xs
xsm
sm
md
lg

‘ยูเครน’ ส่ง ‘โดรน’ เข้าโจมตี ‘ทำเนียบเครมลิน’ จริงหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


ภาพนิ่งถ่ายจากคลิปวิดีโอซึ่งเผยแพร่โดยสื่อรัสเซีย Ostorozhno Novosti แสดงให้เห็นวัตถุที่กำลังบินอยู่เกิดการระเบิดขึ้นที่ใกล้ๆ หลังคาโดมของอาคารเครมลิน ซีเนต พาเลซ ภายในทำเนียบวังเครมลิน กรุงมอสโก เมื่อตอนดึกของคืนวันพุธ (3 พ.ค.)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Drones over the Kremlin: Maybe yes, maybe no
By STEPHEN BRYEN
04/05/2023

ยูเครนปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้โดรนโจมตีทำเนียบเครมลิน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายมุ่งสังหารปูติน ขณะที่ เซเลนสกี ที่กำลังไปเยือนฟินแลนด์ ก็ได้เลื่อนเวลาเดินทางกลับบ้านของเขาออกไป

ตามรายงานข่าวของสื่อทางการรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็น ทาสส์ (Tass) อาร์ที (RT) หรือสปุตนิกนิวส์ (Sputnik News) ต่างระบุว่า มีโดรน 2 ลำบุกโจมตีส่วนที่พักอาศัยของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ในทำเนียบวังเครมลิน เขาไม่ได้อยู่ที่บ้านหรอกในคืนวันที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ ดังนั้น การโจมตีครั้งนี้ถ้าหากมีใครสักคนสักฝ่ายลงมือกระทำกันจริงๆ มันก็ไม่อาจบรรลุจุดมุ่งหมาย ซึ่งได้แก่การสังหาร ปูติน


สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในเวลานี้ก็คือ ทำเนียบเครมลินได้ผลิตและเผยแพร่คลิปวิดีโอออกมา 2 คลิป โดยที่คลิปหนึ่งแสดงให้เห็นสิ่งที่ดูเหมือนเป็นโดรนลำหนึ่ง ซึ่งกำลังระเบิดตรงจุดที่เหนือพื้นดินอาจจะราวๆ สัก 50 ฟุต น่าประหลาดที่วิดีโอคลิปนี้ยังแสดงให้เห็นบุคคล 2 คน –มีบางคนบอกว่าพวกเขาเป็นทหาร— กำลังปีนขึ้นไปบนอาคารหลังหนึ่งในบริเวณนั้น ซึ่งเป็นตึกที่เหมือนกับส่วนยอดอาคารจะทำเป็นรูปโดม และถูกระบุว่าคือ อาคารซีเนต พาเลซโดม (Senate Palace Dome) พวกเขากำลังปีนขึ้นไป ขณะโดรนลำดังกล่าวร่วงลงมา

ถ้าคลิปวิดีโอนี้เป็นของแท้ถ่ายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว เราก็ไม่ทราบหรอกว่าบุคคล 2 คนดังกล่าวกำลังทำอะไรอยู่ตรงนั้นในเวลากลางดึกเช่นนี้

พวกเขากำลังถืออาวุธจำพวก MANPADS ที่เป็นเครื่องยิงจรวดต่อสู้อากาศยานแบบประทับบ่ายิง และปีนขึ้นไปบนยอดตึกเพื่อสกัดกั้นโดรนที่กำลังตรงเข้ามาอย่างนั้นหรือ? มันไม่มีหลักฐานทางภาพวิดีโอใดๆ เลยซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังถืออะไรอยู่

เป็นไปได้ไหมว่าพวกเขาทำหน้าที่เป็นผู้ระบุตำแหน่งเป้าหมาย จึงได้รับการบอกกล่าวให้ขึ้นที่สูงเพื่อจะได้มองเห็นท้องฟ้ารอบๆ เครมลินได้อย่างชัดเจน? นี่มีความเป็นไปได้เหมือนกัน ถ้าหากมีสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่าจะเกิดการโจมตีขึ้นมา แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหนก็ตามที พวกเขาต้องถือว่าปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินไปเสียแล้ว และเนื่องจากคลิปวิดีโอนี้สิ้นสุดลงหลังจากการระเบิด เราเลยไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับบุคคลเหล่านี้

