ไทเปอยู่ระหว่างหารือกับวอชิงตันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการสร้างคลังอาวุธในภูมิภาค เพื่อเปิดทางให้เกาะแห่งนี้เข้าถึงอาวุธที่จำเป็นสำหรับสู้รบกับจีน ในกรณีที่ความขัดแย้งข้ามช่องแคบปะทุขึ้นมา หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ รายงานอ้างคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ไต้หวันในวันจันทร์ (24 เม.ย.)
เฉิน เจี้ยน-เหริน นายกรัฐมนตรีไต้หวัน เปิดเผยในวันจันทร์ (24 เม.ย.) ว่า "ข้อเสนอสำหรับคลังอาวุธฉุกเฉินในภูมิภาคยังคงอยู่ในกระบวนการเจรจา" ทั้งนี้ เฉิน ยืนยันว่าไต้หวันและสหรัฐฯ ได้พูดคุยหารือกันเกี่ยวกับแผนดังกล่าว นับตั้งแต่กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (National Defense Authorization Act หรือ NDAA) ได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสอเมริกาเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว
นายกรัฐมนตรีรายนี้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าว ที่สอบถามว่าจะมีการสร้างคลังกระสุนในไต้หวันหรือที่อื่นๆ หรือไม่ใกล้เกาะแห่งนี้ ตามหลังมีความกังวลมาจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารท้องถิ่นว่าการสร้างคลังแสงขนาดใหญ่บนเกาะ อาจยิ่งโหมกระพือความตึงเครียดข้ามช่องแคบเพิ่มเติม
NDAA ซึ่งลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในวันที่ 22 ธันวาคม ในนั้นรวมถึงการจัดหาความช่วยเหลือด้านการทหารและโครงการความร่วมมือต่างๆ สำหรับเกาะไต้หวัน
นอกเหนือจากข้อเสนอที่ให้ทั้งสองฝ่ายซ้อมรบร่วมทางทหาร ยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงและปรับปรุงแสนยานุภาพด้านความั่นคงของไต้หวันให้มีความทันสมัย กฎหมายฉบับดังกล่าวยังเรียกร้องให้เพิ่มคลังแสงฉุกเฉินในภูมิภาคทุกๆ ปี เพื่อสำรองและสนับสนุนไต้หวัน
"ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจจัดตั้งคลังแสงฉุกเฉินในภูมิภาคเพื่อไต้หวัน ซึ่งประกอบด้วยกระสุนและยุทโธปกรณ์ป้องกันตนเองอื่นๆ ที่สำรองไว้ หรือนับรวมไต้หวันเข้ากับพันธมิตรอื่นที่มีสิทธิใช้งานรายการด้านกลาโหมต่างๆ" บทบัญญัติหนึ่งในกฎหมายระบุ
บรรดานักสังเกตการณ์กล่าวว่า แนวคิดของการสร้างคลังแสงในไต้หวันหรือรวมพวกเขาเข้าร่วมในคลังแสงกระสุนระดับภูมิภาคหนึ่งๆ มีแรงกระตุ้นจากปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งระหว่างนั้นสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก ทั้งส่งอาวุธโดยตรงไปเคียฟ หรือไม่ก็นำอาวุธไปจากคลังแสงของยุโรป
พวกเขากล่าวว่า แนวทางนี้จะช่วยให้ไต้หวันยืนหยัดระหว่างถูกโจมตีจากกองทัพปลดแอกประชาชนจีน หากว่าสามารถเข้าถึงคลังอาวุธของสหรัฐฯ ทั้งที่อยู่บนเกาะหรือใกล้เคียง
อย่างไรก็ตาม เฉิน ระบุว่าแม้มีการหารือในประเด็นนี้ แต่มีความสำคัญมากกว่าสำหรับไต้หวันที่ต้องมีแสนยานุภาพในการป้องกันตนเอง เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
ปักกิ่งมองไต้หวันในฐานะส่วนหนึ่งของดินแดนที่ต้องดึงกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุม และอาจต้องผ่านการใช้กำลังถ้ามีความจำเป็น ทั้งนี้ เหมือนกับประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ สหรัฐฯ ไม่รับรองไต้หวันในฐานะรัฐเอกราช แต่คัดค้านความพยายามใดๆ ที่จะใช้กำลังเข้ายึดเกาะแห่งนี้ ซึ่งเป็นบางอย่างที่ปักกิ่งไม่ปฏิเสธ
กระทรวงกลาโหมไต้หวันไม่มีความตั้งใจเปิดเผยรายละเอียดว่าสหรัฐฯ จะสร้างคลังอาวุธบนเกาะหรือย้ายอาวุธไปคลังแสงของพันธมิตรของอเมริกาที่อยู่ใกล้เคียง อย่างเช่นญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ หรือเกาหลีใต้ เพื่อช่วยไต้หวันกรณีที่ถูกกองทัพปลดแอกประชาชนจีนโจมตี
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกลาโหมของไต้หวัน เน้นย้ำว่าทางกองทัพของพวกเขามีคลังแสงขนาดใหญ่ของตนเอง แต่ปฏิเสธให้รายละเอียดเพิ่มเติม ส่วนหนังสือพิมพ์ยูไนเต็ด เดลี นิวส์ ของไทเป ระบุในวันจันทร์ (24 เม.ย.) ว่าไต้หวันมีคลังกระสุนจำนวนมากทั่วทั้งเกาะ
(ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์)