xs
xsm
sm
md
lg

แผนการของวอชิงตันที่จะจัดส่งอาวุธแบบฉุกเฉินรวดเร็วไปให้ไต้หวัน กำลังทำให้ปักกิ่งเดือดดาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา ***


เครื่องบินขับไล่ F-16V หรือไวเปอร์ (Viper) ถูกนำออกมาเปิดตัวในงานสิงคโปร์ แอร์โชว์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2012 (ภาพจากบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Planned US arms shipments to Taiwan set off Beijing
By JEFF PAO
18/05/2023

หลังจากใช้อำนาจเบิกถอนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไปแล้วถึง 37 ครั้ง ในการจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ไปให้แก่ยูเครน เวลานี้ โจ ไบเดน ก็วางแผนจะนำอำนาจเช่นนี้มาใช้เพื่อ “ช่วยเหลือ” ไต้หวันบ้าง ซึ่งก็ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยความไม่พอใจอย่างแรงกล้าและรวดเร็วจากทางการจีน

สหรัฐฯ วางแผนการที่จะจัดหาจัดส่งความช่วยเหลือทางทหารไปให้แก่ไต้หวัน โดยอาศัยเครื่องมือที่เรียกกันว่า “อำนาจในการเบิกถอนของประธานาธิบดี” (presidential drawdown authority หรือ PDA) โปรแกรม PDA นี้เองที่เปิดทางให้คณะรัฐบาลไบเดนสามารถจัดส่งอาวุธต่างๆ ไปให้แก่ยูเครนได้อย่างสะดวกรวดเร็วในช่วงระยะปีสองปีที่ผ่านมา โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาทางรัฐสภาตามปกติ –อย่างไรก็ดี เป็นสิ่งที่แน่นอนอยู่แล้วว่าจีนนั้นไม่ชมชอบวิธีซิกแซ็กใช้กติกาพิเศษมาหนุนหลังทางการไทเปเช่นนี้

รัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน ของสหรัฐฯ แถลงในวันอังคาร (16 พ.ค.) ที่ผ่านมาว่า อีกไม่นานจากนี้ไป สหรัฐฯ จะส่งความช่วยเหลือด้านความมั่นคงเพิ่มเติมไปให้แก่ไต้หวันโดยผ่านโปรแกรม PDA ตามที่รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ให้อำนาจเอาไว้ก่อนแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา อันที่จริง ก่อนหน้านี้เมื่อตอนต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ทำเนียบขาวได้บอกแล้วว่าจะจัดส่งความช่วยเหลือด้านอาวุธคิดเป็นมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปให้แก่ไต้หวันโดยผ่านมาตรการ PDA

ตามคำอธิบายในเว็บไซต์แห่งหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐฯ PDA คือเครื่องมือทรงคุณค่าอย่างหนึ่ง ในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ในเวลาที่เกิดสถานการณ์วิกฤตขึ้นมา เนื่องจากมันเปิดทางให้สามารถจัดส่งสิ่งของและบริการทางด้านกลาโหมจากคลังต่างๆ ของเพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ไปให้แก่พวกประเทศต่างๆ ตลอดจนองค์การระหว่างระหว่างประเทศทั้งหลายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อตอบสนองภาวะฉุกเฉินต่างๆ ที่มิได้คาดคิดกันมาก่อน

“ความช่วยเหลือดังกล่าวนี้สามารถเริ่มส่งไปถึงจุดหมายได้ภายในเวลาไม่กี่วัน หรือกระทั่งภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากได้รับการอนุมัติ” รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวเอาไว้เช่นนี้ในเอกสารข้อมูลสรุป ซึ่งจัดทำออกมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.state.gov/use-of-presidential-drawdown-authority-for-military-assistance-for-ukraine/)

เมื่อปีที่แล้ว รัฐสภาสหรัฐฯ ได้เพิ่มเพดานสูงสุดของโปรแกรม PDA จาก 100 ล้านดอลลาร์ เป็น 11,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับปีงบประมาณ 2022 ภายหลังสงครามยูเครนระเบิดขึ้นมา และตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2022 คณะบริหารไบเดน ได้ใช้อำนาจตามโปรแกรมนี้เพื่อจัดส่งความช่วยเหลือทางทหารไปให้แก่ยูเครนแล้วถึง 37 ครั้ง

ปรากฏว่าทางฝ่ายจีนได้ออกมาแสดงปฏิกิริยาตอบโต้โดยไม่ชักช้า โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน ฐาน เค่อเฟย (Tan Kefei) กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันอังคาร (16 พ.ค.) ว่า “จีนมีความไม่พอใจอย่างแรงกล้าและคัดค้านเรื่องนี้อย่างหนักแน่น รวมทั้งได้แสดงความไม่พอใจทางการทูตต่อสหรัฐฯ ไปแล้วด้วย”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mod.gov.cn/gfbw/qwfb/16224523.html)

