(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
PLA buzzes Taiwan as US arms makers eye the island
By JEFF PAO
05/05/2023
บริษัทอเมริกันที่เป็นผู้รับเหมารับจ้างด้านกลาโหม 25 แห่ง ส่งตัวแทนไปไทเป เพื่อหารือลู่ทางในการจัดตั้งโรงงานผลิตอาวุธ โดยเฉพาะพวกโดรน และเครื่องกระสุนขึ้นบนเกาะไต้หวัน เรื่องนี้ทำให้ปักกิ่งยัวะมาก ระดมส่งขบวนเรือรบ และเครื่องบินรบออกไปโฉบเฉี่ยวคุกคาม
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพปลดแอกประชาชนจีน ส่งเครื่องบินรบอย่างน้อย 57 ลำ เรือของกองทัพเรือ 19 ลำ และโดรนทางทหารลำหนึ่งไปช่องแคบไต้หวัน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความโกรธเกรี้ยวครั้งใหม่สดๆ ร้อนๆ ต่อรายงานข่าวที่ว่าสหรัฐฯ กำลังพยายามหาทางที่จะผลิตอาวุธบนเกาะไต้หวัน
กระทรวงกลาโหมของไต้หวันแถลงว่า ในช่วงเวลา 3 วัน จนกระทั่งถึงเช้าวันพฤหัสบดี (4 พ.ค.) มีเครื่องบินรบของจีน 19 ลำ บินข้ามเส้นกึ่งกลางของช่องแคบไต้หวัน คำแถลงบอกว่า ทางกระทรวงกำลังเฝ้าติดตามการปฏิบัติการของกองทัพจีนคราวนี้อย่างใกล้ชิด
เหตุการณ์เช่นนี้บังเกิดขึ้นขณะที่พวกบริษัทรับเหมารับจ้างด้านกลาโหมของสหรัฐฯ จำนวน 25 ราย เข้าร่วมเวทีประชุมอุตสาหกรรมกลาโหมไต้หวัน-สหรัฐฯ (Taiwan-US Defense Industry Forum) ที่จัดขึ้นในนครไทเป เมื่อตอนเช้าวันพุธ (3 พ.ค.)
สตีเวน รัดเดอร์ (Steven Rudder) พลโทนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่เกษียณอายุแล้ว กล่าวในเวทีประชุมครั้งนี้ว่า เขาและกลุ่มผู้รับเหมารับจ้างทำสัญญากลาโหมสัญชาติอเมริกันเหล่านี้ “กำลังอยู่ในภารกิจเพื่อการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์แบบเสรี เปิดกว้าง และหยุ่นตัว ตลอดจนเพื่อความสัมพันธ์ชนิดมุ่งดึงฝ่ายต่างๆ ให้เข้าร่วมไม่เพียงเฉพาะสหรัฐฯ กับไต้หวันเท่านั้น แต่ยังสำหรับภูมิภาคแถบนี้อีกด้วย”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ocac.gov.tw/OCAC_OLD/Eng/Pages/Detail.aspx?nodeid=329&pid=52990964)
ขณะที่ จูเลียน กั๋ว (Julian Kuo) นักรัฐศาสตร์คนหนึ่งของไต้หวัน และเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ (Legislative Yuan) ของไต้หวันด้วย บอกว่า “ผู้รับจ้างรับเหมาด้านกลาโหมของสหรัฐฯ บางรายกำลังพิจารณาที่จะนำเอาไต้หวันใส่เข้าไว้ในห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา” และขยายความต่อไปว่า “ถึงแม้มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนเทคโนโลยีระดับสูงใดๆ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่พวกกิจการของไต้หวันจะได้ผลิตเครื่องกระสุนให้แก่พวกกิจการของสหรัฐฯ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chinatimes.com/realtimenews/20230502005678-260407?chdtv)
กั๋ว กล่าวอีกว่า จากการที่ญี่ปุ่นกำลังวางแผนเพิ่มคลังเชื้อเพลิงและคลังเครื่องกระสุนขึ้นมาอีกกว่า 100 แห่งในหมู่เกาะริวกิว (Ryukyu Islands) ของตน สหรัฐฯ จึงอาจจะจัดตั้งโรงงานอาวุธขึ้นมาหลายสิบแห่งทีเดียวในไต้หวัน เขาบอกว่าแผนการเช่นนี้มีความจำเป็น เพราะมันจะเป็นเรื่องลำบากถ้าจะลำเลียงเครื่องกระสุนจากฟิลิปปินส์ไปไต้หวัน ในทันทีที่สงครามระเบิดขึ้นมาในช่องแคบไต้หวัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2022/09/08/2003784951)
เขากล่าวว่า พวกบริษัทไต้หวันนั้นขาดไร้ประสบการณ์ในเรื่องการออกแบบอาวุธ แต่พวกเขามีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ให้แก่พวกผู้ผลิตอาวุธสหรัฐฯ
