

เมื่อวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) บลิงเคน บอกกับสื่อมวลชนระหว่างที่เขาไปเยือนซาอุดีอาระเบียว่า สหรัฐฯ ไม่ได้กำลังเรียกร้องใครก็ตามให้ต้องเลือกข้างว่าจะอยู่กับวอชิงตันหรือกับปักกิ่ง เขาบอกว่าวอชิงตันเพียงแค่กำลังพยายามสาธิตให้ประเทศอื่นๆ มองเห็นประโยชน์ของการเป็นหุ้นส่วนกับสหรัฐฯ เท่านั้น
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://uk.style.yahoo.com/us-saudi-urge-repatriation-jihadists-103239424.html)

ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จีน กับ ซาอุดีอาระเบีย ได้ลงนามในข้อตกลงทางยุทธศาสตร์หลายๆ ฉบับต่อเนื่องกันเป็นชุด โดยที่มีฉบับหนึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทหัวเว่ย ระหว่างที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนไปเยือนกรุงริยาดเป็นเวลา 3 วัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aljazeera.com/news/2022/12/8/saudi-crown-prince-meets-chinas-xi-in-push-to-deepen-ties)

ในวันที่ 10 มีนาคมปีนี้ ซาอุดีอาระเบีย กับ อิหร่าน สามารถตกลงกันที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันขึ้นมาอีกครั้ง รวมทั้งเปิดสถานเอกอัครราชทูตขึ้นมาใหม่ ภายหลังมีความตึงเครียดกันมาหลายปี โดยที่สื่อจีนระบุว่า ปักกิ่งมีคุณูปการต่อการเจรจาในเรื่องนี้ระหว่างซาอุดีอาระเบียบกับอิหร่าน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.npr.org/2023/03/10/1162524377/iran-saudi-arabia-resume-relations และ https://www.wenweipo.com/a/202303/11/AP640bcbe7e4b0b6003c00dce7.html)

แผน “ลดความเสี่ยง”

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา พวกผู้นำกลุ่มจี7 ระบุในคำแถลงร่วมฉบับหนึ่งว่า พวกเขามีผลประโยชน์ร่วมกันในการป้องกันไม่ให้บางประเทศนำเอาชุดของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างแคบๆ ชุดหนึ่งไปใช้เพื่อเพิ่มพูนสมรรถนะทางการทหารและทางข่าวกรองของพวกเขา ในหนทางที่มุ่งบ่อนทำลายสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2023/05/20/g7-leaders-statement-on-economic-resilience-and-economic-security/)

พวกเขาบอกว่า บรรดาประเทศจี7 ไม่ได้กำลังที่จะหย่าร้างแยกขาดจากจีน กระนั้นพวกเขาก็รับรู้รับทราบเช่นกันว่า ความหยุ่นตัวทางเศรษฐกิจนั้น เรียกร้องให้ต้อง “ลดความเสี่ยงและมีการกระจายตัว”

ในวันอังคาร (6 มิ.ย.) สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศ (Office of Foreign Assets Control หรือ OFAC) ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ประกาศลงโทษแซงก์ชันเครือข่ายที่ประกอบด้วยปัจเจกบุคคลรวม 7 คน และหน่วยงานอีก 6 หน่วยงาน ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในอิหร่าน จีน และฮ่องกง โทษฐานมีความเกี่ยวข้องพัวพันกับโปรแกรมขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) ของอิหร่าน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://home.treasury.gov/news/press-releases/jy1524)

“อย่างที่มีสุภาษิตของจีนบอกเอาไว้ว่า ‘ความสุจริตทำให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นได้’ การสนทนากันควรอิงอยู่กับความเคารพซึ่งกันและกันและมุ่งหมายที่จะให้เกิดผลลัพธ์ที่แท้จริงขึ้นมา” เซี่ย เฟิง (Xie Feng) เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ บอกกับประชาคมธุรกิจอเมริกัน ในงานของสภาธุรกิจสหรัฐฯ-จีน (US-China Business Council) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันพุธ (7 มิ.ย.)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://us.china-embassy.gov.cn/eng/dshd/202306/t20230608_11091442.htm)

“แน่นอนอยู่แล้วว่ามันไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องหรอกที่จะมองหาการสนทนาและการร่วมมือกัน ในเวลาเดียวกับที่นำเอาคนอื่นไปขึ้นบัญชีแซงก์ชันลงโทษ” เขากล่าว “การสนทนาที่จัดขึ้นเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่ามีการสนทนา ก็เป็นสิ่งที่ใช้การไม่ได้เช่นเดียวกัน การพูดอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ตั้งใจขึ้นมาเท่านั้น”

“สำหรับการมีปฏิสัมพันธ์กันในระดับสูงแล้ว เรื่องการบริหารจัดการกระบวนการตลอดทั้งกระบวนการโดยรวม เป็นสิ่งที่จำเป็น –ต้องมีการบ่มเพาะสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นมาก่อนล่วงหน้า ค่อยๆ สะสมผลลัพธ์ไปเรื่อยๆ ระหว่างการดำเนินกระบวนการ และบอกกล่าวประกาศผลลัพธ์เหล่านี้ภายหลังงาน” เขาบอก

เขากล่าวต่อไปว่า สำหรับประชาชนชาวจีนจำนวนมาก คำว่า “การลดความเสี่ยง (de-risking) น่าจะเป็นอีกชื่อหนึ่งของ “การหย่าร้างแยกขาดจากกัน” (decoupling) เท่านั้นเอง เขากล่าวว่าสหรัฐฯ ไม่ควรใช้เรื่องความมั่นคงแห่งชาติมาเป็นข้ออ้างข้อแก้ตัวสำหรับการดำเนินลัทธิกีดกันการค้า