มอสโก ณ เวลานี้มีระบบป้องกันภัยอากาศยานและป้องกันภัยขีปนาวุธที่ละเอียดซับซ้อนที่สุดระบบหนึ่งของโลกทีเดียว บางทีอาจจะเป็นคู่แข่งชนิดพอฟัดพอเหวี่ยงกับระบบการป้องกันทางอากาศแบบครอบคลุมหลายๆ ชั้นของอิสราเอล มันจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเลยถ้าทางรัสเซียได้ก๊อบปี้สิ่งที่ฝ่ายอิสราเอลกำลังทำอยู่ แต่อาศัยพวกเครื่องมืออุปกรณ์ที่แตกต่างออกไปอย่างสำคัญ แต่ในเมื่อมีเครือข่ายการป้องกันทางอากาศแบบบูรณการกันเรียบร้อยแล้วเช่นนี้ มันก็สมควรที่จะสามารถสกัดขัดขวางการเข้าโจมตีใดๆ ของโดรนตั้งแต่ก่อนที่มันจะเคลื่อนเข้ามาใกล้สถานที่สำคัญยิ่งอย่างวังเครมลินแล้ว

มีเรื่องเล่าขานกันอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งกำลังแพร่สะพัดไปในชุมชนชาวบล็อกเกอร์ ระบุว่า การโจมตีทำเนียบเครมลินคราวนี้เป็นอะไรแบบที่เรียกกันว่า งานของคนกันเอง (inside job) โดยที่ทีมนักรบรับจ้างของยูเครนทีมหนึ่งสามารถปล่อยโดรนขึ้นปฏิบัติการจากจุดที่อยู่ใกล้ๆ กำแพงวังเครมลินเอามากๆ ในกรณีเช่นนี้ ระบบป้องกันภัยทางอากาศอันประณีตซับซ้อนซึ่งวางเอาไว้รอบๆ กรุงมอสโก ก็เป็นอันว่าจะถูกลอดข้ามไปหมด และการตรวจจับพบการโจมตีจากโดรนตั้งแต่เนิ่นๆ จะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ฝ่ายรัสเซียบอกว่า โดรนเหล่านี้ถูกหยุดยั้งเอาไว้ (ในท้ายที่สุด) ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ นี่บ่งชี้ให้เห็นว่าโดรนพวกนี้ไม่เพียงถูกรบกวนสัญญาณทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่อย่างน้อยที่สุดก็ในกรณีของโดรนลำหนึ่งมันถูกรบกวนจนกระทั่งระเบิดแหลกเป็นจุลไปเลย เป็นอันว่าฝ่ายรัสเซียมีความสามารถที่จะทำให้พวกวัตถุระเบิดซึ่งบรรทุกอยู่ในโดรนเกิดการระเบิดตูมขึ้นมา เรื่องนี้เป็นไปได้หรือ? คำตอบออกมาในทางยืนยัน เนื่องจากฝ่ายรัสเซียไม่ได้มีเพียงอุปกรณ์รบกวนสัญญาณทางอิเล็กทรอนิกส์ธรรมดาๆ เท่านั้น แต่พวกเขามีอุปกรณ์รบกวนสัญญาณที่ทรงพลังอย่างมากๆ บางทีอาจจะแรงพอที่จะจุดชนวนแพกเกจวัตถุระเบิดซึ่งอยู่ในโดรนได้ทีเดียว

รายงานที่ออกมาจากรัสเซียยังบอกอีกว่า โดรนเหล่านี้เมื่อถูกทำลายแล้วได้หล่นลงสู่พื้นในสภาพที่เป็นเศษละเอียดนับพันๆ ชิ้น พูดอีกอย่างหนึ่งคือ บางทีอาจเป็นความบังเอิญก็ได้นะ แต่มันก็เลยทำให้ไม่มีหลักฐานหนักแน่นใดๆ ที่จะพิสูจน์ยืนยันว่ามีการโจมตีเกิดขึ้นมาจริงๆ