“สหรัฐฯ ยังคงเสริมสายสัมพันธ์ทางทหารที่ตนมีอยู่กับพวกผู้กุมอำนาจของพรรคเดโมแครต โปรเกรส ปาร์ตี้ (Democratic Progress Party หรือ DPP นั่นก็คือพรรคของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน -ผู้แปล) ให้แข็งแกร่งมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขยายเพิ่มพูนสายสัมพันธ์ทางทหารและความสัมพันธ์อย่างมีสาระสำคัญระหว่างสองฝ่าย สั่นคลอนรากฐานของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน” ฐาน กล่าว “นี่คือความเคลื่อนไหที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง และมีอันตรายอย่างยิ่ง”

ฐาน บอกว่า พรรค DPP และพวกนักแบ่งแยกดินแดนชาวไต้หวันมีแต่จะมุ่งหน้าไปสู่ทางตันเท่านั้น หากพวกเขายังคงพยายามที่จะใช้ความสนับสนุนจากสหรัฐฯ ซึ่งก็รวมถึงความสนับสนุนทางด้านอาวุธด้วย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนความเป็นเอกราชของไต้หวัน เขากล่าวว่า ประเด็นปัญหาไต้หวันคือพื้นที่เส้นสีแดงที่ไม่สามารถฝ่าข้ามผ่านไปได้ในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และสหรัฐฯ จะไม่มีทางได้รับอนุญาตให้หันหัวเลี้ยวกลับเส้นทางของประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้

ทั้งนี้ ในส่วนของแดนมังกรเองนั้น ฐานกล่าวย้ำว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีน จะเพิ่มความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายให้แก่การฝึกอบรมทางทหารและการเตรียมพร้อมทางทหารของตน มีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ในการทำลายความพยายามของพวกเรียกร้องเอกราชไต้หวันตลอดจนการแทรกแซงจากภายนอกไม่ว่าในรูปแบบใดๆ และพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยแห่งชาติและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศจีน

สื่อสังคมจีนแห่โวยสำทับ

ภายหลังการแสดงความคิดเห็นของ ฐาน ในสื่อสังคมของจีนเมื่อวันพุธ (17 พ.ค.) มีการเผยแพร่ข้อเขียนชิ้นหนึ่งอย่างกว้างขวาง โดยข้อเขียนนี้ใช้ชื่อเรื่องพาดหัวแบบมุ่งปลุกระดมกันตรงๆ เต็มๆ ว่า “ไบเดนจะใช้โปรแกรม PDA เพื่อส่งทหารสหรัฐฯ มายังไต้หวัน! กลาโหมจีนออกคำเตือนแข็งกร้าว! สถานการณ์ร้ายแรง จีนเตรียมพร้อมแล้วเพื่อรับมือเรื่องเลวร้ายสุดๆ!”

ผู้เขียนข้อเขียนชิ้นนี้ซึ่งมิได้มีการระบุชื่อบอกว่า การใช้โปรแกรม PDA ก็เหมือนกับการที่นางแพนโดรา ในเทพนิยายกรีก เปิดกล่องบรรจุความชั่วร้ายนานาออกมา พร้อมกับอธิบายว่า การใช้อำนาจตาม PDA จะเป็นการอนุญาตให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถจัดส่งความช่วยเหลือทางทหารไปให้แก่รัฐบาลไต้หวันได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติของรัฐสภาอเมริกันอีก “PDA คือประตูหลังที่เปิดกว้างสำหรับให้รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าก้าวก่ายแทรกแซงความขัดแย้งระดับภูมิภาคในระหว่างที่เกิดภาวะฉุกเฉิน” นักเขียนผู้นี้กล่าว

ข้อเขียนชิ้นนี้ยังอธิบายเพิ่มเติมเรื่องที่คำแถลงของฐาน ใช้ถ้อยคำซึ่งดุเดือดรุนแรง โดยระบุว่า แท้ที่จริงแล้วมันมีความหมายว่า “กองทัพจีนเตรียมตัวพรักพร้อมแล้วสำหรับการเข้าสู่สงคราม และไม่สมควรที่จะถูกตำหนิประณามเลย ถ้าหากกองทัพจีนไม่ได้ส่งสัญญาเตือนใดๆ ออกมาก่อนลงมือปฏิบัติการ”