สำหรับ เตียว ต้าหมิง (Diao Daming) รองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยจงกั๋วเหรินหมิน (Renmin University of China) ในกรุงปักกิ่ง ให้ความเห็นกับสื่อโกลบอลไทมส์ (Global Times) เมื่อวันพุธ (7 มิ.ย.) ว่า สหรัฐฯ กำลังพยายามทดสอบปฏิกิริยาของจีนโดยผ่านการสร้างกระแสในสื่อมวลชน เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการมาเยือนของบลิงเคน รวมทั้งกำลังพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองกลายเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนการติดต่อสื่อสารกัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202306/1292155.shtml)

เขามองว่าการกระทำต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่กระทำออกมาเป็นชุดๆ ในช่วงหลังๆ มานี้ สะท้อนให้เห็นถึงความหลอกลวงไม่จริงใจ ตลอดจนความขัดแย้งภายในตนเองของวอชิงตัน

ข้อเรียกร้องของจีน

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สื่อมวลชนรายงานว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับหนึ่งที่มีเนื้อหาจำกัดกีดกั้นไม่ให้พวกบริษัทสหรัฐฯ ตลอดจนพวกกองทุนเพื่อการลงทุนในภาคเอกชน (private equity funds) และกองทุนเวนเจอร์แคปิตอล (venture capital funds) ของสหรัฐฯ ลงทุนในโครงการและกิจการทางด้านไมโครชิป ปัญญาประดิษฐ์ ควอนตัม คอมพิวติ้ง (quantum computing) เทคโนโลยีชีวภาพ และพลังงานสะอาดของจีน แต่จนถึงเวลานี้ยังไม่มีข่าวคราวอะไรเพิ่มเติมอีกเกี่ยวกับเรื่องนี้

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐมนตรีต่างประเทศ ฉิน กัง ของจีน ได้พบปะหารือกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ นิโคลาส เบิร์นส์ (Nicholas Burns) ในกรุงปักกิ่ง ต่อมาในวันที่ 11 พฤษภาคม หวัง อี้ นักการทูตระดับท็อปของจีน กับ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้พบปะเจรจากันในกรุงเวียนนา ออสเตรีย ในวันที่ 25 พฤษภาคม รัฐมนตรีพาณิชย์ หวัง เหวินเทา ของจีน ได้พบปะหารือกับรัฐมนตรีพาณิชย์ จีนา ไรมอนโด ที่กรุงวอชิงตัน การพบปะกัน 3 ครั้งเหล่านี้ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายต่างระบุว่าเป็นการหารือกันอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์

“เมื่อผ่านการพิสูจน์จากการพบปะเจรจากัน 3 ครั้งนี้แล้ว ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนก็ได้ผ่อนคลายลงตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา” คอมเมนเตเตอร์ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่กวางตุ้งผู้หนึ่ง เขียนเอาไว้เช่นนี้ในข้อเขียนซึ่งเผยแพร่ในวันศุกร์ (9 มิ.ย.) และระบุอีกว่า “ถ้าพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องมาเยือนจีน มันก็ไม่มีอันตรายใดๆ สำหรับพวกเจ้าหน้าที่จีนที่จะไปพบปะเจรจากับพวกเขา”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.163.com/dy/article/I6PKHDCH05561XPI.html)

“แต่ในตอนที่ บลิงเคน เดินทางมาเยือนจีน รัฐบาลจีนควรที่จะออกคำเตือนอย่างเป็นทางการไปถึงคณะบริหารไบเดนว่า ถ้าพวกเขายังคงข้ามเส้นสีแดงห้ามล่วงละเมิดของจีน ในประเด็นปัญหาไต้หวัน แล้วมีการใช้ปฏิบัติการพิเศษขึ้นมา ความรับผิดชอบของการสั่นคลอนความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ หรือการทำให้เกิดการสู้รบขัดแย้งทางทหารขึ้นมาในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ก็จะต้องตกเป็นของสหรัฐฯ” คอมเมนเตเตอร์ผู้นี้บอก

เขาชี้ว่าคณะบริหารไบเดนยังไม่ได้ยกเลิกการจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเป็นพิเศษและการแซงก์ชันต่างๆ ที่บังคับใช้กับจีนเลย (ประกาศใช้มาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ -ผู้แปล) แต่กลับแสดงความคาดหวังว่าจีนจะยังคงซื้อหาอาหาร ก๊าซธรรมชาติ เครื่องบิน และเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ต่อไปอีก แทนที่จะหันไปซื้อหาสินค้าจากบราซิล รัสเซีย และฝรั่งเศส เขาบอกว่าปักกิ่งต้องบอกกับพวกอเมริกันว่า จีนจะไม่ซื้อสินค้าจากพวกประเทศที่สร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์ของตนหรอก

เขากล่าวต่อไปว่า บลิงเคนควรต้องตอบคำถามที่ว่า ทำไมการสู้รบขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนจึงกำลังแสดงให้เห็นสัญญาณจำนวนมากของการก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียง ซึ่งถือเป็นข่าวร้ายสำหรับยุโรป เขาบอกว่าปัญหาต่างๆ จะแก้ไขคลี่คลายได้ก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ มีความเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับประเทศจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น