รัฐบาลยูเครนนั้นได้ปฏิเสธแล้วว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันใดๆ กับการใช้โดรนโจมตีวังเครมลินด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเล่นงานปูตินคราวนี้

แล้วให้บังเอิญ ช่วงเวลาที่ว่ากันว่าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา เซเลนสกี กำลังอยู่ในฟินแลนด์โดยเขาไปเยือนประเทศนั้นในแบบเป็นแขกของประมุขประเทศ (state visit) เขาได้ตัดสินใจเลื่อนการเดินทางกลับยูเครนของเขาออกไปก่อน (ต่อมา ข่าวระบุว่าเขาเดินทางต่อไปเนเธอร์แลนด์แล้ว -ผู้แปล) ซึ่งต้องถือว่าฉลาดดี หรืออาจจะเรียกว่ารอบคอบดีก็ได้ ใครๆ อาจจะสันนิษฐานได้ว่า เขาคงไม่ต้องการอยู่ใกล้ๆ หรอก เมื่อมีระเบิดหล่นตูมตามลงมาใส่บังเกอร์ใต้ดินของเขา

แต่อีกหนทางหนึ่งในการมองเรื่องที่ เซเลนสกี ตัดสินใจขยายเวลาเยือนฟินแลนด์ของเขาออกไป คือว่า เขาต้องการให้มีเวลานานเพียงพอสำหรับการเฝ้าติดตามดูการปฏิบัติการพิเศษมุ่งเล่นงานปูติน โดยหากมันประสบความสำเร็จ เขาก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้ในฐานะฮีโร ถ้าหากมันล้มเหลว เขาสามารถมองหาอย่างอื่นๆ มาทำ

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ก็แสดงท่าทีในทำนองเดียวกัน โดยกล่าวว่าถ้าหากมีโดรนเข้าโจมตีเครมลินจริงๆ วอชิงตันไม่ได้รับคำเตือนล่วงหน้าจากฝ่ายยูเครนแต่อย่างใด นี่ย่อมเป็นหนทางอันสะดวกสำหรับการหลีกเลี่ยงไม่ต้องแบกความรับผิดชอบ อย่างน้อยที่สุดก็จนกว่าจะปรากฏหลักฐานในทางตรงกันข้ามขึ้นมามัดตัว อย่างไรก็ดี สำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน แล้ว เขาแถลงว่า การกล่าวอ้างของฝ่ายรัสเซียในเรื่องที่ว่ามีการโจมตีนี้ สมควรที่จะพิจารณาด้วย “ความระมัดระวังกันเป็นพิเศษ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.washingtonpost.com/world/2023/05/03/vladimir-putin-attack-drones-kremlin/)

ฝ่ายรัสเซียบอกว่า พวกเขาจะดำเนินการตอบโต้แก้เผ็ดการโจมตีทำเนียบเครมลิน ในเวลาและสถานที่ซึ่งพวกเขาจะเป็นคนเลือกเอง การประกาศเช่นนี้ในความเป็นจริงแล้วเป็นการเพิ่มเติมเครดิตความน่าเชื่อถือแค่น้อยนิดเหลือเกินให้แก่การกล่าวอ้างของรัสเซียที่ว่ามีการโจมตีบังเกิดขึ้นมา ถ้าหากว่าฝ่ายรัสเซียสามารถแกะรอยจนหาเจอทีมงานที่ปล่อยโดรนขึ้นมาโจมตี นั่นแหละจึงจะถือได้ว่าเป็นของจริง –เอาเป็นว่า เรื่องนี้คงจะว่ากันต่อไปอีกยาวนาน

สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และที่ Yorktown Institute ข้อเขียนชิ้นนี้แรกสุดตีพิมพ์ในเพจ Weapons and Strategy Substack ของผู้เขียน

