xs
xsm
sm
md
lg

‘เจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน’ กลับยุติลงด้วยการสาดกระสุน ‘สงครามชิป’ ใส่กันเพิ่มมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา ***


สหรัฐฯ และจีนกำลังทำให้สงครามเทคของพวกเขาบานปลายขยายตัว โดยมีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US-China trade talks end in more chip war salvos
By JEFF PAO
29/05/2023

นายใหญ่กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ และจีน ล้มเหลวไม่สามารถทำให้ความตึงเครียดระหว่างกันหยุดการบานปลายขยายตัว มิหนำซ้ำทั้งสองฝ่ายยังกระหน่ำซัลโวใส่กันด้วยสงครามการค้าและเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอีก ไม่นานหลังจากการพบปะเจรจากันของทั้งคู่

พวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางด้านการค้าของสหรัฐฯ และของจีนเวลานี้ได้หวนกลับมาเจรจากันในเรื่องการค้าอีกครั้งหนึ่ง แต่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายต่างยังคงหยิบยกเอามาตรการแซงก์ชันที่เกี่ยวพันอยู่กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นมาใช้ข่มขู่ซึ่งกันและกัน

รัฐมนตรีพาณิชย์ หวัง เหวินเทา (Wang Wentao) ของจีน และรัฐมนตรีพาณิชย์ จีนา ไรมอนโด (Gina Raimondo) ของสหรัฐฯ ได้ “หารือกันอย่างตรงไปตรงมาและมีสาระสำคัญ” ในการพบปะกันในกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตามรายงานข่าวซึ่งอ้างอิงคำแถลงที่ออกมาอย่างเป็นทางการ

แต่แล้วในวันที่ 27 พฤษภาคม ไรมอนโดได้ประกาศข้อสรุปของการเจรจาว่าด้วยการจัดทำความตกลงแผนแม่บททางเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อห่วงโซ่อุปทานที่เจริญรุ่งเรือง (Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) for Prosperity Supply Chain) ซึ่งสร้างความระคายเคืองให้แก่พวกเจ้าหน้าที่จีนเป็นอย่างมาก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.commerce.gov/news/press-releases/2023/05/substantial-conclusion-negotiations-landmark-ipef-supply-chain)

ตามความตกลงดังกล่าวนี้ ประเทศสมาชิก IPEF 14 รายซึ่งมีทั้งสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่นด้วย จะจัดตั้งเครือข่ายแห่งใหม่ที่ใช้ชื่อว่า เครือข่ายตอบโต้วิกฤตห่วงโซ่อุปทาน IPEF (IPEF Supply Chain Crisis Response) ขึ้นมา ซึ่งจะสามารถทำหน้าที่เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารฉุกเฉินเมื่อประเทศหุ้นส่วนเหล่านี้รายใดรายหนึ่งหรือมากกว่านั้น เผชิญกับวิกฤตห่วงโซ่อุปทานอย่างร้ายแรง

ประเทศเหล่านี้ยังจะจัดตั้งคณะมนตรีห่วงโซ่อุปทาน IPEF (IPEF Supply Chain Council) ทำหน้าที่กำกับดูแลการพัฒนาพวกแผนปฏิบัติการเฉพาะเซกเตอร์ ที่วางแผนจัดทำขึ้นเพื่อสร้างความหยุ่นตัวและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในพื้นที่เชิงพาณิชย์ซึ่งทรงความสำคัญยิ่งยวดทั้งหลาย

ทางด้าน เหมา หนิง (Mao Ning) โฆษกคนหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ออกมาพูดถึงเรื่องความตกลงของ IPEF นี้ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมว่า “พวกแผนแม่บทเพื่อความร่วมมือระดับภูมิภาคทั้งหลาย ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรก็ตาม จำเป็นที่จะต้องเปิดกว้างเข้าไว้และพร้อมรับฝ่ายต่างๆ เข้ามาร่วม แทนที่จะมุ่งจำแนกกีดกันหรือรับเฉพาะฝ่ายที่ได้รับเลือกสรรเป็นพิเศษเท่านั้น”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/eng/xwfw_665399/s2510_665401/2511_665403/202305/t20230529_11085429.html)

“การรบกวนการทำหน้าที่ของตลาด การทำให้กิจกรรมทางการค้าตามปกติต่างๆ กลายเป็นเรื่องทางการเมือง และการก่อตั้งกำแพงเครื่องกีดขวางขึ้นมาเพื่อเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือทางอุตสาหกรรม อย่างเช่นความร่วมมือทางด้านเซมิคอนดักเตอร์ คือความเสี่ยงใหญ่โตที่สุดที่มีต่อเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน”