“ถ้าหากการนำเอาไต้หวันกลับเข้ามารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจีน ถูกก้าวก่ายแทรกแซงแล้ว สหรัฐฯ ก็สมควรเตรียมพร้อมให้ดีด้วยเช่นกันสำหรับการต้องสูญเสียญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ไม่อย่างนั้นแล้วสหรัฐฯ ก็ไม่สมควรจะมายั่วยุจีน” ผู้เขียนคนนี้บอก

“สถานการณ์ในปัจจุบันพัฒนามาจนอยู่ในภาวะร้ายแรงเอามากๆ” ผู้เขียนคนนี้ระบุ พร้อมกับยกคำพังเพยของจีนขึ้นมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า “ใครๆ ก็อาจทำกระสุนลั่นออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ขณะที่กำลังขัดปืนอยู่” และบอกต่อไปว่า ความตึงเครียดเช่นนี้ “ไม่ได้หมายถึงเฉพาะช่องแคบไต้หวันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคาบสมุทรเกาหลีด้วย”

ทางด้านคอลัมนิสต์ผู้เขียนเรื่องราวทางการทหารผู้หนึ่งซึ่งตั้งฐานอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ก็กล่าวเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งว่า การที่สหรัฐฯ กำลังพิจารณาใช้มาตรการ PDA สำหรับส่งอาวุธให้ไต้หวัน ก็เพราะต้องการชดเชยให้แก่เกาะแห่งนี้ สืบเนื่องจากวอชิงตันล้มเหลวไม่ได้จัดส่งเครื่องบินขับไล่แบบ F-16V [1] จำนวน 66 ลำไปให้ตามกำหนดเวลาที่ได้ให้สัญญาไว้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1765145227749312041&wfr=spider&for=pc)

เขากล่าวว่า อาวุธที่สหรัฐฯ กำลังจะจัดส่งให้ไต้หวันนั้น บางทีอาจจะเป็นพวกอาวุธที่ใช้ในการป้องกัน อย่างเช่น ระบบขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานแบบประทับบ่ายิง เอฟไอเอ็ม-92 สติงเจอร์ (FIM-92 Stinger) ขีปนาวุธต่อสู้รถถังแบบประทับบ่ายิง เอฟจีเอ็ม-148 แจฟลิน (FGM-148 Javelin) และระบบวางกับระเบิดโดยยิงจากยานยนต์ให้กระจายตัวออกไป เอ็ม 136 วอลเคโน (M136 Volcano Vehicle-Launched Scatterable Mine System) แทนที่จะเป็นอาวุธซึ่งใช้เพื่อการรุก

ทหารสหรัฐฯ ในไต้หวัน

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล ของสหรัฐฯ เคยรายงานเอาไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2021 โดยอ้างว่าเป็นคำบอกเล่าของพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ไม่มีการระบุชื่อ ว่า มีทหารหน่วยปฏิบัติการพิเศษจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จำนวนราวๆ 20 กว่าคน ถูกส่งตัวไปประจำอยู่ที่ไต้หวันเพื่อทำหน้าที่ฝึกกองทัพของเกาะแห่งนั้น ต่อมาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ปีนี้ หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลของอเมริกาฉบับเดียวกันนี้รายงานข่าวอีกว่า สหรัฐฯ จะจัดส่งกำลังทหาร 100 ถึง 200 คนไปยังไต้หวันในช่วงสองสามเดือนข้างหน้า เพื่อช่วยฝึกกองทัพบกของเกาะแห่งนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wsj.com/articles/u-s-troops-have-been-deployed-in-taiwan-for-at-least-a-year-11633614043?mod=hp_lead_pos6)

เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านรัฐบัญญัติให้อำนาจด้านกลาโหมแห่งชาติ (National Defense Authorization Act หรือ NDAA) ประจำปี ซึ่งมีรายการให้อำนาจรัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณได้ไม่เกิน 10,000 ล้านดอลลาร์สำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านความมั่งคงและการจัดซื้ออาวุธแบบฟาสต์แทร็กแก่ไต้หวัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tbsnews.net/worldbiz/usa/us-military-bill-features-10-billion-boost-taiwan-547418)

ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหม ชิว กั๋วเฉิง (Chiu Kuo-cheng) ของไต้หวัน ได้แถลงเอาไว้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมว่า เครื่องบินขับไล่แบบ F-16V จำนวน 66 ลำ ซึ่งไต้หวันสั่งซื้อจากบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ในสหรัฐฯ โดยเดิมมีกำหนดจัดส่งล็อตแรกช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ได้ถูกชะลอออกไปเป็นไตรมาส 3 ของปี 2024 เสียแล้ว เนื่องจากการผลิตได้รับความกระทบกระเทือนจากโรคระบาดใหญ่