ธงชาติรัสเซียโบกสะบัดอยู่บนหลังคาโดมของอาคารเครมลิน ซีเนต ด้านหลังหอคอยสปัสสกายา ทาวเวอร์ (ทางด้านขวาของภาพ) ในภาพซึ่งถ่ายเมื่อวันพฤหัสบดี (4 พ.ค.) โดยที่หลังคาโดมของอาคารเครมลิน ซีเนต ดูเหมือนมีร่อยรอยที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์โดรนโจมตีวังเครมลิน ในคืนก่อนหน้า
หมายเหตุผู้แปล

เพื่อให้เห็นมุมมองเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคราวนี้เพิ่มมากขึ้น ผู้แปลจึงขอเก็บความข้อเขียนเรื่อง FACTBOX-Kremlin drone incident: What do we know? ของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเวลา มาเสนอเอาไว้ในที่นี้

ข้อเท็จจริงว่าด้วยเหตุการณ์‘โดรนบุกวังเครมลิน’ - ตอนนี้เรารู้อะไรบ้างแล้ว?
โดยสำนักข่าวรอยเตอร์

FACTBOX-Kremlin drone incident: What do we know?
By Reuters

มาถึงเวลานี้ สื่อตะวันตกทราบอะไรบ้างแล้วเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่รัสเซียกล่าวหาว่า เป็นการที่ยูเครนใช้โดรน 2 ลำเข้าโจมตีทำเนียบวังเครมลิน? สำนักข่าวรอยเตอร์รวบรวมรายงานในเรื่องนี้ รวมทั้งคำถามและข้อถกเถียงซึ่งเกิดขึ้นตามมา ดังนี้:


เกิดอะไรขึ้น?

คลิปวิดีโอ 2 คลิปจากจำนวนหลายๆ คลิปซึ่งเผยแพร่กันทางช่องโซเชียลมีเดียของรัสเซีย แสดงให้เห็นวัตถุที่กำลังบิน 2 ลำ เคลื่อนที่ไปในวงโคจรแบบเดียวกัน มุ่งไปยังหนึ่งในจุดสูงที่สุดภายในเขตทำเนียบวังเครมลิน นั่นคือ โดมของอาคาร ซีเนต พาเลซ (Senate Palace Dome) โดยที่นาฬิกาบนหอคอยสปาสสกี (Spassky Tower) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน บอกเวลา 2.27 น. และ 2.43 น. ในช่วงย่างเข้าชั่วโมงแรกๆ ก่อนรุ่งสางวันพุธ (3 พ.ค.) วัตถุที่กำลังบินลำแรกดูเหมือนถูกทำลายไปโดยที่แทบไม่มีอะไรให้เห็นนอกเหนือจากกลุ่มควันชั่วอึดใจ สำหรับลำที่สองดูเหมือนจะทิ้งความเสียหายจากไฟไหม้ให้แก่โดมแห่งนี้ จากการตรวจสอบเรื่องเวลาและสถานที่ของสำนักข่าวรอยเตอร์ บ่งชี้ให้เห็นว่าคลิปวิดีโอเหล่านี้อาจจะเป็นของแท้ถ่ายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ

รัสเซียพูดว่ายังไง?

รัสเซียเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการโจมตีของผู้ก่อการร้าย และเป็นความพยายามที่จะลอบสังหารประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งทำให้รัสเซียระบุว่าตนเองสงวนสิทธิที่จะดำเนินการตอบโต้เอาคืน

พวกนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของฝ่ายตะวันตกปฏิเสธไม่ยอมรับไอเดียที่ว่า การโจมตีนี้มุ่งหมายที่จะสังหารปูติน โดยพิจารณาว่าโดรนเหล่านี้ดูเหมือนจะมุ่งไปที่จุดสูงๆ มองเห็นได้ชัดๆ ของทำเนียบวังเครมลินซึ่งเป็นเสมือนป้อมค่ายขนาดใหญ่โตมโหฬารและมีกำแพงล้อมรอบมากกว่า ไม่ใช่ไปยังส่วนที่พำนักอาศัยใดๆ และเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ปูตินมักทำงานจากสถานที่ต่างๆ ทุกหนแห่ง โดยในคราวนี้สำนักงานของเขาก็ระบุว่า เขาไม่ได้อยู่ในเครมลินตอนเกิดเหตุ

ยูเครนว่ายังไง?