เหมา กล่าวว่า ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ไม่ควรบ่อนทำลายประเทศอื่นๆ เพื่อรักษาฐานะความเป็นเจ้าเหนือใครๆ ของพวกตนไปตลอดกาล หรือพยายามพิทักษ์ปกป้องสิ่งที่เธอระบุว่าเป็นผลประโยชน์ “ที่เห็นแก่ตัว”

พวกสื่อทางการจีนเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ก็พากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ไรมอนโด ว่ากำลังผลักดันให้เกิดข้อตกลงที่จัดทำขึ้นมาเพื่อกำราบปราบปรามและปิดล้อมจำกัดวงจีนอย่างเปิดเผย สื่อทางการจีนเหล่านี้ระบุด้วยว่า ปักกิ่งจะต่อสู้เอาคืนแน่นอน ถ้าสหรัฐฯ ขืนบังคับใช้มาตรการมุ่งสกัดขัดขวางจีนในด้านเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้นไปอีก

บรรดาผู้นำของประเทศที่เข้าร่วมแผนแม่บททางเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ในพิธีเปิดตัว ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2022
“14 ประเทศ IPEF นำโดยสหรัฐฯ ได้บรรลุฉันทมติในการปรับปรุงยกระดับความหยุ่นตัวและความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา ทั้งทางด้านเซมิคอนดักเตอร์และทางด้านแร่ธาตุสำคัญๆ” ซิน ปิน (Xin Bin) คอมเมนเตเตอร์ชาวจีนผู้หนึ่ง เขียนเอาไว้เช่นนี้ในบทความตีพิมพ์อยู่ในโกลบอลไทมส์ (Global Times) สื่อในเครือพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม “แต่การทำเช่นนี้มีแต่จะสร้างความเสียหายให้แก่เสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานทางด้านนี้ของโลกเท่านั้น”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://3w.huanqiu.com/a/de583b/4D5Egqf2LvI)

“จุดประสงค์ของนโยบายทางด้านเศรษฐกิจต่างประเทศของคณะบริหารไบเดน ไม่ใช่เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผลประโยชน์ของเหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯ เลย แต่อยู่ที่การใช้ชาติพันธมิตรเหล่านี้มาเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ เอง และปิดล้อมจำกัดวงจีน” บทความนี้ในโกลบอลไทมส์ ระบุ

การตั้งข้อจำกัดกีดกันด้านการลงทุน

จีนมีท่าทีไม่ปรารถนาที่จะพูดจากับสหรัฐฯ มาเป็นแรมเดือนทีเดียว ภายหลังความตึงเครียดระดับทวิภาคีได้พุ่งปริ๊ดขึ้นสืบเนื่องจากสหรัฐฯ กล่าวหาและทำลายบอลลูนจีนที่ระบุว่าเป็นบอลลูนสอดแนมล้วงความลับ ในน่านฟ้าอเมริกเหนือเมื่อปลายเดือนมกราคม

สถานการณ์ทำท่าเลวร้ายลงไปอีกในเดือนเมษายน หลังจากมีรายงานต่างๆ บ่งชี้ว่าอีกไม่ช้าไม่นานประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เพื่อจำกัดขัดขวางไม่ให้พวกบริษัทสหรัฐฯ กองทุนเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์ของภาคเอกชน ตลอดจนกองทุนเวนเจอร์แคปิตอลทั้งหลายของสหรัฐฯ เข้าลงทุนในภาคเทคโนโลยีชั้นสูงของจีน

จวบจนถึงเวลานี้ สหรัฐฯ ยังไม่ได้มีการเปิดเผยมาตรการจำกัดกีดกันด้านการลงทุนดังกล่าว ทว่าวอชิงตันก็ประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวพวกประเทศจี7 รายอื่นๆ ให้มาร่วมมือกันในการ “ลดความเสี่ยง” (de-risk) แต่ไม่ใช่ถึงกับ “หย่าร้างแยกขาด” (decouple) จากจีน ในระหว่างการประชุมซัมมิตกลุ่มจี7 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ช่วงวันที่ 19-21 พฤษภาคมที่ผ่านมา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.japantimes.co.jp/news/2023/05/20/national/g7-leaders-economic-security/)

ในการตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ปักกิ่งประกาศเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม สั่งห้ามพวกผู้ดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติสำคัญๆ ของจีน ซื้อหาผลิตภัณฑ์จากบริษัทไมครอนเทคโนโลยี (Micron Technology) ด้วยข้อหาว่าผู้ผลิตชิปสัญชาติสหรัฐฯ รายนี้มีทีท่าที่จะสร้างความเสี่ยงด้านความมั่นคงของเครือข่ายขึ้นมา

ต่อมา ในวันที่ 23 พฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงอย่างเป็นทางการว่าจะบรรจุรายการสินค้าเพิ่มอีก 23 รายการ โดยรวมทั้งพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ผลิตชิประดับก้าวหน้าด้วย ในบัญชีรายชื่อควบคุมจัดระเบียบการส่งออกไปยังประเทศจีนของตน โดยมาตรการใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 กรกฎาคม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.japantimes.co.jp/news/2023/05/22/business/semiconductor-exports-china/)

กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงในวันที่ 29 พฤษภาคมว่า รัฐมนตรีหวัง ได้แสดงความไม่พอใจทางการทูต ต่อ ยาสุโตชิ นิชิมุระ (Yasutoshi Nishimura) รัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ระหว่างการพบปะหารือกันเมื่อเร็วๆ นี้

“ญี่ปุ่นเพิกเฉยการคัดค้านอย่างแรงกล้าของจีน และยืนกรานที่จะนำเอามาตรการควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์มาใช้ ซึ่งเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฎระเบียบด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ และสร้างความเสียหายอย่างสาหัสให้แก่รากฐานของการพัฒนาทางอุตสาหกรรม” หวัง บอกกับ นิชิมุระ เช่นนี้ ระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มเอเปก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม “จีนไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเรียกร้องญี่ปุ่นให้แก้ไขการปฏิบัติที่ผิดพลาดของตน”

“เราหวังว่าญี่ปุ่นจะแก้ไขความรับรู้ความเข้าใจของตนเกี่ยวกับจีนเสียใหม่ให้ถูกต้อง และส่งเสริมสนับสนุนอย่างแท้จริงเพื่อให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศทั้งสองเกิดการพัฒนาที่มีเสถียรภาพ ด้วยท่าทีที่สร้างสรรรค์เป็นไปในทางบวก” เขากล่าว

หวัง ยังบอกด้วยว่า จีนคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อคำแถลงว่าด้วยความหยุ่นตัวทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (Statement on Economic Resilience and Economic Security) ของพวกผู้นำกลุ่มจี7 ซึ่งเรียกร้องให้นำเอาแนวพินิจร่วมในเรื่องการลดความเสี่ยง (de-risk) มาใช้ และกระจายความผูกพันทางเศรษฐกิจที่ฝ่ายตะวันตกมีอยู่กับปักกิ่งและมอสโก

รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ จีนา ไรมอนโด
ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น คือ ณ การพบปะหารือกับ หวัง ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ไรมอนโดได้หยิบยกความกังวลเกี่ยวกับการกระทำอย่างต่อเนื่องหลายครั้งหลายหนในช่วงเร็วๆ นี้ของปักกิ่งที่มุ่งเล่นงานพวกบริษัทสหรัฐฯ ที่กำลังดำเนินงานอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่

เธอกล่าวในการแถลงสรุปต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมว่า รัฐบาลสหรัฐฯ “คัดค้านอย่างหนักแน่น” ในเรื่องที่จีนสั่งแบนบริษัทไมครอน และ “จะไม่ยอมทน” การจำกัดกีดกันเช่นนี้ ซึ่งเธออ้างว่าเป็น “การใช้อำนาจบังคับทางเศรษฐกิจอย่างง่ายๆ ดื้อๆ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.channelnewsasia.com/business/us-wont-tolerate-chinas-ban-micron-chips-commerce-secretary-3520406)

มาตรการตอบโต้ของจีน

ทำนองเดียวกัน ระหว่างการหารือระหว่าง หวัง กับ ไรมอนโด คราวนี้ ปักกิ่งได้แสดงความวิตกกังวลทั้งในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ มาตรการแซงก์ชันด้านเซมิคอนดักเตอร์ การห้ามการส่งออก และการกลั่นกรองการลงทุนนอกประเทศที่มุ่งเล่นงานจีน นักเขียนผู้หนึ่งซึ่งตั้งฐานอยู่ในมณฑลซานซี เปิดเผยเรื่องนี้เอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ทาง ไป่โถว ออบเซิร์ฟ (Paitou Observe) บัญชีสื่อสังคมที่ดำเนินการโดย ดีเฟนซ์ไทมส์ (Defense Times) สื่อของรัฐ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://mbd.baidu.com/newspage/data/landingsuper?context=%7B%22nid%22%3A%22news_9001753674110923699%22%7D&n_type=1&p_from=3)