ในวันพุธ (3 พ.ค.) เช่นกัน ไชน่าเดลี่ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่เป็นของทบวงโฆษณาการส่วนกลาง (Central Propaganda Department) แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “สหรัฐฯ เพิ่มเงินเดิมพันในเกมสกปรก สมควรที่จะเตือนภัยให้ทราบกันไว้ล่วงหน้า” (US ups the ante in dirty game but should be forewarned)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chinadaily.com.cn/a/202305/03/WS64524c61a310b6054fad0d74.html)
บทบรรณาธิการชิ้นนี้ในเวอร์ชันภาษาจีน ได้ถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดยพวกสื่อของรัฐจีนเจ้าอื่นๆ ในวันพฤหัสบดี (4 พ.ค.) โดยใช้พาดหัวว่า “มันเป็นก้าวเดินอันตรายมาก ถ้าสหรัฐฯ ผลิตอาวุธในไต้หวัน”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://news.youth.cn/gj/202305/t20230504_14495737.htm)
“ทางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้จัดแจงให้มีคณะตัวแทนของพวกนักค้าอาวุธ 25 รายเดินทางมาเยือนไต้หวันตั้งแต่วันอังคาร (2 พ.ค.) ที่ผ่านมา โดยดูเหมือนเพื่อสำรวจเสาะหาลู่ทางความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งโรงงานผลิตอาวุธขึ้นมาบนเกาะไต้หวัน หลักๆ แล้วคือพวกโดรนและพวกเครื่องกระสุน และโดยรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว ยังจะเป็นการสนับสนุนวาระฝักใฝ่ต้องการเป็นเอกราช ของ ไช่ อิงเหวิน ผู้นำไต้หวันที่มีแนวความคิดแบบนักแบ่งแยกดินแดนอีกด้วย” ผู้เขียนบทบรรณาธิการชิ้นนี้ระบุ
“ด้วยการจัดหาจัดส่งอาวุธอย่างสม่ำเสมอให้แก่ยูเครน ทำให้สหรัฐฯ เวลานี้ประสบความล้มเหลวในการจัดส่งอาวุธให้แก่ไต้หวันตามกำหนดเวลาที่ตั้งเอาไว้” บทบรรณาธิการนี้กล่าวต่อ “จากการตั้งโรงงานผลิตอาวุธขึ้นในไต้หวันเสียเลย พวกนักค้าอาวุธสหรัฐฯ ตลอดจนคณะบริหารสหรัฐฯ จะสามารถข้ามลอดปัญหาต่างๆ จำนวนมากที่เกิดขึ้นมาในเรื่องการขายอาวุธให้แก่เกาะแห่งนี้”
บทบรรณาธิการนี้กล่าวว่า การกระทำเช่นนี้ของสหรัฐฯ คือการล้ำเส้น และความเคลื่อนไหวในลักษณะนี้เป็นการท้าทายอย่างร้ายแรงต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน จากการที่คณะบริหารไบเดนยินยอมให้คณะผู้แทนของนักค้าอาวุธสหรัฐฯ ชุดนี้เดินทางเยือนไต้หวัน พวกเขาจึง “กำลังเล่นกับไฟ” และจะต้องถูกเพลิงเผาผลาญตัวเองในท้ายที่สุด
ผู้เขียนบทบรรณาธิการชิ้นนี้ระบุต่อไปว่า พฤติกรรมที่น่ารังเกียจและมีอันตรายเช่นนี้ของฝ่ายอเมริกัน อาจทำให้ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ (ความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน) หรือความผูกพันระหว่างจีน-สหรัฐฯ เกิดความเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
โดรนทางทหาร
เมื่อเดือนมีนาคม 2019 ไต้หวันได้สั่งซื้อโดรนแบบเอ็มคิว-9บี ซีการ์เดียน (MQ-9B SeaGuardian) จำนวน 4 ลำ จากบริษัทเจนเนอรัล อะตอมมิกส์ แอโรนอติคอล ซิสเตมส์ (General Atomics Aeronautical Systems หรือ GA-ASI) ในราคาประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันได้อนุมัติรับรองข้อตกลงซื้อขายรายนี้แล้วในเดือนพฤศจิกายน 2020 ขณะที่บริษัทผู้ผลิตพูดถึงโดรนแบบนี้ที่เป็นโมเดลซีการ์เดียนว่า เป็น “อากาศยานสำหรับการตรวจการณ์และการสอดแนมทางทะเล”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ainonline.com/aviation-news/defense/2020-11-04/us-approves-mq-9b-seaguardians-taiwan)