ยูเครนปฏิเสธว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันใดๆ “เราไม่โจมตีใส่ตัวปูติน หรือกรุงมอสโก เราสู้รบบนดินแดนของพวกเราเอง” ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี กล่าวต่อที่ประชุมแถลงข่าวในกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

ยูเครนมีความสามารถที่จะเปิดการโจมตีเช่นนี้ได้หรือไม่

เป็นไปได้ ในหลายๆ โอกาสก่อนหน้านี้ ยูเครนดูเหมือนมีการใช้โดรนโจมตีลึกเข้าไปภายในดินแดนรัสเซีย ตลอดจนดินแดนแหลมไครเมียที่รัสเซียประกาศนำมาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของตนไปแล้ว รวมทั้ง 2 ครั้งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่ฐานทัพอากาศสำหรับเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แห่งหนึ่งของรัสเซีย ทั้งนี้ยูเครนจะไม่มีการกล่าวอ้างความรับผิดชอบอย่างตรงๆ สำหรับการปฏิบัติการเช่นนี้ ทว่าบ่อยครั้งพวกเจ้าหน้าที่ยูเครนจะออกมาเฉลิมฉลองแสดงความยินดีปรีดากับการโจมตีที่เกิดขึ้น

ถ้าหากเป็นฝีมือของยูเครน มันจะหมายความว่ายังไง?

ยูเครนมักสร้างเซอร์ไพรสฺให้มอสโกอยู่บ่อยๆ ในเรื่องความองอาจทางการทหารของพวกเขา ด้วยการวางแผนจัดการโจมตีในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากเส้นแนวหน้า แต่การเล่นงานศูนย์กลางที่เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของรัสเซียเช่นนี้ จะต้องถือเป็นพฤติการณ์ที่อุกอาจหาญกล้าที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมา

“ถ้าเราอนุมานว่ามันเป็นการโจมตีของฝ่ายยูเครนล่ะก็ ลองพิจารณามันว่าเป็นการโจมตีแบบแสดงให้เห็นผลงาน เป็นการสาธิตให้เห็นถึงสมรรถนะ และเป็นการประกาศความตั้งใจแบบว่า “อย่าคิดเชียวว่ามอสโกน่ะปลอดภัย” มาร์ก กาเลอตตี (Mark Galeotti) ผู้ชำนาญการเรื่องรัสเซียและนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง เขียนเช่นนี้ทางทวิตเตอร์

คอมเมนเตเตอร์บางคนก็พูดถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการทำให้รัสเซียต้องอับอาย พร้อมนำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1987 ตอนที่ มัตทิอัส รัสต์ (Mathias Rust) นักบินหนุ่มน้อยชาวเยอรมันตะวันตก ฝ่าผ่านการป้องกันภัยทางอากาศของโซเวียตและนำเครื่องบินลำเล็กๆ ไปจอดที่จัตุรัสแดง (Red Square) กลางกรุงมอสโก

มันจะเป็นการปฏิบัติการแบบ “จัดฉาก” ขึ้นมาเองของฝ่ายรัสเซียได้หรือไม่?