“สหรัฐฯ ต้องการที่จะฟื้นฟูการสนทนากับจีน ทว่าพร้อมกันนั้นสหรัฐฯ ก็ยังคงเพิ่มทวีความพยายามของตนในการปิดล้อมจำกัดวงจีนไปด้วย” คอลัมนิสต์ผู้นี้ระบุเช่นนี้ “บางทีมาถึงเวลานี้สหรัฐฯ อาจกำลังสำนึกผิด สหรัฐฯ จึงพยายามที่จะใช้วลี ‘การลดความเสี่ยง’ มาบรรยายการหย่าร้างแยกขาดจากจีนของตน”

เขาเขียนต่อไปว่า การสั่งแบนผลิตภัณฑ์ของไมครอน น่าที่จะเป็นเพียงรอบแรกของมาตรการตอบโต้ที่ปักกิ่งจะนำมาบังคับใช้ ในการเอาคืนเล่นงานการจำกัดกีดกันด้านเทคของสหรัฐฯ เท่านั้น เขากล่าวว่าจีนจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ แสดงให้เห็นความจริงใจมากกว่าที่เป็นอยู่

ก่อนที่จะพบปะเจรจากับ ไรมอนโด นั้น หวัง ได้เป็นประธานของการประชุมร่วมกับพวกบริษัทใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนนี้มี จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) 3 เอ็ม (3M) ดาว (Dow) เมิร์ค (Merck) และฮันนีเวลล์ (Honeywell) ด้วย ที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม โดยที่หอการค้าอเมริกันในเซี่ยงไฮ้ก็เข้าร่วม

นักเขียนที่ตั้งฐานอยู่ในซานซีผู้นี้ กล่าวในบทความชิ้นที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ว่า ด้วยการจัดประชุมกับพวกบริษัทอเมริกันระดับท็อป หวัง ต้องการที่จะเน้นย้ำว่าจีนยังคงมุ่งมั่นผูกพันกับการเปิดกว้างเศรษฐกิจของตนในระดับสูง และยังคงให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1766844206182913770&wfr=spider&for=pc)

นักเขียนคนเดียวกันนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางรายเรียกการสั่งแบนไมครอนว่า เป็น “การแก้เผ็ด” จนทำให้บริษัทสหรัฐฯ บางรายมีความวิตกว่าพวกเขาจะต้องกลายเป็นเป็นเป้าหมายของจีนไปด้วยในทำนองเดียวกันนี้

“ที่จริงแล้ว จีนไม่ได้สั่งห้ามผลิตภัณฑ์ของไมครอนทั้งหมด แต่แบนเฉพาะพวกที่ใช้อยู่ในโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลข่าวสารหลักๆ เท่านั้น เป็นต้นว่าในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนพวกสถาบันการเงิน” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้ “การที่จีนสั่งแบนไมครอน จึงเป็นการออกคำเตือนในเบื้องต้นว่า มีแต่เด็กเกเรเท่านั้นที่จะถูกลงโทษ”

เขาเขียนต่อไปว่า จีนมีความมั่นใจว่า ส่วนแบ่งตลาดในประเทศจีนปัจจุบันของไมครอน จะถูกดูดซับไปโดยพวกผู้ผลิตชิปสัญชาติจีน อย่างเช่น บริษัทแยงซี เมโมรี เทคโนโลยจีส์ คอมพานี (Yangtze Memory Technologies Co) และฉางซิน เมโมรี เทคโนโลจีส์ (ChangXin Memory Technologies)

สำหรับผู้เขียนข้อเขียนชิ้นนี้ (เจฟฟ์ เปา) ขอปิดท้ายข้อเขียนชิ้นนี้ ด้วยการหยิบยกคำกล่าวก่อนหน้านี้ของ แมทธิว มิลเลอร์ (Matthew Miller) โฆษกผู้หนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเคยพูดกล่าวหาจีนเอาไว้ในวันที่ 22 พฤษภาคมว่า การที่ปักกิ่งเล่นงานไมครอน คราวนี้ไม่สอดคล้องกับการกล่าวอ้างยืนยันของจีน “ที่ว่าตนเองเปิดกว้างสำหรับธุรกิจ และมีพันธะผูกพันที่จะทำตามกรอบโครงทางกฎระเบียบที่โปร่งใส”


กำลังโหลดความคิดเห็น