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างกระบวนการดำเนินการที่ผ่านมา 2 ปีเศษ ดีลนี้ดูเหมือนจะมีขนาดเล็กลงไปเสียแล้ว ขณะที่โดรนซึ่งจะซื้อขายกันนี้ดูเหมือนมีการเปลี่ยนแปลงจากแบบซีการ์เดียน ไปเป็นแบบสกายการ์เดียน (SkyGuardian) อากาศยานที่ทางผู้ผลิตบอกว่าสามารถหาข่าวกรอง และปฏิบัติหน้าที่ตรวจการณ์และสอดแนมได้อย่างสม่ำเสมอ
เว็บไซต์ข่าว “ดีเฟนซ์โพสต์” (Defense Post) รายงานเมื่อวันอังคาร (2 พ.ค.) ว่า กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้สั่งซื้อเอ็มคิว-9บี สกายการ์เดียน จำนวน 4 ลำให้ไต้หวันแล้ว ทว่ามูลค่าของใบสั่งซื้อนี้อยู่ที่แค่ 217.6 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ทางผู้ผลิตคือ GA-ASI ยังจะจัดหาจัดส่งสถานีควบคุมภาคพื้นดิน 2 แห่ง ชิ้นส่วนอะไหล่ และอุปกรณ์สนับสนุนอื่นๆ ให้แก่ไทเปอีกด้วย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thedefensepost.com/2023/05/02/us-skyguardian-drones-taiwan/)
หลี่ สือเฉียง (Lee Shih-Chiang) อธิบดีกรมวางแผนทางยุทธศาสตร์ (Department of Strategic Planning) ของกระทรวงกลาโหมไต้หวัน กล่าวในวันพฤหัสบดี (4 พ.ค.) ว่า โดรน 4 ลำนี้จะผลิตเสร็จสมบูรณ์ในปี 2025 แต่การฝึกที่จะติดตามมาอีก 6 เดือนนั้นจะกระทำในสหรัฐฯ ไม่ใช้ในไต้หวัน สืบเนื่องจากความใส่ใจในเรื่องค่าใช้จ่าย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://def.ltn.com.tw/article/breakingnews/4290578)
ทางด้าน เฉา จิ้นผิง (Tsao Chin-ping) นายทหารอาวุโสของกองทัพอากาศไต้หวัน บอกว่า โดรนทั้ง 4 ลำนี้พร้อมด้วยอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจะมาถึงไต้หวันภายในปี 2027 และพร้อมใช้งานได้ในอีก 6 เดือนถัดไป
ขณะที่ ชิว กั๋วเจิ้ง (Chiu Kuo-cheng) รัฐมนตรีกลาโหมไต้หวันกล่าวว่า ไต้หวันได้สั่งซื้อเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-16วี (F-16V) รวม 66 ลำจากบริษัทล็อกฮีดมาร์ติน (Lockheed Martin) ในสหรัฐฯ แต่กำหนดการจัดส่งเครื่องบินเหล่านี้ล็อตแรกได้ถูกเลื่อนออกไปจากไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ไปเป็นกระทั่งถึงไตรมาส 3 ของปี 2024 เนื่องจากการผลิตถูกกระทบกระเทือนจากโรคระบาดใหญ่
ในอีกด้านหนึ่งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ของปีนี้ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจงซาน (National Chung-Shan Institute of Science and Technology หรือ NCSIST) ของไต้หวัน ได้เปิดตัวโดรนโจมตีซีรีส์หนึ่งที่ผลิตขึ้นโดยไต้หวันเอง ในซีรีส์ดังกล่าวนี้มีอยู่แบบหนึ่งซึ่งมองดูคล้ายๆ กับโดรน แอโรไวรอนเมนต์ สวิตช์เบลด 300 (AeroVironment Switchblade 300) ของอเมริกัน โดยที่สถาบัน NCSISTกล่าวว่า ตนร่วมมือเป็นหุ้นส่วนอยู่กับบริษัทเอกชนหลายแห่งในการสร้างเครื่องต้นแบบของโดรนในซีรีส์นี้ แต่ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อพวกหุ้นส่วนดังกล่าว
(ดูเพิ่มเติมการเปิดตัวของ NCSIST ได้ที่ https://www.uasvision.com/2023/03/14/military-research-unit-to-unveil-taiwan-developed-drones/?utm_content=cmp-true และดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สวิตชเบลด 300 ได้ที่ https://www.avinc.com/tms/switchblade)
ปฏิกิริยาจากจีน