คำเตือนจากญี่ปุ่น

เป็นที่คาดหมายกันว่าเรื่องไต้หวันจะเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักๆ ที่มีการพูดจาหารือกันในการประชุมซัมมิตกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมสำคัญของฝ่ายตะวันตก (จี7) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม

“การเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมด้วยกำลังตามอำเภอใจฝ่ายเดียวเป็นสิ่งที่ไม่ควรได้รับอนุญาตให้เกิดขึ้นไม่ว่าแห่งหนใดในโลก” ฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นบอกเสียงเข้มกับหนังสือพิมพ์นิกเกอิ (Nikkei) ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ (15 พ.ค.) “สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงรอบๆ ญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมันกำลังยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นทุกที” เขากล่าว
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Japan-s-G-7-test-Kishida-pushes-active-foreign-policy-onto-global-stage)

คิชิดะ บอกว่า เกาหลีเหนือกำลังยิงขีปนาวุธด้วยอัตราความถี่อย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน เวลาเดียวกัน ก็มีการใช้กำลังเพื่อ “การเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมตามอำเภอใจฝ่ายเดียว” ทั้งในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก เขายังระบุเรื่องที่รัสเซียกับจีนกำลังดำเนินการซ้อมรบร่วมกันอย่างกระตือรือร้นในเอเชีย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ จีนได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรวดเร็ว โดย หวัง เหวินปิน (Wang Wenbin) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมาแถลงในวันอังคาร (16 พ.ค.) ว่า “ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพของการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี7 ที่กำลังจะจัดกันขึ้นมา สิ่งที่ญี่ปุ่นกำลังกระทำอยู่คือการเติมเชื้อไฟและการสร้างให้เกิดการประจันหน้าระหว่างกลุ่มประเทศต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายผลประโยชน์ของภูมิภาคแถบนี้” เขาประกาศว่า “จีนคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อการกระทำเช่นนี้”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/eng/xwfw_665399/s2510_665401/2511_665403/202305/t20230516_11078532.html)

หวัง กล่าวอีกว่า ผู้คนในญี่ปุ่นที่กำลังอ้างว่า “เหตุการณ์ไม่คาดหมายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นมาสำหรับไต้หวัน ก็คือเหตุการณ์ไม่คาดหมายที่อาจเกิดขึ้นมาสำหรับญี่ปุ่น” ด้วยนั้น คนพวกนี้ต่างหากคือคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมในช่องแคบไต้หวัน

หมายเหตุผู้แปล
[1] เครื่องบินขับไล่ F-16V หรือ Viper เป็นเวอร์ชันพลิกแพลง (variant) เวอร์ชันล่าสุดของเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ เอฟ-16 ไฟติ้ง ฟอลคอน เจเนอเรชันที่ 4 (F-16 Fighting Falcon fourth generation, multi-role) ซึ่งผลิตโดยบริษัทล็อกฮีด-มาร์ติน ทั้งนี้ ไวเปอร์บูรณาการสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่างๆ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแพกเกจอัปเกรด เพื่อให้มันสามารถปฏิบัติการร่วมกันได้ดียิ่งขึ้นกับพวกเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชันที่ 5 อย่าง F-35 และ F-22

เครื่องบินขับไล่เอฟ-16 เวอร์ชันนี้สามารถนำมาใช้ดำเนินภารกิจการกำราบจัดการกับการป้องกันภัยทางอากาศของข้าศึก (suppression of enemy air defences หรือ SEAD) การสู้รบจากอากาศสู่ภาคพื้นดิน และจากอากาศสู่อากาศ รวมทั้งภารกิจเพื่อห้ามไม่ให้ล่วงล้ำลึกเข้ามาจากพื้นที่สนามรบภาคพื้นดิน ตลอดจนภารกิจเพื่อห้ามไม่ให้ล่วงล้ำทางทะเล

อากาศยานรุ่นนี้ยังมีคุณสมบัติทางด้านสมรรถนะในการเปลี่ยนแปลงบทบาทเพื่อทำภารกิจส่งกำลังทางอากาศ รวมทั้งสามารถแกะรอยและติดตามค้นหาเป้าหมายต่างๆ ที่ยากแก่การค้นพบภายในระยะเวลาจำกัดในทุกสภาพอากาศ นอกจากนั้น ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการให้แก่ผู้ใช้อีกด้วย

(ข้อมูลจากเว็บไซต์ airforce-technology.com https://www.airforce-technology.com/projects/f-16v-viper-fighting-falcon-multi-role-fighter/)


กำลังโหลดความคิดเห็น