นักวิเคราะห์ฝ่ายตะวันตกบางรายบอกว่า มันเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจจะสร้างเหตุการณ์นี้ขึ้นมาเอง เพื่อที่จะได้ประณามกล่าวโทษเคียฟ และสร้างความชอบธรรมให้แก่การตอบโต้ซึ่งจะเป็นไปอย่างดุเดือดรุนแรงในบางรูปแบบ จุดมุ่งหมายอาจจะเป็น “การทำให้ยูเครนแลดูเหมือนกับเป็นพวกทำตามอำเภอใจอย่างขาดความยั้งคิด ไม่ว่าเพื่อจะได้บั่นทอนความสนับสนุนของตะวันตกให้อ่อนแอลง หรือพยายามยกระดับความสนับสนุนภายในประเทศของคนรัสเซียก็ตามที” นี่เป็นความเห็นของ ฟิลลิปส์ โอไบรเอน (Phillips O'Brien) แห่งมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ (University of St Andrews)

เจมส์ นิกซีย์ (James Nixey) แห่งกลุ่มคลังสมอง ชาแธม เฮาส์ (Chatham House) ในกรุงลอนดอน กล่าวสำทับเสียเลยว่า ถ้าหากมันเป็นการปฏิบัติการแบบจัดฉาก “มันก็เหม็นคลุ้งไปด้วยความรู้สึกสิ้นหวัง ... และมันก็เป็นยุทธศาสตร์ที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งน่าที่จะถูกเปิดโปงความจริงออกมา”

สหรัฐฯ จะทำยังไงต่อไป?

คณะบริหารไบเดน ได้ทุ่มเทเงินทองและอาวุธต่างๆ เข้าไปในยูเครน เพื่อช่วยเหลือยูเครนในการป้องกันการรุกรานของรัสเซีย แต่น่าที่จะรู้สึกหงุดหงิดไม่สบายใจกับผลพวงต่อเนื่องที่ไม่อาจทำนายได้ทั้งหลายซึ่งการโจมตีใส่เมืองหลวงรัสเซียใดๆ ก็ตามทีอาจก่อให้เกิดขึ้นมาได้ ทำเนียบขาวแถลงว่าตนยังไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันสำหรับการกล่าวอ้างของรัสเซียที่ว่านี่เป็นการโจมตีของยูเครน โดยที่รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ พูดออกมาว่า การกล่าวโทษยืนยันของฝ่ายรัสเซีย ควรที่จะนำมาพิจารณากันด้วย “ความระแวงสงสัยให้มากๆ”

จังหวะเวลาที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมีความสำคัญอย่างไรหรือไม่?

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่มีความตึงเครียดอย่างสูง และมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญหนึ่งในสงครามคราวนี้ ขณะที่ยูเครนตระเตรียมเพื่อเปิดการรุกตอบโต้อย่างที่มีการคาดการณ์มายาวนาน

หรือบางทีหากดูที่ช่วงเวลาเฉพาะหน้านี้ มันก็คล้องจองกับช่วงเวลาที่รัสเซียกำลังเตรียมการเฉลิมฉลองเทศกาล “วันแห่งชัยชนะ” (Victory Day) 7 พฤษภาคม ซึ่งหมายถึงชัยชนะที่สหภาพโซเวียตมีเหนือนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่ในวันนั้นจะมีการเดินสวนสนามของทหารครั้งใหญ่ในจัตุรัสแดง ซึ่งตั้งอยู่ตรงริมกำแพงทำเนียบวังเครมลิน

คลิปวิดีโอเหตุการณ์คราวนี้บางคลิปแสดงให้เห็นว่ามีการตั้งแถวที่นั่งสำหรับผู้ชมการสวนสนามขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว ตรงบริเวณริมกำแพงวังเครมลินใกล้ๆ กับอาคารเครมลิม ซีเนต พาเลซ และมาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับงานสวนสนามก็มีความเข้มงวดเพิ่มมากขึ้นเรียบร้อยแล้ว

จากนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปอีก?