ภายหลังจากสื่อญี่ปุ่นรายงานเมื่อวันที่ 11 เมษายนว่า บริษัทรับจ้างรับเหมาด้านกลาโหมของสหรัฐฯ 25 รายจะส่งตัวแทนของพวกเขามาไต้หวันเพื่อเจรจาหารือเรื่องการร่วมกันผลิตโดรนและเครื่องกระสุน ทางสื่อไต้หวันรายงานในวันที่ 26 เมษายนว่า ในบรรดาบริษัทซึ่งจะส่งตัวแทนมาคราวนี้ จะมีจาก ล็อกฮีด มาร์ติน, เรย์ธีออน เทคโนโลจีส์ (Raytheon Technologies) และแอโรไวรอนเมนต์ ด้วย
(รายงานจากสื่อญี่ปุ่น ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/Taiwan-tensions/U.S.-defense-industry-plans-first-Taiwan-trip-in-four-years สำหรับรายงานจากสื่อไต้หวัน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4875314)
ปรากฏว่า จู เฟิ่งเหลียน (Zhu Fenglian) โฆษกของสำนักงานกิจการไต้หวัน (Taiwan Affairs Office) แห่งคณะรัฐมนตรีจีน (China’s State Council) ออกมาแถลงแสดงความไม่พอใจเมื่อวันที่ 26 เมษายนว่า “พวกนักค้าอาวุธสหรัฐฯ เป็นพวกที่คุ้นเคยกับการปลุกปั่นยุยงให้เกิดการเผชิญหน้ากันและการสู้รบขัดแย้งกัน และการฉวยโอกาสใช้ประโยชน์เพื่อทำเงินทำทองจากสงคราม โดยที่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็คุ้นเคยกับการคอยปกป้องคนเหล่านี้”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1764208622338120417&wfr=spider&for=pc)
โฆษกหญิงผู้นี้บอกว่า ในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา พรรคเดโมเครติก โปรเกรสสีฟ ปาร์ตี้ (DPP -พรรคของไช่ อิงเหวิน -ผู้แปล) ได้สมคบคิดกับสหรัฐฯ และซื้อหาอาวุธสหรัฐฯ อย่างไร้ความยั้งคิดในราคาสูงลิ่ว จนกระทั่งมียอดรวมที่ 22,000 ล้านดอลลาร์ เธอกล่าวว่า เวลานี้พวกพี่น้องร่วมชาติในไต้หวันได้ถูกพรรค DPP นำไปผูกติดเอาไว้กับรถศึกแห่งการรณรงค์ต่อสู้เพื่อ “เอกราชของไต้หวัน” เสียแล้ว
เธอวิจารณ์ด้วยว่า พรรค DPP ไม่ได้กำลังพิทักษ์ปกป้องไต้หวัน แต่กำลังทำอันตรายและทำลายไต้หวันต่างหาก
ในวันเดียวกันนั้น กองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้ส่งโดรนทางทหารแบบทีบี-001 (TB-001) ออกไปบินรอบๆ เกาะไต้หวัน ขณะที่ไต้หวันบอกว่า “สกาย โบว์” (Sky Bow) ระบบอาวุธต่อต้านขีปนาวุธทิ้งตัวของตนซึ่งประจำอยู่ที่ฐานทัพอากาศซื่อหัง (Chihhang) ได้รับคำสั่งเตรียมพร้อมเต็มพิกัด โดยที่มีเครื่องบินขับไล่ไอพ่นบางลำทะยานขึ้นฟ้าในวันที่ 27 เมษายน
วันพุธ (3 พ.ค.) ที่ผ่านมา มีผู้พบเห็นโดรนแบบบีแซดเค-005 (BZK-005) ของจีนกำลังบินอยู่รอบๆ ไต้หวัน
ก่อนหน้านั้น กระทรวงพาณิชย์ของจีนแถลงว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตนได้เพิ่มชื่อของบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน คอร์ป และเรย์ธีออน มิสไซส์ แอนด์ ดีเฟนส์ เข้าไปในบัญชี “รายชื่อบุคคลและหน่วยงานที่ไว้ใจไม่ได้” (unreliable entities list) ของทางกระทรวง สืบเนื่องจากบริษัทเหล่านี้ขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน ทางกระทรวงได้ออกคำสั่งให้ทั้ง 2 บริษัทจ่ายเงินค่าปรับรวม 99,000 ล้านหยวน (14,400 ล้านดอลลาร์) ทว่าถูกเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม
ทางกระทรวงออกมาแถลงเมื่อเดือนที่แล้วว่า ได้เพิ่มความแข็งแกร่งในการลงโทษของตน ด้วยการสั่งห้ามไม่ให้ 2 บริษัทนี้ทำการค้าใดๆ กับบริษัทของจีน กระทรวงอ้างว่า 2 บริษัทนี้จะต้องประสบความลำบากเนื่องจากไม่สามารถซื้อหาชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ตลอดจนแร่แรร์เอิร์ธจากจีน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sohu.com/a/671190853_121687414)