คำแถลงจากทำเนียบเครมลินของปูติน ชี้ไปที่การตอบโต้อย่างเป็นจริงเป็นจัง อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย ดมิตริ เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) เรียกร้องว่า มันถึงเวลาแล้วที่จะต้อง “กำจัด เซเลนสกี และแก๊งของเขา ในทางกายภาพ” ส่วนประธานสภาล่างของรัสเซีย วยาเชสลาฟ โวโลดิน (Vyacheslav Volodin) เรียกร้องให้ใช้ “อาวุธที่มีศักยภาพในการหยุดยั้งและทำลายระบอบปกครองของนักก่อการร้ายแห่งเคียฟ”

อย่างไรก็ดี พวกนักเวิเคราะห์ตะวันตกบางคนตั้งคำถามว่ามีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะทำให้สถานการณ์บานปลายขยายตัวไปได้อีกสักแค่ไหน ในเมื่อพิจารณาถึงความตายและความเสียหายที่รัสเซียได้ก่อให้เกิดขึ้นกับยูเครนอยู่แล้วโดยการถล่มโจมตีด้วยขีปนาวุธอย่างขนานใหญ่

แมตธิว ฟอร์ด (Matthew Ford) รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศของสวีเดน (Swedish Defence University) ให้ความเห็นว่า การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนในเวลานี้จะมีประสิทธิภาพลดน้อยลงเสียแล้ว ในเมื่อฤดูกาลเคลื่อนเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ขณะที่การขัดขวางการจัดส่งธัญพืชของยูเครนออกสู่โลกภายนอก จะสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่พวกชาติที่เป็นพันธมิตรของรัสเซียเอง เขายังตั้งคำถามว่ารัสเซียมีศักยภาพที่จะกำจัดเซเลนสกีได้หรือ “ช่วงที่มีความใกล้เคียงที่สุดที่พวกเขาจะทำได้คือฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว แต่สำหรับในเวลานี้พวกเขาสามารถที่จะทำยังไงได้ล่ะ –มันดูเป็นไปไม่ได้อย่างยิ่ง” เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

อนึ่ง สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมในวันที่ 4 พ.ค. (Russia says U.S. was behind Kremlin drone attack, drawing quick denial) ดังนี้

หนึ่งวันหลังจากประณามยูเครนสำหรับสิ่งที่เรียกว่าเป็นการโจมตีแบบผู้ก่อการร้าย คณะบริหารของประธานาธิบดีรัสเซียได้เปลี่ยนโฟกัสมาระบุว่าสหรัฐฯ เป็นผู้บงการ ขณะที่เคียฟเป็นผู้ลงมือ แต่ทั้งทำเนียบขาวและยูเครนต่างออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้

“ความพยายามที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับผิดชอบเรื่องนี้ ทั้งในเคียฟและในวอชิงตัน แน่นอนทีเดียวว่าเป็นเรื่องที่น่าหัวเราะเยาะอย่างสมบูรณ์แบบ เราทราบเป็นอย่างดีว่าการตัดสินใจต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติดังกล่าวนี้ เกี่ยวกับการโจมตีแบบผู้ก่อการร้ายเช่นนี้ ไม่ได้กระทำในเคียฟ แต่กระทำในวอชิงตัน” ดมิตริ เปสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกของปูติน กล่าวในวันที่ 4 พ.ค.

เขากล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่า” สหรัฐฯ นั้นอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ พร้อมพูดเพิ่มเติม –โดยที่ไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ อีกตามเคย— ว่า บ่อยครั้งวอชิงตันคือผู้ที่เลือกสรรทั้งเป้าหมายสำหรับให้ยูเครนเข้าโจมตี และทั้งวิธีการที่ยูเครนจะเข้าโจมตีเป้าหมายเหล่านี้อีกด้วย

“นี่ยังเป็นการบงการข้ามมาจากอีกฝั่งมหาสมุทรหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ... ในวอชิงตัน พวกเขาต้องเข้าใจอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า เรานั้นทราบเรื่องนี้” เปสคอฟ บอก

ทางด้าน จอห์น เคอร์บี้ (John Kirby) โฆษกด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบข่าว บอกกับโทรทัศน์ MSNBC ของสหรัฐฯ ว่า การกล่าวอ้างของฝ่ายรัสเซียนี้ผิดพลาด วอชิงตันไม่ได้ส่งเสริมยูเครนหรือทำให้ยูเครนสามารถโจมตีออกมานอกเขตพรมแดนของพวกเขา

กำลังโหลดความคิดเห็น